มนุษย์ไม่ได้อยู่ลำพังเพียงคนเดียว ดังนั้น เมื่อเราทำอะไร ก็มักส่งผลกระทบต่อคนอื่นและสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ เช่น ในบ้านของเรา เราเปิดโทรทัศน์ดู เราได้ประโยชน์ คือ ความสนุก หรือสาระความรู้ จากการได้ดูรายการที่ชอบ แต่พี่น้องของเรา ซึ่งอาจทำการบ้านหรือนอนหลับอยู่ กลับรู้สึกว่าเสียงโทรทัศน์ดังรบกวน ทำให้เขาเสียสมาธิในการทำการบ้าน หรือนอนไม่หลับ ถ้าเรารู้ว่า การเปิดโทรทัศน์ของเราสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่พี่หรือน้องของเรา เราก็อาจปิดหรือลดเสียงโทรทัศน์ลงบ้าง ครอบครัวของเราก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้
เมื่อมองในภาพที่ใหญ่ขึ้น อย่างในเมืองหรือในโลกนี้ การเปิดโทรทัศน์ ของเราคงไม่รบกวนใครกว้างไกลไปถึงขนาดนั้น แต่โครงการบางโครงการโดยเฉพาะที่มีขนาดใหญ่ๆ เช่น การสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การสร้างถนน การพัฒนาแหล่งน้ำ แม้จะมีผลดีต่อคนบางกลุ่ม ก็อาจส่งผลเสียต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้
ดังนั้นเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ผู้ที่คิดจะทำโครงการต่างๆ เหล่านั้น จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบในด้านต่างๆ เพื่อให้เป็นโครงการที่มีประโยชน์ โดยไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม การคิดถึงผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และหาทางป้องกันหรือแก้ไขนี้ คือ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อม คือ สิ่งต่างๆ รอบตัวเรา ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าเราจะทำอะไร ก็ย่อมจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม
ในอดีต มนุษย์ยังมีจำนวนน้อย และเทคโนโลยียังมีไม่มากนัก สิ่งที่เราทำ จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เห็นมากนัก เช่น การที่คนตัดต้นไม้มาใช้ หรือทิ้งขยะลงในแม่น้ำ ซึ่งอันที่จริง เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มากนัก เพราะจำนวนต้นไม้ที่สูญเสียไป หรือจำนวนขยะในขณะนั้นยังน้อยอยู่ แต่เมื่อมนุษย์มีจำนวนมากขึ้น มีความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น มนุษย์ใช้สิ่งเหล่านั้น มาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ เพื่อความสะดวกสบาย หรือทำประโยชน์ให้แก่ตน โดยมักคำนึงแต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับ แต่ไม่ได้คิดว่า จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใดบ้าง
ในอดีต ก่อนที่จะเริ่มต้นทำโครงการต่างๆ มักมีการคำนึงถึงความเป็นไปได้ รวมทั้งผลกระทบและความเหมาะสมของโครงการ ในด้านต่างๆ เช่น สังคม เศรษฐศาสตร์ การเงิน วิศวกรรม แต่ยังไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อมา ประเทศที่เจริญแล้ว เริ่มมีความตื่นตัว และสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงได้นำเอาการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้ ในการพิจารณาโครงการใหม่ๆ
ประเทศไทยเริ่มมีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ส่วนการกำหนดประเภท ของโครงการ ที่ต้องมีรายงานการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้น เริ่มประกาศใช้ใน พ.ศ. ๒๕๒๔ และได้มีการแก้ไขปรับปรุง เพิ่มเติมรายละเอียดของการกำหนดประเภทและขนาดของโครงการมาเป็นลำดับ
การดำเนินงานของโครงการต่างๆ ที่ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม โครงการเหมืองแร่ ทางหลวงหรือถนน ท่าเทียบเรือ เขื่อน โครงการชลประทาน อาคารขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก เยื่อกระดาษ น้ำตาล ฯลฯ จะเห็นได้ว่าโครงการเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งสิ้น แต่ถ้าไม่พิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการที่มีประโยชน์เหล่านี้ก็สามารถทำลายสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน ดังนั้น ประโยชน์ของการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เห็นได้ชัด คือ ได้สร้างโครงการที่มีคุณภาพ และมีประโยชน์ในการใช้งาน แต่ไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
การก่อสร้างสนามบิน ต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนเริ่มดำเนินการ |
การวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยชี้ให้ผู้ประกอบการเห็นว่า การดำเนินโครงการ จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ทำให้สามารถจัดการป้องกันแก้ไขได้อย่างเหมาะสม ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ การจัดการเตรียมแก้ปัญหา ก่อนเริ่มดำเนินการนี้ ย่อมดีกว่าปล่อยให้เกิดปัญหาขึ้นก่อน แล้วหาหนทางแก้ไขในภายหลัง เพราะปัญหาอาจใหญ่โตลุกลามเกินกว่าจะแก้ไขได้ นอกจากนี้ การวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ก่อนจะเริ่มโครงการ ยังช่วยให้โครงการดำเนินไป ในทางที่จะไม่ก่อผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นการช่วยชี้แนวทาง ให้ผู้ควบคุมดูแลโครงการเหล่านั้น ติดตามดูผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ในขณะที่โครงการกำลังดำเนินการต่อไป
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาจมีข้อเสียบ้าง คือ เสียเวลา ซึ่งอาจทำให้การพัฒนาล่าช้าไป หรือมีต้นทุนสูงขึ้น และในการประเมินนั้น อาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เพราะการประเมินเป็นการคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือผู้วิเคราะห์อาจมีความลำเอียง ดังนั้น การประเมินให้ได้ผลดี ผู้ประเมินต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ และเป็นกลางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจึงจะเป็นประโยชน์ คือ นอกจากจะมีการพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของเราแล้ว จะยังคงมีสิ่งแวดล้อมที่ดีอยู่คู่กับเราและลูกหลานในอนาคตด้วย