วิธีการรักษา
โรคเอสแอลอีเป็นโรคเรื้อรังเช่นเดียวกับโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน ซึ่งแม้จะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่ถ้าสามารถควบคุมโรคไม่ให้กำเริบรุนแรง ผู้ป่วยก็จะมีชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป เป้าหมายในการรักษา จึงเป็นการบรรเทาอาการเจ็บป่วยและป้องกันการอักเสบไม่ให้รุนแรง จนถึงขั้นทำลายอวัยวะ ด้วยการลดภาวะภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อของตนเอง
การรักษาจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย อาจใช้แค่ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจต้องใช้ทั้งยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในขนาดสูงร่วมกับยากดภูมิต้านทาน อย่างไรก็ดีการรักษาพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคเอสแอลอีทุกรายไม่ว่าจะมีอาการมากหรือน้อย ได้แก่
๑. การป้องกันปัจจัยที่จะกระตุ้นให้โรคกำเริบ ที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะในช่วง ๑๐.๐๐-๑๖.๐๐ น. ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่จำเป็น ใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว สวมหมวกหรือกางร่มเมื่อออกนอกบ้าน การทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ (SPF) มากกว่า ๑๕ ขึ้นไป ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถป้องกันแสงแดดได้บางส่วน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงแสงไฟดิสโก้ แสงจากเครื่องถ่ายเอกสาร หรือแม้แต่ความร้อนจากหน้าเตาไฟ หรือห้องอบไอน้ำ |
๒. พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงที่โรคกำเริบ ยิ่งต้องการการพักผ่อนมากขึ้นกว่าปกติ นอกจากการนอนหลับ อย่างมีคุณภาพแล้ว ยังต้องทำจิตใจให้เบิกบาน ไม่เครียดกับการงาน หรือการเรียน ถ้าจำเป็นก็ต้องพักงาน หรือพักการเรียนไว้ชั่วคราว จนกว่าโรคจะสงบ ถ้ายิ่งวิตกกังวล โรคก็ยิ่งควบคุมได้ยาก อาจผ่อนคลายความเครียด ด้วยการฟังเพลง ออกกำลังกายเบาๆ หรือนั่งสมาธิ
๓. มีวินัยในการรับประทานยา ไม่ควรลดหรือหยุดยาเอง และไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะผู้ป่วยโรคเอสแอลอี มีโอกาสแพ้ยามากกว่าคนปกติ
|