Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กำมะถัน มัจจุราชในเหมืองแร่

Posted By Plook Creator | 23 มิ.ย. 60
20,117 Views

  Favorite

งานที่น่ากลัวที่สุด อันตรายที่สุดงานหนึ่งของโลก ไม่ใช่งานที่อยู่กับความเร็ว งานที่อยู่กับเครื่องจักร หรืองานที่อยู่กับคนจำนวนมาก ไม่ใช่งานที่ต้องรับมือกับความเครียด ไม่ใช่งานที่ต้องรับมือกับตารางเวลา แต่เป็นงานที่ต้องทำกับโลก โลกในที่นี้คือพื้นดิน มันคืองานเหมืองแร่ งานที่ใช้พลังงานจำนวนมาก งานที่ต้องใช้เวลามากในแต่ละวัน แต่กลับได้ค่าจ้างต่ำ และมีความเสี่ยงสูง มันคือเหมืองแร่ที่เก่าแก่มาแต่อดีตกาล แร่ที่ไม่ได้มีค่ามากเหมือนทอง หรือเงิน หรือทองคำขาว แต่เป็นแร่ที่จำเป็นต้องใช้ในทุกภาคอุตสาหกรรม และยังเป็นแร่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของคนเรา มันคือเหมืองแร่กำมะถัน

ภาพ : Shutterstock

 

กำมะถัน (Sulfur หรือ Sulphur) เป็นแร่อันดับต้นๆ ที่ได้รับการค้นพบและบันทึกลงตารางธาตุ เป็นธาตุในกลุ่มอโลหะซึ่งมีสถานะเป็นของแข็งในอุณหภูมิห้อง โดยปกติแล้วกำมะถันบริสุทธิ์นั้นไม่มีกลิ่น หรือรส แต่บางคนอาจจะจำมันได้ในรูปของ ก๊าซไข่เน่า ทุกวันนี้มีการใช้กำมะถันและสารประกอบของมันในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่รักษาโรคไปจนถึงการทำลาย มันเป็นส่วนหนึ่งของปุ๋ย แบตเตอรี่ และสารทำความสะอาด ทั้งยังเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของเราอีกด้วย พอมาถึงตรงนี้อาจจะงงๆ ว่า จริงๆ แล้วกำมะถันมันดีหรือไม่ดีต่อร่างกายกันแน่

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ กำมะถันมีสองรูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่
1) แบบอินทรีย์ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และมักอยู่ในอาหารที่เรากินได้ เช่น ทุเรียน เนื้อไม่ติดมัน ไข่ สับปะรด อะโวคาโด สาหร่ายทะเล และอื่นๆ อีกมาก อันที่จริงมันมีอยู่ในอาหารจำนวนมากที่เรากินอยู่ในแต่ละวัน ซึ่งคนเราก็มักจะได้รับสารอาหารเพียงพออยู่แล้วหากเรากินครบทุกหมู่

2) แบบอนินทรีย์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ก๊าซไข่เน่า ก๊าซต่างๆ ที่มักพบตามปล่องภูเขาไฟที่ยังไม่สงบ อย่างภูเขาไฟคาวาอีเจียน (Kawah Ijen) ที่ประเทศอินโดนีเซีย สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม แต่ในช่วงหลังๆ มานี้ก็ปล่อยก๊าซพิษซึ่งมีส่วนประกอบของกำมะถันออกมาทำให้นักท่องเที่ยวต้องใส่หน้ากากกันก๊าซพิษตลอดเวลา กรดซัลฟูริก (Sulfuric Acid) กรดที่มีอนุภาคการทำลายร้ายแรงนี้ก็มีกำมะถันเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น

 

กำมะถันถูกเรียกว่าเป็นทองคำปีศาจ อาจจะเป็นเพราะความต้องการของกำมะถันในหลายภาคอุตสาหกรรม แต่การทำเหมืองแร่เป็นงานที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ในขณะที่ค่าแรงมักจะต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำทั่วไป เหมืองกำมะถันที่ภูเขาไฟคาวาอีเจียนซึ่งมีความสูง 2,600 เมตร นับว่าเป็นแหล่งอันตรายที่สุดแหล่งหนึ่งแต่กลับทำเงินให้กับคนงานไม่คุ้มเสียมากที่สุด เนื่องจากภูเขาไฟแห่งนี้ยังเป็นภูเขาไฟที่คุกรุ่นและนั่นทำให้มันมีแร่ถูกปล่อยออกมามากตลอดเวลา ทั้งในรูปแบบของก๊าซและของเหลว ที่แห่งนี้มีทะเลสาบกรดกำมะถันกว้างกว่า 200 เมตร และกำมะถันที่แข็งตัวเป็นก้อนแล้วกระจายอยู่โดยรอบ คนงานเหมืองต้องทำการเดินเท้าไปยังแหล่งแร่และหาบแร่เหล่านั้นกลับไปยังต้นทาง การใช้แรงงานในที่แห่งนี้ดำเนินมานานกว่า 30 ปีโดยไม่มีการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม อย่าว่าแต่เครื่องจักรคอยมาช่วยแบ่งเบาแรงงาน แค่อุปกรณ์ป้องกันอย่างหน้ากากกันก๊าซพิษ พวกเขายังไม่ได้ใช้เลย ยังไม่นับร่างกายที่ต้องทรุดโทรมลงหรือป่วยเป็นโรคจากการที่ต้องอาศัยอยู่ใกล้แหล่งแร่แห่งนี้ ซึ่งแม้ในวันที่ไม่ได้ทำงาน พวกเขาก็ยังต้องเผชิญกับมลพิษจากเถ้าถ่าน ฝุ่งละออง และก๊าซที่ปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง แลกกับรายได้เพียงไม่กี่ร้อยบาทต่อวันเท่านั้น

 

แม้ว่าภูเขาไฟคาวาอีเจียนจะเป็นอีกหนึ่งจุดหมายการท่องเที่ยวที่มีแต่คนหมายปอง เปลวไฟสีน้ำเงินที่ประทุขึ้นมา ฉากหลังเป็นควันขาวฟุ้งตัดกับชุดและหน้ากากกันก๊าซพิษที่แปลกตาสำหรับนักท่องเที่ยว หินสีดำตัดกับกำมะถันเหลวสีแดงและก้อนแข็งสีเหลืองสด เป็นภาพที่น่าหลงใหล ภาพนี้ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายให้ไปเยี่ยมเยียน ตัดกลับมาที่ชาวบ้านใส่เสื้อผ้าเก่าๆ แบกก้อนกำมะถันสีเหลืองขึ้นลงภูเขาไฟเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรในแต่ละวัน เพื่อไปยังสถานีชั่งซึ่งปกติแล้วแบกน้ำหนักกันมากถึง 50 กิโลกรัมในแต่ละเที่ยว ทำงานวันละ 2-3 เที่ยวตามแรงที่พอไหว เพื่อให้ได้ค่าจ้างเพียงหยิบมือ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของคนงานเหมือง ทำให้กำมะถันเป็นเหมือนทองคำปีศาจที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อและสุขภาพของคนงาน ความทุ่มเททั้งหมดนี้เพียงเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในโลกนี้ได้ก้าวหน้าต่อไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow