Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่

Posted By Plookpedia | 09 มี.ค. 60
4,486 Views

  Favorite

วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่

การใช้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ต้องใช้วัคซีนที่ตรงกับสายพันธุ์ เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์หรือผสมพันธุ์ ต้องปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ที่นำมาผลิตวัคซีนได้ตลอดเวลา สิ่งที่ควรตระหนักคือ วัคซีนไม่มีบทบาทป้องกันการระบาด ในระยะต้น ต้องใช้เวลาในการผลิตวัคซีนสายพันธุ์ เชื้อที่ระบาดจำเพาะประมาณ ๔ เดือน วัคซีนจึงมีบทบาทควบคุมการระบาดในเวลาต่อมา

วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นวัคซีนป้องกันเชื้อที่ระบาดตามฤดูกาล ประกอบด้วยเชื้อ ๓ สายพันธุ์ ที่มีแอนติเจนใกล้เคียงกับเชื้อที่กำลังระบาดล่าสุด คือ อินฟลูเอนซาเอ H3N2 (influenza A H3N2) อินฟลูเอนซาเอ H1N1 (influenza A H1N1) และอินฟลูเอนซาบี (influenza B)

เชื้อตัวใหม่ที่ระบาดทั่วโลกใน พ.ศ. ๒๕๕๒ มีลักษณะแอนติเจนต่างจาก H1N1 ที่เคยพบก่อนหน้านี้ จึงต้องเร่งผลิตเป็นวัคซีน ที่มีเชื้อใหม่สายพันธุ์เดียวเพื่อป้องกันการระบาดใหญ่ อย่างไรก็ดี พบว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ H1N1 ตัวใหม่กำลังแทนที่ H1N1 ตัวเดิม ดังนั้น วัคซีนที่จะผลิตสำหรับป้องกันการระบาดในช่วงกลาง พ.ศ. ๒๕๕๓ ประกอบด้วย H1N1 ตัวใหม่ H3N2 และ B ที่พบตามฤดูกาล

 

การส่องคัดเลือกไข่ไก่ฟักที่สมบูรณ์

 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่แบ่งตามกระบวนการผลิตเป็น ๒ ชนิด คือ

๑) วัคซีนชนิดเชื้อตาย
๒) วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) 

การเตรียมวัคซีนโดยการเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ฟัก และนำเอาเชื้อสายพันธุ์ที่คัดเลือกแล้วว่าเหมาะจะผลิตวัคซีนสำหรับ ๖ เดือนข้างหน้า มาผสมให้เกิดการคละใหม่กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ของห้องปฏิบัติการที่เพิ่มจำนวนได้ดีในไข่ไก่ฟัก เชื้อลูกผสมนี้เรียกว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่คละใหม่

 

 

การฉีดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เพื่อเพิ่มปริมาณ

 

วัคซีนไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย

 วัคซีนประเภทนี้ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเตรียมวัคซีนโดยการนำไวรัสมาผ่านกระบวนการเพื่อทำให้ไวรัสตาย หรือหมดฤทธิ์ก่อน โดยทั่วไป วัคซีนชนิดนี้ประกอบด้วยไวรัสจำนวน ๓ สายพันธุ์ คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่เอจำนวน ๒ สายพันธุ์ และไวรัสไข้หวัดใหญ่บี จำนวน ๑ สายพันธุ์ มีปริมาณแอนติเจนสายพันธุ์ละ ๑๕ ไมโครกรัม รวมเป็น ๔๕ ไมโครกรัม ในหนึ่งขนาดใช้ ส่วนประกอบ ของวัคซีน หรือสายพันธุ์ไวรัสที่ใช้ผลิตจะมีการทบทวนและ/หรือปรับเปลี่ยนเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เหมาะที่สุด สำหรับการป้องกัน ในฤดูกาลนั้นๆ

 

การบ่มเพาะเพิ่มปริมาณเชื้อในตู้อุ่น

 

๑. วัคซีนชนิดไวรัสทั้งตัว เป็นวัคซีนที่ใช้ไวรัสทั้งอนุภาคในการผลิตวัคซีน โดยการฆ่าเชื้อให้หมดฤทธิ์ก่อน วัคซีนที่ผลิตโดยวิธีนี้ มักทำให้เกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ได้มากกว่าชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการไข้วัคซีนชนิดนี้ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว
๒. วัคซีนชนิดไวรัสแยกส่วน ในการผลิตวัคซีนประเภทนี้ เมื่อเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสได้ตามต้องการแล้ว จะนำเชื้อไวรัสนั้น ไปผ่านกระบวนการ ที่ทำให้ส่วนประกอบต่างๆ ของไวรัส แยกตัว จากอนุภาคเดิม แต่ยังคงมีแอนติเจนผิวอนุภาค วัคซีนชนิดนี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ น้อยกว่าชนิดไวรัสทั้งตัว เนื่องจาก สารก่อปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ ถูกกำจัดออกไปในกระบวนการเตรียม

 

การตรวจสอบปริมาณเชื้อจากตัวอย่าง

 

๓. วัคซีนชนิดหน่วยย่อย เป็นวัคซีนที่เชื้อไวรัสผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ โดยแยกแอนติเจนภายในออกไป เหลือเฉพาะฮีแมกกลูตินิน และนิวรามินิเดส หรือที่เรียกกันว่า แอนติเจนผิว ซึ่งทำให้วัคซีนชนิดนี้มีปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ต่ำ ใกล้เคียงกับวัคซีนชนิดไวรัสแยกส่วน

 

วัคซีนไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย

 

ในวัคซีนเชื้อตายทั้ง ๓ ชนิดนั้น วัคซีนชนิดไวรัสแยกส่วน และชนิดหน่วยย่อย เป็นที่นิยมใช้ ทั้งนี้พบว่า วัคซีนชนิดไวรัสแยกส่วน มีประสิทธิภาพสูงกว่าชนิดหน่วยย่อย และมีปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ต่ำ ส่วนวัคซีนไวรัสทั้งตัว ทำให้เกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ได้มาก ปัจจุบัน จึงเลิกใช้แล้ว โดยทั่วไปภายหลังได้รับวัคซีน ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น ภายในเวลาประมาณ ๒ สัปดาห์ และภูมิคุ้มกันอยู่ได้ประมาณ ๑ ปี ส่วนสารปรุงแต่งผลิตภัณฑ์ วัคซีนชนิดเชื้อตายบางชนิด มีส่วนประกอบของสารถนอม ที่มีองค์ประกอบของธาตุปรอทอยู่ ซึ่งอาจมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น ในปัจจุบัน ผู้ผลิตวัคซีนจึงพยายามหลีกเลี่ยง การใช้สารนี้ โดยผลิตวัคซีนแบบใช้ครั้งเดียวไร้สารถนอม ส่วนวัคซีนชนิดบรรจุภัณฑ์ แบบใช้หลายครั้ง ก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้สารถนอม

 

ข้อบ่งใช้วัคซีนชนิดเชื้อตาย 

ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ หญิงมีครรภ์ ๑๔ สัปดาห์ขึ้นไปในฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ระบาด ผู้มีอายุมากกว่า ๕๐ ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคหืด โรคตับ โรคไต โรคทางเมแทบอลิซึม โรคโลหิตจางหรือโรคเลือดชนิดอื่น ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือได้รับเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อและระบบประสาท เช่น โรคลมชัก อัมพาตสมองใหญ่ (cerebral palsy) ที่อาจเกิดปัญหาด้านการหายใจและการกลืน ผู้ป่วยอายุ ๖-๑๘ ปี ที่ได้รับยาแอสไพรินเป็นเวลานาน ผู้สูงอายุ ในสถานดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุ บุคลากรสาธารณสุข (แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ) ที่ปฏิบัติงานตามสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ผู้ที่กำลังจะเดินทางไปในประเทศ ที่มีโรคไข้หวัดใหญ่ระบาด

 

บุคลากรสาธารณสุขควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

 

เนื่องจากวัคซีนชนิดเชื้อตายทำให้เกิดการแพ้ ในผู้ที่แพ้โปรตีนไข่ ดังนั้น ข้อห้ามใช้สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดฉีด ได้แก่ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้รุนแรง และผู้แพ้ส่วนประกอบของไข่
ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์และผลข้างเคียง

วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความปลอดภัยสูง เพราะเชื้อไวรัสหมดฤทธิ์แล้ว หรือเชื้อตายแล้ว ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการเจ็บปวด บวมแดง ในตำแหน่งที่ฉีด และอาจปวดอยู่นานถึง ๒ วัน แต่ก็พบน้อย ปฏิกิริยาเฉพาะที่นี้ถือว่าไม่รุนแรง เพราะไม่เป็นอุปสรรค ต่อการปฏิบัติภารกิจประจำวัน ปฏิกิริยาทั่วกายอาจเกิดขึ้นได้ใน ๒ ลักษณะ คือ

 

 

บุคลากรสาธารณสุขควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

 

๑) เป็นไข้ รู้สึกไม่สบาย ปวดกล้ามเนื้อ โดยมักเกิดกับเด็กที่ไม่เคยได้รับแอนติเจนของไวรัสไข้หวัดใหญ่มาก่อน ปฏิกิริยานี้ มักเกิดหลังจากฉีดวัคซีน ๖-๑๒ ชั่วโมง และอาการจะหายไปได้เองภายใน ๑-๒ วัน แต่วัคซีนชนิดแยกส่วนมักไม่ก่อปฏิกิริยาดังกล่าว

๒) ปฏิกิริยาเฉียบพลัน ซึ่งมักเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นในทันทีทันใด เช่น ลมพิษ ปากบวม อาการจับหืด แต่ปฏิกิริยาแพ้รุนแรง พบได้น้อย มักมีเหตุจากปฏิกิริยาไวเกินต่อสารปนเปื้อน เช่น โปรตีนไข่ในวัคซีน อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันจัดว่า มีความบริสุทธิ์ค่อนข้างสูง คือ มีโปรตีนไข่หลงเหลืออยู่น้อยมาก จึงพบอุบัติการณ์ภูมิแพ้น้อยลงมาก สำหรับโอกาสที่การฉีดวัคซีน ทำให้เกิดกลุ่มอาการกีแยง-บาร์เร (Guillian-Barre syndrome) ซึ่งเป็นโรคแพ้ภูมิตนเองที่เกิดกับระบบประสาทส่วนปลาย มีโอกาสเพียง ๑ ในล้านเท่านั้น

ห้องเก็บวัคซีน มีอุณหภูมิ ๒-๘ องศาเซลเซียส

 

 

การเก็บรักษาวัคซีนและการให้วัคซีน

วัคซีนอยู่ในรูปของเหลวแขวนตะกอน ควรเก็บในที่อุณหภูมิ ๒-๘ องศาเซลเสียส ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง ก่อนใช้ควรเขย่าเบาๆ ให้ส่วนผสมเข้ากัน ขนาดใช้ปกติ คือ ๐.๕ มิลลิลิตร โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น ที่ต้นแขน โดยทั่วไปมักให้วัคซีนก่อนฤดูระบาด ของแต่ละปี เช่น ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เพื่อป้องกันการเกิดโรคในฤดูฝน หรือในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เพื่อป้องกันการเกิดโรคในฤดูหนาว ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอาจฉีดในช่วงเวลาเร็วกว่านั้น วัคซีนนี้ไม่แนะนำให้ใช้กับทารกอายุน้อยกว่า ๖ เดือน สำหรับทารกอายุระหว่าง ๖-๓๕ เดือน ขนาดวัคซีน คือ ๐.๒๕ มิลลิลิตร เด็กอายุ ๓ ปีขึ้นไปใช้ขนาด ๐.๕ มิลลิลิตร เด็กอายุ ๘ ปีหรือน้อยกว่าที่ได้รับวัคซีนครั้งแรกควรฉีด ๒ ครั้ง โดยฉีดเข็มที่ ๒ หลังเข็มแรกแล้ว ๑ เดือน การฉีดเข็มที่ ๒ ควรฉีดก่อนเดือนธันวาคม

วัคซีนไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์  

วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ผลิตจากไวรัส ที่ผ่านกระบวนการ ทำให้อ่อนฤทธิ์ ในการก่อโรค แต่ยังมีความสามารถ ที่จะกระตุ้นร่างกาย ให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ โดยไม่เกิดอาการเจ็บป่วย วิธีใช้โดยการพ่นเข้าจมูก ซึ่งเป็นการเลียนแบบ การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เมื่อพ่นวัคซีนในช่องจมูก ไวรัสในรูปเชื้อเป็น จะเข้าสู่ร่างกาย และทวีจำนวน ร่างกายก็จะตอบสนอง โดยการสร้างสารภูมิคุ้มกัน วัคซีนประเภทนี้จัดว่า ใหม่กว่าชนิดฉีดเดิม นิยมใช้กัน ในประเทศกลุ่มสหภาพโซเวียต และยุโรปตะวันออก มานานหลายปี ต่อมาได้ผลิตขึ้นในสหรัฐอเมริกาด้วย วัคซีนมีส่วนประกอบ ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เหมือนกับวัคซีนชนิดเชื้อตาย คือ มี ๓ สายพันธุ์เช่นเดียวกัน สำหรับข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ คือ ใช้ง่าย ไม่ต้องฉีด การยอมรับดี มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันกว้าง สามารถสร้างสารภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ได้มาก และประสิทธิผลของวัคซีน อาจคงอยู่ได้นานกว่าชนิดฉีด แต่มีข้อเสีย คือ แนะนำให้ใช้ในเฉพาะช่วงอายุผู้ป่วย และเงื่อนไขที่จำกัดกว่าชนิดฉีด อีกทั้งยังอาจมีราคาแพง

 

กระบวนการทำให้เชื้อไวรัสอ่อนฤทธิ์กระทำ โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส ในไข่ไก่ฟัก หรือเซลล์เพาะเลี้ยงในสภาพแวดล้อม ที่ต่างจากสภาวะปกติ อีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ได้เพาะเลี้ยง ไว้ในห้องปฏิบัติการมานานนับทศวรรษ ทำให้เป็นไวรัสที่อ่อนฤทธิ์ และสามารถนำไปผลิตเป็นวัคซีนได้

 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์

 

 

ในการเตรียมวัคซีนสำหรับป้องกันการระบาดตามฤดูกาลนั้น นำไวรัสไข้หวัดใหญ่อ่อนฤทธิ์ ไปเพาะเลี้ยง ร่วมกับเชื้อที่กำลังระบาด แล้วจึงแยกเชื้อไวรัสท่อนพันธุกรรมคละใหม่ ที่ประกอบด้วยเชื้อไวรัสอ่อนฤทธิ์ ที่มีแอนติเจนของไวรัส ที่กำลังระบาดอยู่ด้วย นำไปใช้ในการผลิตวัคซีนต่อไป

วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ควรใช้กับผู้ที่มีอายุ ๒-๔๙ ปี โดยเฉพาะบุคลากรสาธารณสุขที่มีโอกาสติดเชื้อสูง หรือผู้ที่คลุกคลีกับผู้ป่วย เช่น แพทย์ พยาบาล ผู้ดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ยังแนะนำให้ใช้กับผู้อาศัยอยู่ในสถานที่ที่อาจมีความแออัด เช่น หอพักนิสิตนักศึกษา แต่มีข้อห้ามใช้ในบุคคลและผู้ป่วยหลายกลุ่ม ซึ่งควรใช้วัคซีนชนิดฉีดแทนชนิดพ่น เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า ๕๐ ปี ทารกหรือเด็กอายุ ๖ เดือนถึง ๒ ปี (สำหรับทารกอายุน้อยกว่า ๖ เดือน ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนทั้งชนิดพ่นและชนิดฉีด) เด็กอายุน้อยกว่า ๕ ปี ซึ่งมีประวัติโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคหืด โรคตับ/ไต โรคโลหิตจาง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ตลอดจนโรคเลือดชนิดอื่น ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อและระบบประสาท เช่น โรคอัมพาตสมองใหญ่ โรคลมชัก ที่อาจทำให้เกิดปัญหาด้านการหายใจและการกลืน ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยที่ได้รับยาแอสไพรินเป็นเวลานาน รวมทั้งหญิงมีครรภ์

 

การเก็บและการให้วัคซีน 

วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ประกอบด้วย ไวรัสไข้หวัดใหญ่เอจำนวน ๒ สายพันธุ์ และไวรัสไข้หวัดใหญ่บีจำนวน ๑ สายพันธุ์ ซึ่งการเตรียมวัคซีน โดยการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส ในไข่ไก่ฟักปลอดเชื้อพิเศษ ต่อจากนั้น ทำการสกัดแยกไวรัส และผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ แล้วบรรจุวัคซีนในอุปกรณ์พ่น ซึ่งต้องเก็บรักษาในสภาวะเยือกแข็ง

 

วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ต้องเก็บในสภาวะเยือกแข็ง

 

โดยทั่วไป จะให้วัคซีนในช่วงก่อนฤดูหนาวหรือช่วงที่มีการระบาด (เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) โดยภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้ประมาณ ๑ ปี สำหรับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า ๙ ปีที่ได้รับวัคซีนเป็นครั้งแรก ควรให้วัคซีน ๒ ครั้ง โดยแต่ละครั้งควรห่างกัน ๑ เดือน

 

วิธีพ่นวัคซีน 

การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นมีขั้นตอนดังนี้  

๑) แกะจุกยางที่ปลายกระบอกพ่นออก  
๒) จัดให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรง เงยหน้าเล็กน้อย ถือกระบอกฉีดพ่น ให้ปลายหัวพ่น ยื่นเข้าไป ในช่องจมูก 
๓) กดลูกสูบของกระบอกฉีดอย่างรวดเร็ว เพื่อพ่นวัคซีนให้ออกหมด ในรวดเดียว (ปริมาตร ๐.๑ มิลลิลิตร) คือกดลูกสูบจนถึงส่วนกั้น ซึ่งแบ่งขนาดวัคซีนไว้ครึ่งหนึ่ง สำหรับพ่นจมูกแต่ละข้าง
๔) แกะส่วนกั้น ออกจากกระบอกฉีด
๕) พ่นวัคซีนส่วนที่เหลือ ๐.๑ มิลลิลิตร เข้าในช่องจมูกอีกข้าง
ปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์และผลข้างเคียง

วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการแพ้ตั้งแต่น้อยถึงรุนแรง แต่วัคซีนจะไม่ทำให้เกิดโรค นอกจากนี้พบว่า เชื้อไวรัสอ่อนฤทธิ์นี้สามารถแพร่จากบุคคลที่ได้รับวัคซีนไปยังบุคคลอื่นได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ควรคลุกคลี กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นเวลา ๓ สัปดาห์หลังได้รับวัคซีน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส จากวัคซีน ให้แก่บุคคลต่างๆ เหล่านั้น

ในเด็กและในผู้ใหญ่อายุ ๒-๑๗ ปี อาจพบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้วัคซีน โดยมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ในผู้ใหญ่อายุ ๑๘-๔๙ ปี อาจพบอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงพบได้น้อย มักมีสาเหตุจากการแพ้สารปนเปื้อนพวกโปรตีนไข่ในวัคซีน และมักเกิดอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาทีหรือภายใน ๑ ชั่วโมงหลังจากได้รับวัคซีน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หายใจลำบาก เสียงแหบ เกิดผื่นลมพิษ อ่อนเพลีย มึนศีรษะ และหัวใจเต้นเร็ว

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีจำหน่ายทั่วไปส่วนใหญ่ เป็นวัคซีนเชื้อตายที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีทำให้เข้มข้นและบริสุทธิ์ สำหรับวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์มีใช้กันมานานแล้วในประเทศรัสเซียแต่ไม่แพร่หลาย ในสหรัฐอเมริกามีบริษัทผลิตเพียงแห่งเดียว และจดทะเบียนจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นวัคซีนลูกผสมกับเชื้ออ่อนฤทธิ์ในห้องปฏิบัติการ และเป็นสายพันธุ์ที่เพิ่มจำนวนในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าอุณหภูมิร่างกาย วัคซีนนี้ให้โดยการพ่นจมูก ซึ่งแนะนำให้ใช้สำหรับผู้ป่วยมีอายุ ๕-๔๙ ปี เพราะยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนในผู้ป่วยกลุ่มอายุอื่น
การพ่นวัคซีนในแต่ละช่องจมูกของผู้รับ ต้องเงยหน้าขึ้นเล็กน้อย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow