Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ตลาด

Posted By Plookpedia | 22 มิ.ย. 60
11,805 Views

  Favorite

ตลาด

      ถ้าเราจะตั้งคำถามลูกหลานที่บ้านหรือเด็กที่โรงเรียนว่า “ไปตลาดกันไหม” หรือ “หนูอยากได้อะไรที่ตลาด” คำตอบที่ได้รับย่อมเป็นไปในแนวเดียวกันว่า “หนูอยากซื้อขนม อยากซื้อของเล่น”     ถ้าถามต่อไปว่า “หนูชอบตลาดแบบไหน” เด็กทั่วไปมักจะตอบคล้าย ๆ กันว่า “หนูชอบตลาดใกล้บ้าน เพราะไม่ต้องเดินไกล” หรือ “หนูชอบตลาดนัดเพราะมีของหลายอย่างทั้งของกินและของเล่น” หรือ “หนูชอบตลาดใหญ่ ๆ เพราะมีทั้งขนม ของเล่น และดินสอสี”  แต่ถ้าเป็นเด็กในเมืองใหญ่ ๆ ที่มีแหล่งการค้าขายหลากหลายอาจตอบว่า “หนูชอบซูเปอร์มาร์เกต เพราะมีของครบทุกอย่าง แล้วยังมีสวนสนุกให้เล่นอีกด้วย” สำหรับวัยรุ่นในเมืองใหญ่ที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีสูงก็มักจะตอบว่า “พวกเราชอบตลาด ที่มีสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์”

 

ตลาด

 

ตลาด

 

      ในความเข้าใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับตลาดไม่ว่าจะเป็นยุคใด สมัยใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ล้วนแต่มีความเข้าใจในแนวเดียวกันว่าตลาดเป็นที่รวมของผู้คนทั้งในชุมชนและต่างชุมชนที่มุ่งมาสถานที่เดียวกันและในเวลาเดียวกันเพื่อแสวงหาอาหารและเครื่องใช้สอยในการดำรงชีวิต เพราะว่า ตลาดก่อกำเนิดจากชุมชนที่มีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ละคนมีสิ่งของคนละอย่างสองอย่าง เมื่อต้องการสิ่งอื่นที่ตนไม่มีก็จะนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกัน อาจเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างอาหารกับเครื่องใช้สอยหรือระหว่างสัตว์พาหนะกับเครื่องใช้สอยครั้นเมื่อชุมชนหรือถิ่นฐานนั้น ๆ เจริญขึ้น จนถึงขั้นมีเงินตราใช้ เช่น เงินพดด้วงก็จะมีการประเมินค่าสิ่งของที่จะแลกกับค่าของเงินตรานั้น ๆ จึงทำให้เกิดคำว่า “ซื้อ - ขาย” กันขึ้นแทนการแลกเปลี่ยนสิ่งของ เราคงเคยได้ยินเพลงที่ชาวบ้านมักจะร้องกันในงานรื่นเริงมีเนื้อร้องที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมและการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันของคนในสังคมไทยว่า 



    “ใครมีมะกรูดมาแลกมะนาว     ใครมีลูกสาวมาแลกลูกเขย…” 

 

 

ตลาด


      ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่าตลาด คือ สถานที่หรือแหล่งรวมผู้คนทั้งหลายให้มาพบปะกันเพื่อซื้อหาอาหารการกินและเครื่องใช้สอยต่าง ๆ ถึงแม้ว่าสถานที่ตั้งและรูปแบบของตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นตลาดไทย ตลาดจีน ตลาดมอญ หรือตลาดฝรั่งก็ตาม แต่ตลาดก็จะยังคงมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนในทุกสังคมตลอดไป

 

 

 

 

สำหรับตลาดของไทยนั้นมีมาคู่บ้านคู่เมืองตั้งแต่เรามีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เราจะมองเห็นความเรียบง่ายและความเป็นอิสระในการตลาดสมัยนั้นได้จากข้อความตอนหนึ่งในหลักศิลาจารึก ดังนี้

 

 “เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหงเมืองสุโขทัยนี้ดี
    ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
    เจ้าเมืองบ่เอาจกอบ ในไพร่ลู่ทาง
    เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย
    ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า
    ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า”

 

และอีกตอนหนึ่งที่ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดว่า 


    “เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยมีตลาดปสาน
    มีพระอจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากลาง
    มีไร่นา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก”

 

คำว่า “ตลาดปสาน” มีรากคำมาจากภาษาเปอร์เซียว่า ปลาซา (Plaza) หมายถึง ตลาดในที่โล่งแจ้ง

 

แผนที่กรุงศรีอยุธยาที่วิศวกรชาวฝรั่งเศสเขียนขึ้นตอนปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
แผนที่กรุงศรีอยุธยาที่วิศวกรชาวฝรั่งเศสเขียนขึ้นตอนปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

 

ตลาด
โบสถ์ซางตาครู้สในชุมชนกุฎีจีนทางฝั่งธนบุรี ในอดีตเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา

 

ตลาดจีน
โบสถ์ซางตาครู้สในชุมชนกุฎีจีนทางฝั่งธนบุรี ในอดีตเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา


      ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีสภาพของตลาดเปลี่ยนไปตามสภาพภูมิศาสตร์ของอยุธยาที่มีแม่น้ำโอบล้อมลักษณะของตลาดจึงมีทั้งตลาดบก ตลาดน้ำ (หรือตลาดเรือ) มีการติดตลาดกันทั้งวัน มีทั้งของสด ของแห้ง และของป่า เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแล้วกรุงธนบุรีได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีแห่งใหม่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของธนบุรีเหมาะที่จะเป็นเมืองหน้าด่านทางน้ำเนื่องจากเรือสินค้าทุกลำจะต้องผ่านน่านน้ำนี้จึงเป็นตลาดการค้าที่มีเงินหมุนเวียนมากมาย เป็นแหล่งที่ตั้งด่านภาษีซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “ขนอนบางกอก” ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ตอนหนึ่งระบุว่า “ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มาจนถึงรัชกาลที่ ๒ เห็นประโยชน์ในการแต่งเรือไปค้าขายต่างเมือง มีเรือหลวง และเรือสำเภาเจ้านาย และพ่อค้า แต่งไปค้าขายตามเมืองต่าง ๆ ของประเทศทางตะวันตก ไปจนถึงเมืองอินเดีย ข้างใต้ไปจนถึงเมืองชวา ข้างตะวันออกไปจนถึงเมืองจีน” 

 

ตลาดสะพานหัน
ตลาดสะพานหัน

 

ตลาดสำเพ็ง
ตลาดสำเพ็ง แหล่งสินค้าหลากหลายชนิดทั้งขายปลีกและขายส่ง

 

      จากสมัยรัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๕ มีพ่อค้าชาวตะวันตกเข้ามาตั้งตลาดแบบตะวันตกขึ้น  ในเมืองไทยเรียกกันว่า “ห้างฝรั่ง” เช่น ห้างฮันเตอร์และเฮย์ ห้างแบดแมนแอนด์โก ส่วนห้างของชาวเอเชียก็มีห้างมัทราสและห้างบอมเบย์ของชาวอินเดีย  สำหรับชาวจีนนั้นมาตั้งหลักแหล่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง เช่น ชุมชนกุฎีจีนทางฝั่งธนบุรี ตลาดท่าเตียน และปากคลองตลาดทางฝั่งกรุงเทพฯ  ในบรรดาชาติตะวันตกที่เข้ามาค้าขายในไทยโปรตุเกสถือเป็นชาติแรกที่เข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาจากการติดต่อค้าขายกันทำให้คนไทยได้รับวัฒนธรรมด้านอาหารการกินสืบทอดมาจากชาวโปรตุเกส  อาหารหลายชนิดเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เช่น ขนมปังปอนด์ ไส้กรอก เหล้าองุ่น น้ำมันมะกอก มันฝรั่ง นอกจากนี้ขนมหวานที่มีคำนำหน้าหรือคำประกอบว่า “ทอง” เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ทองเอก ทองม้วน ฝอยทอง เป็นต้น ตำรับของสตรีชาวโปรตุเกสที่มีชื่อว่า มารี กีมาร์ เด ปินา (Marie Guimar de Pina) หรือที่คนไทยเรียกว่า ท้าวทองกีบม้า ซึ่งได้ดัดแปลงขนมของชาวโปรตุเกสให้มีรสชาติแบบที่คนไทยชอบรับประทานจนกระทั่งกลายเป็นขนมไทยที่ทำขายกันทั่วไปในปัจจุบัน  ตลาดหลายแห่งในสมัยรัตนโกสินทร์มีประวัติที่เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของพ่อค้าชาวต่างชาติ เช่น ตลาดสำเพ็งและตลาดเยาวราชซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของชาวจีนเกิดขึ้นจากการสร้างพระบรมมหาราชวังและได้ย้ายคนจีนที่ตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่ในบริเวณนั้น ให้ไปอยู่ที่สำเพ็งแล้วขยายไปยังถนนเยาวราชในระยะเวลาต่อมา

 

ตลาดวัดดอนหวาย
ตลาดวัดดอนหวาย แหล่งรวมอาหารการกินนานาชนิด

 

จิตรกรรม
จิตรกรรมฝาผนังในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร แสดงถึงการค้าขายและวิถีชีวิตของ ชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ

 

      เท่าที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าตลาดของไทยมีความสำคัญคู่บ้านคู่เมืองในทุกชุมชนจำเป็นต้องมีตลาดและยังได้มีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ จากตลาดสด ตลาดนัด ตลาดบก ตลาดน้ำ แล้วมีวิวัฒนาการไปสู่ตลาดอีกหลากหลาย เช่น ตลาดไม้ดอกไม้ผล ตลาดวัวควาย ตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตลาดเครื่องแต่งบ้าน ตลาดรถยนต์ ตลาดเครื่องสังฆภัณฑ์หรือเครื่องใช้ทางศาสนา ตลาดหนังสือ ตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์  ตลอดจนตลาดสินค้าที่โฆษณาซื้อขายทางโทรทัศน์และตลาดการค้าผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตดังที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

ตลาดในอดีต
ในอดีตชีวิตของคนไทยผูกพันและเกี่ยวข้องกับแม่น้ำลำคลองอย่างแยกไม่ออกทั้งในเรื่องวิถีชีวิตและการค้าขาย 

 

ตลาดในอดีต
บริเวณชุมชนและร้านค้าในบริเวณถนนเยาวราชในอดีต

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
ตลาด 
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow