ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนา
การพัฒนาโครงการหนึ่งๆ ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในทางบวกและทางลบ ผลกระทบในทางบวก เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ผลกระทบในทางลบจะก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องตามมาได้มากมาย ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยาก ในการแก้ไข และสิ้นเปลืองงบประมาณเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหาทางป้องกันตั้งแต่ขั้นต้น ตัวอย่างผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากโครงการต่างๆ ได้แก่
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ต้องทำรายงาน ได้แก่ โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำ ที่มีปริมาตรเก็บกักน้ำ ตั้งแต่ ๑๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป หรือมีพื้นที่เก็บกักน้ำตั้งแต่ ๑๕ ตารางกิโลเมตร ขึ้นไป โครงการชลประทานที่มีพื้นที่การชลประทานตั้งแต่ ๘๐,๐๐๐ ไร่ขึ้นไป ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับ โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำดังกล่าว เช่น ผลกระทบต่อสังคมและชุมชน เนื่องจาก อาจต้องมีการอพยพโยกย้ายประชาชน ออกนอกพื้นที่ ประชาชนจึงมักได้รับผลกระทบ ในด้านการดำรงชีวิต ตลอดจนด้านการประกอบอาชีพ |
|
โครงการทางหลวงหรือถนน โครงการทางหลวงหรือถนนที่ต้องจัดทำรายงาน ได้แก่ โครงการทางหลวง หรือถนนทุกขนาดที่ตัดผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ เขตลุ่มน้ำชั้น ๒ พื้นที่เขตป่าชายเลน ที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ชายฝั่งทะเลในระยะ ๕๐ เมตร ห่างจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด พื้นที่ที่อยู่ในหรือใกล้พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือแหล่งมรดกโลก ที่ขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลก ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศในระยะทาง ๒ กิโลเมตร พื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งโบราณสถาน หรือโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์หรืออุทยานประวัติศาสตร์ พื้นที่เหล่านี้ต้องจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ทั้งนี้ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น โครงการทางหลวงหรือถนน ทำให้เกิดการแบ่งแยก (fragmentation) ของระบบนิเวศ โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าซึ่งจะทำให้สัตว์ไม่สามารถดำรงชีวิตหรือออกหากินได้ตามปกติ บางโครงการ อาจทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่า เกิดปัญหาการชะล้างพังทลายของดินในขั้นก่อสร้าง นอกจากนี้ ผลกระทบที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ของโครงการทางหลวง คือ ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะในบริเวณสองข้างทาง ในกรณีทางหลวงอยู่ใกล้ฝั่งทะเล อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งและระบบนิเวศชายฝั่งได้อย่างมาก |
ทางหลวงที่ตัดผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แม้จะนำความเจริญสู่ชนบท แต่ก็เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า |
โครงการอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม
โครงการอุตสาหกรรมที่ต้องจัดทำรายงานมีหลายประเภท ส่วนใหญ่เป็นโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมถลุงแร่หรือหลอมโลหะ อุตสาหกรรมเหล็กหรือเหล็กกล้า อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาล อุตสาหกรรมผลิตสุราแอลกอฮอล์ โดยได้มีการกำหนดขนาดของโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน โครงการอุตสาหกรรมเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหลายประการ เช่น ผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมเหล็กหรือเหล็กกล้า ผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ทั้งนี้ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชั้นที่ ๑ (primary impacts) เช่น ผลกระทบทางด้านคุณภาพอากาศ ที่อาจส่งผลต่อเนื่องต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และอาจกลายเป็นผลกระทบ ในชั้นที่ ๒ (secondary impacts) ได้ด้วย หรือในบางครั้งลักษณะของผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาจเกิดร่วมกันจากหลายโครงการ ที่เรียกว่า ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสะสม (cumulative impacts) นิคมอุตสาหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยนิคมอุตสาหกรรม หรือโครงการที่มีลักษณะเดียวกับนิคมอุตสาหกรรม เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เพราะนอกจากจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินโดยรอบอีกด้วย
โครงการระบบขนส่งทางอากาศ
โครงการก่อสร้างหรือขยายสนามบิน หรือที่ขึ้น-ลงชั่วคราวเพื่อการพาณิชย์ ความยาวตั้งแต่ ๑,๑๐๐ เมตร ขึ้นไป หรือสนามบินน้ำทุกชนิด อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมผลกระทบที่สำคัญของโครงการสนามบิน ได้แก่ ผลกระทบด้านเสียงจากการขึ้น-ลงของเครื่องบิน ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินโดยรอบสนามบิน หรือในกรณีที่จะมีการสร้างสนามบิน ใกล้พื้นที่ที่เป็นแหล่งโบราณสถานหรือโบราณวัตถุ ก็อาจส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน หรือโบราณวัตถุได้
โครงการเหมืองแร่
ในการทำเหมืองตามกฎหมายว่าด้วยแร่ทุกขนาดต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญจากการทำเหมือง เช่น ผลกระทบด้านคุณภาพอากาศและความสั่นสะเทือน ในกรณีที่มีการใช้วัตถุระเบิดในการทำเหมือง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหาย ต่อสุขภาพอนามัย รวมทั้งทรัพย์สินของประชาชนโดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองระหว่างการขนส่งแร่ ผลกระทบด้านคุณภาพน้ำ และการใช้น้ำของประชาชน มักเกิดจากตะกอนของการชะล้างพังทลาย ผลกระทบต่อโบราณสถานหรือโบราณวัตถุ ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการ ในบริเวณที่เป็นแหล่งโบราณสถานหรือโบราณวัตถุ หรือในกรณีพื้นที่ทำเหมือง อยู่ในพื้นที่ที่คงสภาพป่า จะเกิดผลกระทบต่อสภาพป่าดังกล่าว เนื่องจากต้องมีการตัดต้นไม้เพื่อเปิดพื้นที่ทำเหมือง นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบด้านทัศนียภาพ จากการที่สภาพภูมิประเทศได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการเปิดหน้าเหมืองอีกด้วย
การทำเหมืองแร่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โครงการท่าเทียบเรือ
โครงการท่าเทียบเรือพาณิชย์ที่สามารถรองรับเรือขนาดตั้งแต่ ๕๐๐ ตันกรอส หรือความยาวหน้าท่าตั้งแต่ ๑๐๐ เมตร หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวมตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ จากโครงการท่าเทียบเรือ ได้แก่ ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งอันเกิดจากการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ยื่นออกไปในทะเล ทำให้ชายฝั่งทะเลเกิดการกัดเซาะขึ้นในบางพื้นที่ และเกิดการงอกตัวขึ้นในพื้นที่อื่น ในบริเวณที่ถูกกัดเซาะได้รับความเสียหาย มีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำที่เกิดจากการทิ้งน้ำโสโครกจากเรือ ปัญหาผลกระทบด้านคุณภาพอากาศ เช่น การขนถ่ายสินค้า ที่มีการฟุ้งกระจายได้ง่าย อาทิ ถ่านหิน นอกจากนี้ ในกรณีของท่าเทียบเรือขนาดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่บริเวณโครงการ ซึ่งอาจกลายเป็นแหล่งที่พักอาศัยของคนงาน และอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้ที่ดินโดยรอบโครงการอีกด้วย
โครงการบริการชุมชนและที่พักอาศัย
โครงการบริการชุมชนและที่พักอาศัยซึ่งเข้าเกณฑ์ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการโรงแรม หรือสถานที่พักตากอากาศ ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๘๐ ห้องขึ้นไป โครงการที่อยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๘๐ ห้องขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ ๔,๐๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป โครงการอาคารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ฝั่งทะเล ทะเลสาบ หรือชายหาด หรืออาคารที่อยู่ใกล้หรือในอุทยานแห่งชาติ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นบริเวณ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเป็นอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ ๒๓ เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่รวมกันทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งๆ ในอาคารเดียวกัน ตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป และยังครอบคลุมถึงการจัดสรรที่ดิน เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ ที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ ๕๐๐ แปลงขึ้นไป หรือมีเนื้อที่เกินกว่า ๑๐๐ไร่ ตลอดจน โครงการโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนตั้งแต่ ๓๐ เตียงขึ้นไปหรือ ๖๐ เตียงขึ้นไปแล้วแต่พื้นที่ กลุ่มโครงการประเภทนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ผลกระทบด้านน้ำเสีย ขยะติดเชื้อ ผลกระทบด้านการจราจร ผลกระทบต่อการใช้ที่ดินในบริเวณใกล้เคียงโดยเฉพาะกรณีโครงการจัดสรรที่ดิน ผลกระทบด้านทัศนียภาพ ในกรณีที่เป็นการก่อสร้างโรงแรมหรืออาคารที่มีความสูง ซึ่งอาจเกิดความขัดแย้งกับสถานที่โดยรอบได้