Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สาเหตุของการเกิดโรคเอสแอลอี

Posted By Plookpedia | 21 มี.ค. 60
3,917 Views

  Favorite

สาเหตุของการเกิดโรคเอสแอลอี

แม้ว่าสาเหตุของโรคยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัด แต่ก็มีหลักฐานทางการแพทย์ที่พอจะกล่าวอ้างว่าเป็นสมมติฐานของการเกิดโรคได้  ดังนี้

๑.  ฮอร์โมนน่าจะมีบทบาทในการทำให้เกิดโรค เพราะโรคเอสแอลอีพบบ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ โดยมีอัตราส่วนเพศหญิง ต่อเพศชาย สูงถึง  ๙ : ๑ ในช่วงอายุ ๒๐-๔๐ ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีฮอร์โมนเพศหญิงสูงที่สุด ขณะที่ในวัยเด็กและวัยผู้สูงอายุ อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายลดลงเหลือเพียง ๔ : ๑ 

๒.  ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีมักมีอาการกำเริบเมื่อถูกแสงแดด ตั้งครรภ์ หรือเกิดการติดเชื้อ นอกจากนี้ ยาและอาหารบางชนิด สามารถกระตุ้นให้บางคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน แสดงอาการของโรคได้ แสดงว่าสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดโรค

๓.  จากการที่พบอุบัติการณ์และอาการแสดงของโรคนี้แตกต่างกันในแต่ละเชื้อชาติ กล่าวคือชาวแอฟริกัน ชาวเอเชีย และชาวลาตินอเมริกา เป็นโรคเอสแอลอีมากกว่าและรุนแรงกว่าเชื้อชาติคอเคเซียน นอกจากนี้ญาติสายตรงของผู้ป่วยโรคเอสแอลอี เป็นโรคนี้มากกว่าคนปกติ ๘ เท่า ทำให้สันนิษฐานว่าโรคนี้มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่เนื่องจาก ลูกที่มีแม่เป็นโรคเอสแอลอี แม้จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น แต่ก็พบอัตราการเกิดโรคเพียงร้อยละ ๕ แม้แต่คู่แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ซึ่งย่อมมีพันธุกรรมเหมือนกันทุกอย่าง ก็ยังพบอัตราการเกิดโรคเอสแอลอีเหมือนกันเพียงร้อยละ ๕๗  ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การถ่ายทอดทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ น่าจะต้องมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย

๔. ระบบภูมิคุ้มกันซึ่งตามปกติทำหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามารุกรานร่างกาย เช่น เชื้อโรค แต่ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอี มีการทำงานผิดไปจากปกติ โดยสร้างโปรตีนที่เรียกว่า สารภูมิต้านทาน หรือแอนติบอดี (antibody) ซึ่งต่อต้านเซลล์เนื้อเยื่อ ของตนเอง ทำให้มีปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เป็นพิษ และไปทำลายเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ความเจ็บป่วย โดยจะมีอาการตั้งแต่ รุนแรงน้อย เช่น ปวดข้อ ข้ออักเสบ มีผื่นแพ้แสงที่ใบหน้าและลำตัว ไปจนถึงอาการรุนแรงมาก เนื่องจากเกิดการอักเสบ ที่อวัยวะสำคัญ เช่น ไตวาย ซีด ติดเชื้อง่าย ชัก จนถึงเสียชีวิตในที่สุด

ส่วนข้อสงสัยว่าทำไมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจึงทำร้ายเซลล์และอวัยวะของตนเอง และเหตุใดอาการและความรุนแรงของโรค ในผู้ป่วยแต่ละคน จึงแตกต่างกันนั้น แม้คำตอบจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็พออนุมานได้ว่า โรคเอสแอลอีเกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น การติดเชื้อ แสงแดด สารเคมีบางชนิดในยาและอาหาร ร่วมกับฮอร์โมนเพศ ไปกระตุ้นระบบภูมิต้านทาน ของผู้ที่มีพันธุกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค ให้มีการทำงานที่ผิดปกติไป คือ แทนที่จะทำลายเฉพาะสิ่งแปลกปลอมนอกร่างกาย แต่กลับสร้างแอนติบอดีต่อต้านเซลล์ของตนเอง ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่ได้รับแอนติบอดีนั้น เป็นผลให้การทำงาน ของอวัยวะนั้น เสียไป ซึ่งผู้ป่วยจะเกิดอาการอย่างไรและรุนแรงเพียงใด ก็ขึ้นกับว่าการอักเสบนั้นเกิดขึ้นที่อวัยวะใด ถ้าเป็นอวัยวะที่สำคัญ ก็ย่อมมีความรุนแรงสูง ซึ่งการอักเสบจะเกิดขึ้นที่อวัยวะใด ก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของแอนติบอดี ที่ระบบภูมิต้านทานของผู้ป่วยสร้างขึ้นมา โดยขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของผู้นั้นอีกทอดหนึ่ง

ดังนั้น โรคเอสแอลอีจึงไม่ใช่โรคติดเชื้อ การสัมผัสไม่ทำให้เกิดโรค และการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว ก็ไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ ต้องมีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประกอบกัน จึงจะกระตุ้นให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติ ของระบบภูมิคุ้มกันได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow