ประวัติความเป็นมาในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ในอดีต โครงการพัฒนาด้านต่างๆ ยังมีอยู่น้อย รวมทั้งประชากรยังมีจำนวนไม่มากนัก ประกอบกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ยังมีสภาพค่อนข้างดี การพัฒนาโครงการต่างๆ ในอดีตจึงไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่คำนึงถึงเฉพาะความต้องการ ของสังคม ความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม และความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ ในอดีตการพัฒนา หรือการดำเนินโครงการต่างๆ มักดำเนินการโดยมุ่งที่จุดกำไรสูงสุด หรือต้นทุนต่ำสุด ยังไม่ได้คำนึงถึงจุดที่เหมาะสม หรือจุดที่จะมีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วต่างนำมาใช้ในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก การพัฒนาย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติได้ การพัฒนาที่ฉลาด และรอบคอบจึงควรผนวกการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นโครงการหรือระยะวางแผน ย่อมจะช่วยลดผลกระทบ พร้อมกับส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ประเทศมีอยู่จำกัด อย่างระมัดระวัง และเกิดประโยชน์สูงสุด การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๘ รวมทั้งการออกประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน เรื่องกำหนดประเภทของโครงการหรือกิจการที่ต้องมีรายงานการประเมิน ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยใช้เฉพาะกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ระบบการประเมินยังไม่ชัดเจน จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๖ ซึ่งได้ออกประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำหนดประเภทและขนาดของโครงการจำนวน ๒๒ ประเภท ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่หรือมีลักษณะที่อาจก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
หลังจากที่มีการปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยมีการจัดตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีการโอนกิจการของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ไปสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งควรให้มีการแก้ไข ปรับปรุง และเพิ่มเติมการกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทาง ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีการใช้ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน ๓๔ ประเภท ที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาประกอบการอนุญาต หรืออนุมัติโครงการ ของหน่วยงานผู้อนุญาตหรือคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวจะต้องจัดทำโดยผู้มีสิทธิจัดทำ ซึ่งจดทะเบียนไว้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม