Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคไข้หวัดใหญ่

Posted By Plookpedia | 08 มี.ค. 60
6,639 Views

  Favorite

เด็กๆ เคยได้ยินคุณครูพูดถึงโรคไข้หวัดใหญ่หรือไม่ โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า อินฟลูเอนซา ในยามที่ร่างกายเราอ่อนแอ แล้วหายใจเอาเชื้อโรคนี้เข้าไป หรือสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ก็จะทำให้เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้ โดยจะแสดงอาการปวดศีรษะ ตัวร้อน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร คอแห้ง ไอ เจ็บคอ บางครั้ง มีอาการน้ำมูกไหลสลับกับอาการคัดจมูก ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบอาการท้องเสียร่วมด้วย

 

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มี ๓ ชนิด ได้แก่ ชนิดเอ ชนิดบี และชนิดซี เชื้อไวรัสชนิดเอ ก่อให้เกิดโรคบ่อยที่สุด และมีอาการรุนแรงมากกว่า รวมทั้งสามารถกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงได้ เช่น ไข้หวัดนกที่ระบาดหนักใน พ.ศ. ๒๕๔๗ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ ที่ระบาดรุนแรงจนถึงขั้นผู้ป่วยเสียชีวิตใน พ.ศ. ๒๕๕๒

 

วิธีการที่ดีในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่คือ การระวังรักษาสุขภาพ โดยการบริโภคอาหารครบทุกหมู่ รวมทั้งผัก และผลไม้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ตลอดจนออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ รับประทานอาหาร ขณะยังร้อนๆ ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ และไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หากมีอาการปวดหัว ตัวร้อน และไข้ขึ้นสูงให้รีบไปพบแพทย์ และที่สำคัญ ผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น

 

 

 

 

 

 

คำว่า "เป็นหวัด" หมายความรวมถึงการเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตอนบน ซึ่งจะแสดงอาการปวดศีรษะ มีไข้ มีน้ำมูก หากอาการเหล่านั้น เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มไรโนไวรัส กลุ่มโคโรนาไวรัส หรือกลุ่มเอนเทอโรไวรัส อาการจะไม่รุนแรง ถ้ามีไข้ เรียกว่า เป็นโรคไข้หวัด แต่สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ อาการของโรคจะแสดงรวดเร็วและมีความรุนแรงมากกว่า

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์มีกำลังขยาย ๑๐๐,๐๐๐ เท่า (ซ้าย) และผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มีไข้สูง ปวดศีรษะ (ขวา)

 

โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส อินฟลูเอนซา ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูง ๓๙-๔๐ องศาเซลเซียส ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อและข้อ อ่อนเพลียมาก มีน้ำตาไหล น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรืออุจจาระร่วง ในบางราย

ภาพแสดงเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา เข้าสู่ทางเดินหายใจ

 

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ หรือในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ อาการอาจรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้น โรคไข้หวัดใหญ่จึงจัดว่าเป็นโรคใกล้ตัวที่มีความสำคัญมาก
อาการรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการที่เชื้อไวรัส อินฟลูเอนซา เข้าสู่ร่างกาย ทางการหายใจ เชื้อไวรัสจะอาศัยโปรตีนบนผิวของไวรัส ที่ชื่อว่า ฮีแมกกลูตินิน เป็นตัวจับกับผิวของเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ ของมนุษย์ โดยเฉพาะการจับกับกรดไซอะลิก บริเวณผิวของเซลล์ ก่อนพาตัวเองเข้าสู่ภายในเซลล์ จากนั้น ไวรัสจะปลดปล่อยโปรตีนหลายชนิด รวมทั้งชนิดที่ชื่อว่า เอ็มทู ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนตัว ของไอออนในอนุภาคไวรัส ทำให้ไวรัสปลดปล่อยสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอออกมา เมื่ออาร์เอ็นเอเคลื่อนตัว เข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ จะเกิดการเพิ่มปริมาณอาร์เอ็นเอของเชื้อ เพื่อแพร่ลูกหลานอย่างรวดเร็ว อาร์เอ็นเอที่เพิ่มมากขึ้นนี้ เมื่อเคลื่อนตัว เข้าสู่ส่วนของไซโทพลาซึมของเซลล์ ก็จะเป็นแม่แบบ ในการสร้างโปรตีนชนิดต่างๆ รวมถึงฮีแมกกลูตินิน และนิวรามินิเดส ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบบนผิว ของอนุภาคไวรัส โปรตีนเหล่านี้ ส่วนหนึ่งจะประกอบกัน เป็นอนุภาคไวรัสรุ่นลูก ที่เกิดขึ้นใหม่ ขณะที่ฮีแมกกลูตินิน และนิวรามินิเดสส่วนหนึ่ง เคลื่อนตัวไปยังผิวนอกสุดของเซลล์ เพื่อปลดปล่อยอนุภาคไวรัส และแพร่กระจายเชื้อต่อไป โปรตีนต่างๆ ที่ไวรัสสร้างขึ้น ในระหว่างการติดเชื้อนี้ มีผลยับยั้งหรือทำลายกระบวนการต่างๆ ของเซลล์ ทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อบุทางเดินหายใจ การตอบสนองของร่างกาย โดยการสร้างไซโตไคน์และเคโมไคน์ ซึ่งเป็นสารกระตุ้นการอักเสบ ในปริมาณมาก ก่อให้เกิดอาการของโรค ที่รุนแรง เพิ่มไปจากการอักเสบ ของเยื่อบุทางเดินหายใจ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรง กว่าอาการของโรคไข้หวัดธรรมดา

 

 

ล้างมือบ่อยๆ ป้องกันการติดเชื้อ

 

เนื่องจากการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมต้องอาศัยเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส  ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าว มีโอกาสสังเคราะห์อาร์เอ็นเอผิดพลาดได้สูงถึง ๑ นิวคลีโอไทด์ในทุกๆ ๑๐,๐๐๐ นิวคลีโอไทด์ ดังนั้น ในระหว่างการเพิ่มจำนวน อาจทำให้ไวรัสกลายพันธุ์เป็นเชื้อที่รุนแรงขึ้นได้

 

ใช้แขนเปิด-ปิดประตู ป้องกันการสัมผัสเชื้อ

 

โดยทั่วไปไวรัสอินฟลูเอนซาแบ่งเป็น ๓ ชนิด ได้แก่ ชนิดเอ ชนิดบี และชนิดซี เชื้อไวรัสชนิดเอก่อโรคบ่อยที่สุด และมีอาการรุนแรงมากกว่า ซึ่งการกลายพันธุ์ ของเชื้อไวรัสชนิดเอนี้ ก่อให้เกิดไวรัสอินฟลูเอนซาสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรง เชื้อไวรัสชนิดเอ แบ่งต่อเป็นชนิดย่อย ตามการตอบสนองทางซีรัม ของโปรตีนฮีแมกกลูตินิน เป็น ๑๗ ชนิด คือ H1-H17 และของโปรตีนนิวรามินิเดส เป็น ๙ ชนิด คือ N1-N9 การตรวจปฏิกิริยาตอบสนองทางซีรัม ทั้ง ๒ ซีรัม จึงช่วยบ่งบอกสายพันธุ์ของไวรัสได้ละเอียดขึ้น

อุบัติการณ์ที่ผ่านมา การกลายพันธุ์และการระบาดใหญ่ของสายพันธุ์รุนแรงที่สำคัญ ได้แก่ การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนชนิด H1N1 ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ การระบาดของไข้หวัดใหญ่เอเชีย ชนิด H2N2 ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ และการระบาดของไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงชนิด H3N2 ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ การระบาดของไข้หวัดใหญ่รัสเซียชนิด H1N1 ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ การระบาดของไข้หวัด (ใหญ่) นก ชนิด H5N1 ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ และล่าสุดคือ การระบาดของไข้หวัดใหญ่หมู H1N1 2009 ใน พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๓

 

 

ใช้ผ้าหรือกระดาษเช็ดหน้าปิดปาก เวลาไอหรือจาม ป้องกันการแพร่เชื้อ

 

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เริ่มจากในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ การหายใจเอาเชื้อโรคนี้ เข้าไป หรือสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ ของผู้ป่วย และนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อเมือก ก็จะป่วย เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ การจามของผู้ป่วยแต่ละครั้ง ทำให้เกิดละอองฝอย ขนาดจิ๋ว ไม่น้อยกว่า ๔๐,๐๐๐ ละออง หากละอองเหล่านี้ เข้าสู่ตา จมูก ปากของผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรืออาจเกิดจากการที่มือสัมผัสเชื้อ จากการจับมือ จับบานประตู หรือจับวัตถุสิ่งของสาธารณะ แล้วได้รับเชื้อจากมือ ที่เปื้อนเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ก็ทำให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ การรณรงค์ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย" หรือการปิดปากปิดจมูก จึงช่วยป้องกัน การแพร่กระจาย ของเชื้อ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การจัดบริเวณ เพื่อแยกผู้ป่วย ออกจากบุคคลอื่น ช่วยลดการแพร่ของเชื้อ ลงได้เช่นกัน

 

หากผู้ป่วยมีอาการของโรครุนแรงมากกว่าอาการทั่วไปของโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้สูง ไข้ไม่ลด ไอมาก หนาวสั่น ควรรีบไปพบแพทย์ โดยปกติการดูแลรักษาเน้นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้พาราเซตามอล การให้ผู้ป่วยพักผ่อน และดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ ในรายที่อาการรุนแรง ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลและได้รับยาต้านไวรัส ปัจจุบัน มีการพัฒนายาต้านไวรัสอะแมนทาดีนที่ยับยั้งโปรตีนเอ็มทู และยาโอเซลทามิเวียร์ (ทามิฟลู) ที่ยับยั้งโปรตีนนิวรามินิเดส ซึ่งโปรตีนทั้ง ๒ ชนิดเกี่ยวข้องกับการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส และการย่อยกรดไซอะลิก เพื่อให้อนุภาคไวรัสแพร่กระจาย นอกจากนี้ อาจใช้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อที่ตรงกับสายพันธุ์ของไวรัส

อย่างไรก็ดี วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดคือ การดูแลรักษาสุขภาพ โดยการบริโภคอาหารให้ครบทุกหมู่ รวมทั้งผักและผลไม้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ดื่มน้ำมากๆ หากมีอาการปวดหัวตัวร้อน ไข้ขึ้นสูง ให้รีบไปพบแพทย์ และที่สำคัญหากเป็นหวัด ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Content

1
คำนิยาม
โรคไข้หวัดใหญ่ (influenza) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสทางระบบการหายใจที่รู้จักกันมานานแล้ว ชื่อ โรคมาจากคำว่าลา อินฟลูเอนซา(la influenza) โดยเริ่มเรียกกันที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ซึ่งมาจากรากศัพท์ ในภาษาละตินว่าอินฟลูเอนเชีย(in
4K Views
2
วิทยาไวรัส
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จัดอยู่ในวงศ์ออร์โทมิกโซวิริดี (Orthomyxoviridae) แบ่งออกเป็นชนิดเอ (A) ชนิดบี (B) และชนิดซี (C) โดยพบว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่เอติดเชื้อในสัตว์หลายชนิดและในคน ไวรัสไข้หวัดใหญ่บีและซีพบในคน แต่ไม่พบในสัตว์ ส่วนไวรัสโทโกโทไวรัส (
7K Views
3
กำเนิดของไวรัสไข้หวัดใหญ่
ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงทำให้เชื้อไวรัสสามารถดำรงอยู่ได้ และทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่เป็นครั้งคราว โดยมีเชื้อไวรัสที่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันของตัวผู้ให้อาศัยหรือโฮสต์ (host) ที่
4K Views
4
วิทยาการระบาด
การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ในอดีต เกิดขึ้นค่อนข้างสม่ำเสมอ ในศตวรรษที่ผ่านมา เกิดการระบาดใหญ่ ๓ ครั้ง คือ ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นไข้หวัดใหญ่สเปน H1N1 ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นไข้หวัดใหญ่เอเชีย H2N2 และใน พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง H3N2 ซึ่งแต่ละคร
6K Views
5
ลักษณะทางเวชกรรม
มีระยะฟักตัวสั้น ๑-๒ วัน อาการป่วยมักไม่รุนแรง มีตั้งแต่อาการคล้ายไข้หวัดอ่อนๆ จนถึงอาการไข้หวัดรุนแรง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะโรค มักหายได้เองถ้ามีการพักผ่อนเต็มที่ และมักมีไข้ขึ้นสูงเฉียบพลัน ๓๘-๔๐ องศาเซลเซียส ไข้อาจสูง ได
4K Views
6
การดูแลรักษา
ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ดังนั้น ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจึงไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพียงแต่ให้การดูแลรักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ พักผ่อนให้เพียงพอ อาการก็จะทุเลา ภายในวันที่ ๓ หรือ
4K Views
7
การป้องกันและควบคุมการระบาด
การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลถือเป็นวิธีการที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ข้อควรปฏิบัติสำหรับคนทั่วไป ได้แก่ การปิดปากและจมูกด้วยผ้าหรือกระดาษเช็ดหน้าเมื่อไอหรือจาม ไม่ควรใช้มือปิด เพราะมือจะเป็นตัวแพร่เชื้อโดยการสัมผัส
4K Views
8
วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่
การใช้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ต้องใช้วัคซีนที่ตรงกับสายพันธุ์ เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์หรือผสมพันธุ์ ต้องปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ที่นำมาผลิตวัคซีนได้ตลอดเวลา สิ่งที่ควรตระหนักคือ วัคซีนไม่มีบทบาทป้องกันการระบาด ในระยะต้น
4K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow