Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สัญญาณบอกเหตุว่า “ควรซิ่ว”

Posted By Plook TCAS | 21 มิ.ย. 60
103,593 Views

  Favorite

หากได้ยินคำว่า “ซิ่ว” น้อง ๆ หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่อยากเจอหรือไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว อารมณ์แบบ “ขอร้องหล่ะ ขอให้มันใช่ ขอให้อย่าเป็นฉันเลย” ซึ่งความคิดเหล่านี้อาจจะเป็นความคิดของน้อง ๆ ม. 6 ที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต และจะเอนเอียงไปในทิศทางไหนก็กังวล เลยกลัวความไม่แน่นอนว่าในอนาคต “ฉันจะซิ่วไหม” แต่หากมองในมุมของ “เด็กที่เคยซิ่ว” หล่ะจะเป็นยังไง ?

 

“เด็กซิ่ว” คืออะไร

การที่เราจะเลือกเรียนคณะใดคณะหนึ่ง เราจำเป็นจะต้องรู้ความต้องการของตนเองว่าในอนาคตของเรา “ว่าเราฝันอยากจะเป็นอะไร ?” แต่ถ้าหากความฝันมันถูกตัดสิทธิ์จากคณะอันดับหนึ่งที่เราอยากเข้า ได้คณะที่ไม่ได้ชอบมาก หลายคนก็คงจะเรียน ๆ กันต่อไป แต่ถ้าเป็น “เด็กซิ่ว” พวกเขากลับคิดว่าไม่เป็นไร “ปีหน้าเราต้องเข้าที่นั้นให้ได้” จึงก่อให้เกิดการซิ่ว ซึ่งหมายถึง การที่เราเรียนปีหนึ่งไปแล้วมันไม่ใช่ หรือว่าเหตุผลอะไรก็ตาม จึงกลับมาสอบใหม่ กลับมาตั้งใจสอบใหม่ เพื่อให้ตัวเองได้เข้าไปเรียนในคณะ/สาขาที่ตัวเองต้องการนั้นเอง

 

สัญญาณบอกเหตุว่า “ควรซิ่ว”

เรียนแล้วมันไม่ใช่ คนไม่ใช่ทำอะไรก็ผิด

หากน้อง ๆ เรียนไปหนึ่งเทอมแล้วรู้สึกว่า “เห้ยแก เรามาทำอะไรที่นี่วะ”  คำถามนี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น “การเรียน” อาจจะเรียนแล้วปวดหัว สมองมาสายศิลป์แต่ดันไปเรียนวิศวะฯ แต่เอ๊ะ! เรียนโน่นก็ไม่เข้าใจ เรียนนี้ก็ทำโจทย์ไม่ได้ ยิ่งตอนสอบมันยิ่งต้องอ่านหนังสือหนัก ร่างกาย สมองและหัวใจเริ่มไม่สู้ เลยทำให้เกิด “ความท้อ” เรียนไปก็เหมือนกำลังฝีนตัวเองอยู่ ล้มเลิกความพยายาม ไม่เอาแล้วคณะนี้ มันไม่ใช่ตัวเอง ฉันว่าหัวฉันไปอีกทางมากกว่า ถ้ามีความรู้สึกแบบนี้ นี้แหละสัญญาณบอกเหตุว่าควรซิ่ว ! ซึ่งมันจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่โอเคที่จะอยู่ที่นี่ เรียนแล้วมันไม่ใช่ที่หนูต้องการอ่ะคะซิส

 

อึดอัดในสังคม “เหมือนฉันอยู่คนเดียวในโลกที่กว้างใหญ่”

“ฉันไม่คบใครหรือไม่มีใครคบ ?” คำถามนี้ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่เจอบ่อย ที่เป็นอย่างนั้น ก็อาจจะเพราะว่า Life Style ของเรา ไม่ตรงกับเพื่อน ๆ หรือสังคมของคณะนั้น ๆ อย่างเช่น นางสาว A จะคบเพื่อนหนึ่งคนแต่หาไม่ได้เลย คนนั้นก็ติดหรูเกิน คนโน่นก็ติดดินเกินไปอีก แบบกลาง ๆ อ่ะมีไหม ? ซึ่งจะทำให้นางสาว A คิดว่า “โอเค ฉันอยู่คนเดียวก็ได้”  และในความเป็นจริงการเรียนในมหาวิทยาลัยแบบไม่มีเพื่อนเป็นสิ่งที่ลำบากมาก ไม่ว่าจะเป็นตอนทำงานกลุ่ม ทำการบ้าน ไหนจะติวหนังสือตอนสอบอีก และหากรู้สึกว่ากิจกรรมของคณะที่อยู่มันไม่สร้างสรรค์ ไม่อยากทำอะไรอีกแล้วในคณะนี้ ถ้าน้อง ๆ มีความคิดแบบนี้ นี่คืออีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าควรซิ่ว เพราะถ้าอยู่ไปแบบไม่มีความสุข จะอยู่ไปทำไม แต่ท้ายที่สุดแล้วน้อง ๆ ต้องดูให้แน่ชัดว่าที่เป็นอย่างนี้ เพราะอะไร ? แล้วเราลองปรับตัวไปแล้วหรือยัง ถ้าปรับตัวแล้วแต่ก็รู้สึกเข้ากับสังคมไม่ได้ ก็ควรซิ่วจริง ๆ

 

ภาพ : Shutterstock


ผิดหวังจากคณะในฝัน

ลงแอดมิชชั่น 4 อันดับ มั่นใจมากว่าต้องได้อันดับหนึ่งมาครอง แต่ดันคาดคะเนผิด ไหงได้อันดับ 2, 3, 4 มาแทนหล่ะ โอ๊ยยย ผิดหวังขนาดนี้ต้องทำไง ? ก็คงต้องเรียนไปก่อน  แต่ปีหน้าฉันไม่พลาดแน่ ๆ ฉันต้องคว้าคณะในฝันมาให้ได้ ไม่ว่าการสอบจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง ลองกันอีกรอบจะเป็นอะไรไป๊ ! นี้ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าควรซิ่ว ถ้าหากน้อง ๆ คิดแบบนี้ พอน้องเรียนไปเรื่อย ๆ ในระหว่างรอสอบใหม่ปีหน้า ก็อาจจะเกิดปัญหาตามข้อที่ 1 และข้อที่ 2 ขึ้นมา แต่ก็มีอีกหลาย ๆ คนที่พอเรียนไป ดันค้นหาตัวเองเจอว่าเราเหมาะกับสิ่งที่เรียนอยู่ ก็จะรู้สึกลังเลว่าควรเรียนต่อไปดีไหม หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็ต้องชั่งความคิดและทบทวนตัวเองให้ดี ๆ ก่อนตัดสินใจว่าควรอยู่ต่อหรือขอบายนะจ๊ะ

 

อนาคตที่สดใส (กว่านี้) รอฉันอยู่

คิดว่าตัวเองหน้าจะไปได้ดีในอีกด้านหนึ่ง มีหนทางว่าในอนาคต “ฉันต้องรวยเพราะอีกอาชีพหนึ่งแน่ ๆ” งั้นจะเป็นอะไรไป เสียเวลาแค่หนึ่งปี ไปเรียนในสิ่งที่สร้างอนาคตให้กับตัวเองไปเลยไม่ดีกว่าหรอวัยรุ่น ? ซึ่งนี้ไม่เชิงเป็นสัญญาณที่ควรซิ่ว แต่เป็นสิ่งที่เรานึกขึ้นมาได้ และเราก็รู้อยู่แก่ใจว่า “เราอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ สู้ไปทุ่มเทอีกด้านหนึ่งดีกว่า” จึงทำให้ตัดสินใจซิ่วได้ง่ายขึ้น หากน้อง ๆ คิดอย่างนี้ เรื่องซิ่วก็คงจะเป็นสิ่งที่คิด หรือเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของเราอยู่แล้ว เพราะสมัยนี้เรื่องอาชีพ ไม่ว่าอาชีพไหน ๆ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ อยู่ที่ว่าความฝันของเรามันไปในทิศทางไหนและเราคิดว่าเราทำในสิ่งไหนได้ดีกว่าเท่านั้นเอง
 

ภาพ : Shutterstock


คำแนะนำหากคิดจะซิ่ว

1. ทบทวนตัวเองดี ๆ ว่า สิ่งที่เราคิดอยู่มันเกิดจากสาเหตุอะไร ? ความท้อจากการเรียน หรือสังคม และเราสามารถปรับมันได้หรือเปล่า หากปรับไม่ได้ ลองถามตัวเองว่าพร้อมที่จะซิ่วหรือยัง ?

2. หากคิดจะซิ่วแล้ว ก็ขอให้น้อง ๆ มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่า “คณะที่เราจะซิ่วไปเรียน เป็นคณะที่ใช่สำหรับเราแล้ว” และตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ GAT/PAT หรือ 9 วิชาสามัญ ให้ได้คะแนนดีกว่าเดิมและมากพอที่จะพาเราเข้าคณะที่ฝันให้ได้

3. ปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ และทำความเข้าใจร่วมกัน ถึงจุดประสงค์ที่จะซิ่วของน้อง ๆ หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจเราแล้ว เราจะได้อีกหนึ่งกำลังใจที่สำคัญที่สุดมาเป็นแรงพลักดันให้เราทำสำเร็จนั้นเอง

4. ควรศึกษาเรื่องการรับสมัครให้ดี อย่างเช่นการรับตรง ในแต่ละมหาวิทยาลัยมีข้อกำหนดที่ต่างกัน หากในระเบียบการระบุว่า “รับผู้สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 ” น้อง ๆ ก็สามารถสมัครเข้าสอบได้ และระบบใหม่ที่เรียกว่า TCAS เปิดรับทั้งหมด 5 รอบ เด็กซิ่วสามารถสมัครได้ทุกรอบจ้า เงื่อนไขและคุณสมบัติเป็นไปตามโครงการนั้น ๆ กำหนด

 

จากใจรุ่นพี่ที่เคยซิ่ว

“พี่ก็อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังคิดว่าจะซิ่ว หรือลังเลว่าจะซิ่วดีไหม อยากให้น้องลองถามตนเองดูว่าน้องหาเป้าหมายตัวเองเจอหรือยัง ถ้าน้องเจอแล้ว แล้วที่เรียนอยู่มันไม่ใช่สำหรับเรา การซิ่วก็ไม่ได้น่ากลัวมากไปกว่าการวิ่งตามเป้าหมายของตัวเราเอง แต่ถ้าเรายังไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไร อยากเป็นอะไร ก็อยากให้ลองทบทวนตนเองดี ๆ ก่อนตัดสินใจว่าจะซิ่วดีไหม เรายอมเสียเวลาปีเดียว ดีกว่าเราเสียใจไปตลอดชีวิตที่ไม่ได้ทำตามความฝันตนเอง” พี่บอม คุณัชญ์ เลิศรุ่งเรืองกุล 

 

“อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังคิดจะซิ่วหรือลังเลที่จะซิ่วอยู่นะครับ พี่อยากให้น้อง ๆ ถามตัวเองดูก่อนว่าเราชอบอะไร และเราอยากเป็นอะไร อย่าไปเสียดายเวลาที่เสียไป เพราะพี่คิดว่าทุกเวลาที่เสียไปมันคือประสบการณ์ ไม่มีอะไรเสียเปล่า และถ้าให้แลกเสียเวลา 1 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น กับสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ ไปตลอดชีวิต พี่ว่ามันคุ้มค่านะ สุดท้ายคืออย่าไปกลัวคำว่า เด็กซิ่ว หรือซิ่วเพราะเรียนไม่ไหวละสิ พี่อยากให้น้องจำไว้ว่าไม่มีใครรู้จักตัวเราดี เท่ากับตัวเราหรอกครับ ทำมันให้ดีกับทางที่น้องเลือกแล้วก็พอ เพราะสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ทุกอย่างจะขึ้นอยู่ที่การกระทำของน้องครับ ไม่ใช่คำพูดของคนอื่น และคนที่ซิ่วไม่ใช่เพราะเรียนไม่ไหวเสมอไป แต่เพียงเพราะเค้าต้องการที่จะทำตามความฝันของเค้าเท่านั้นเองครับ” พี่เต๋า กิตติศักดิ์ สุวรรณกาน

 

          เพราะการเรียนมหาวิทยาลัยเป็นจุดเริ่มต้นของหนทางสู่อาชีพในฝันของน้อง ๆ ทุกคน หากเราตัดสินใจแล้วว่า “มันคือสิ่งที่ใช่” เราก็จะต้องมุ่งมั่นเพื่อทำให้ความฝันของเราเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด สุดท้ายนี้พี่ขอให้น้อง ๆ ตัดสินใจอย่างรอบคอบและโชคดีกับคณะที่น้อง ๆ เลือก

 

เรื่อง : ศิรศักดิ์ ชัยสิทธิ์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow