คนไทย ส่วนมากมีอาชีพทำไร่ทำนา พืชที่เพาะปลูกเป็นอาหารหลักคือ ข้าว เมื่อปลูกได้มาก ก็จำหน่ายให้ได้เงิน มาซื้ออาหารอย่างอื่น เสื้อผ้า ยารักษาโรค และสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นแก่ชีวิต การทำไร่ทำนาต้องอาศัยน้ำ เครื่องมือทำนา และวัวควายที่ใช้ไถนา ถ้าฝนตกมากเกินไป น้ำท่วมนา ต้นข้าวเสียหาย ก็จะได้ข้าวน้อยหรือไม่ได้เลย ตรงกันข้ามถ้าฝนแล้ง น้ำไม่พอเลี้ยงต้นข้าว ต้นข้าวก็จะโตช้าหรือตาย ได้ข้าวน้อยหรือไม่ได้เลย ในทำนองเดียวกัน หากไม่มีวัวควายไถนา หรือวัวควายผอมโซ เพราะฝนแล้ง ไม่มีหญ้ากิน ชาวนาก็จะไม่อาจทำนาได้ หรือทำได้เพียงเล็กน้อย ชาวนาที่เจ็บป่วยบ่อยๆ ขาดอาหาร ก็ไม่อาจทำงานหนัก เช่น ไถนา เกี่ยวข้าวได้ดี และถ้าขาดความรู้ก็ทำไร่ทำนาไม่ได้ผลดีเช่นกัน
ภัยธรรมชาติ คือ น้ำท่วม และฝนแล้งมากๆ ทำให้ต้นข้าวเสียหายนั้น เป็นเหตุให้ชาวนาไม่มีข้าวกินและจำหน่าย ทำให้ชาวนายากจนลง และต้องกู้เงินจากผู้มีเงินมาเลี้ยงชีพ และลงทุน ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นเหตุให้ต้องกู้ยืมเงิน หนี้สินพอกพูน ในที่สุดต้องสูญเสียที่ดินให้แก่เจ้าของเงิน หมดที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ
รัฐบาลแต่ละยุค แต่ละสมัย ได้พยายามช่วยเหลือชาวนาด้วยวิธีต่างๆ การจัดตั้งแหล่งให้กู้ยืมเงิน และปัจจัยการผลิตเป็นวิธีหนึ่ง แหล่งที่รวบรวมเงิน และปัจจัยการผลิต เพื่อให้กู้ยืมเช่นนี้ เรียกว่า ธนาคาร ธนาคารที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา และเลี้ยงสัตว์ ได้แก่
๑) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้ที่เก็บดอกเบี้ยต่ำ
๒) ธนาคารข้าว เพื่อเป็นแหล่งกลางรวบรวมข้าวไว้ขายแก่ชาวนาที่ขาดแคลนข้าว ขายให้ราคาถูกพอสมควรหรือให้ยืม
๓) ธนาคารโค-กระบือ เพื่อให้ราษฎร ที่ขาดแคลนโค-กระบือ ยืมไปใช้งาน หรือช่วยในการขยายพันธุ์
การทำงานทุกอย่างให้ได้ดีจนเป็นอาชีพ มีรายได้เลี้ยงชีวิตของตนและครอบครัวได้นั้น ต้องศึกษาเล่าเรียนให้มีความรู้ ฝึกฝนให้สามารถทำงานนั้นๆ ได้ผลดี ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่ทำนา ทำงานช่าง หรือเป็นครู เป็นหมอ ก่อนจะทำงานต้องหาความรู้ เกี่ยวกับการทำงานนั้น เมื่อมีงานทำ มีอาชีพแล้ว ก็ต้องหมั่นตรวจดูผลงานว่า มีคุณภาพดีอยู่หรือไม่ ต้องพยายามปรับปรุงด้วยการฝึก หรืออ่านหนังสือหาความรู้เพิ่มเติม
ในการทำงาน นอกจากจะต้องใช้ความรู้ ความคิด ความชำนาญ ปรับปรุงตนเอง และปรับปรุงผลงานของตนให้ก้าวหน้า มีคุณภาพดีอยู่เสมอแล้ว งานบางชนิดต้องอาศัยอุปกรณ์เข้าช่วยทำงานให้เร็วขึ้น ได้ผลสม่ำเสมอ มีจำนวนมากขึ้น ใช้แรงงานของตนน้อยลง อุปกรณ์มีหลายอย่างหลายประเภท บางอย่างทำขึ้นใช้เองได้ หรืออาจซื้อหาอุปกรณ์ง่ายๆ ที่มีผู้ทำขึ้นจำหน่าย บางอย่างเป็นเครื่องจักรกลสลับซับซ้อน ผู้ใช้ต้องฝึกการใช้ และการระวังรักษา ต้องรู้จักเลือกอุปกรณ์ ที่เหมาะสมกับงาน ทำงานได้ผลดี และไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
การจัดตั้งธนาคาร เพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ยากจนปลดเปลื้องหนี้สิน และให้มีทุนสำหรับประกอบอาชีพต่อไปได้นั้น ได้เริ่มขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ปรากฏว่า มีปัญหาขัดข้องหลายประการ ทั้งในด้านเงินทุน และวิธีการ ต่อมาได้รับความสำเร็จในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ขึ้น ตามพระราชบัญญัติ เพื่อการสหกรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ และเริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ แต่ก็ยังมีปัญหาหลายประการ เช่น ธนาคารจะให้เงินกู้เฉพาะสมาคมสหกรณ์เท่านั้น ธนาคารไม่ได้ทำหน้าที่แนะนำการใช้เงินที่ถูกต้องแก่ผู้กู้ องค์การต่างประเทศยังไม่ได้รับรององค์การของธนาคารเพื่อการสหกรณ์ จึงไม่อาจกู้เงินจากต่างประเทศมาใช้ได้ เป็นเหตุให้กำลังเงินไม่เพียงพอ
ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงรูปแบบ และวิธีการใหม่ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลได้ตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ทำหน้าที่อำนวยสินเชื่อ ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพทำการเกษตรอย่างกว้างขวาง ธนาคารนี้มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง ให้เงินกู้ แก่เกษตรกรรายคน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไป
"สหกรณ์การเกษตร" หมายถึง สหกรณ์ที่ประกอบด้วยสมาชิกที่ประกอบอาชีพเกษตรทั้งหมด ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ว่าด้วยสหกรณ์ "กลุ่มเกษตรกร" หมายถึง ผู้ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา และเลี้ยงสัตว์ ที่รวมกลุ่มกันตามกฎหมาย ให้เป็นนิติบุคคล นอกจากจะสนับสนุนทางด้านเงินทุน เพื่อทำอาชีพด้านเกษตรกรรมแล้ว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกษตร ยังได้ให้คำแนะนำปรึกษาในการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับการเกษตร เช่น การจำหน่ายผลิตผลอีกด้วย
ธนาคารข้าว ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อสนองพระราชประสงค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งต้องประสบภัยธรรมชาติ จนขาดแคลนข้าว และต้องซื้อข้าวในราคาแพงมากจากพ่อค้า คณะรัฐมนตรีได้มอบให้ กรมการพัฒนาชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบ จัดตั้งธนาคารข้าวขึ้น ในท้องที่ที่ขาดแคลนข้าว ให้เป็นที่เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางกลาง จัดการให้หรือให้ยืม ให้กู้ หรือให้ข้าวโดยแลกแรงงาน ใน พ.ศ. ๒๕๓๐ มีธนาคารข้าวอยู่ ๔,๓๒๐ แห่ง ในเขตพื้นที่ซึ่งมีการขาดแคลนข้าว ๕๗ จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตยากจน ๓๘ จังหวัด
ธนาคารโค-กระบือ ตั้งขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาชาวนาไม่มีวัวควายสำหรับไถนา เพราะปศุสัตว์เหล่านี้ ราคาแพงเกิน ที่จะซื้อไว้เป็นของตน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชประสงค์ให้จัดตั้งธนาคารโคและกระบือขึ้น ให้เป็นศูนย์กลางรวมปศุสัตว์ ไว้ให้ชาวนาที่ยากจน ยืมแม่โค-กระบือไป เพื่อใช้งาน หรือผลิตลูกโค-กระบือ ลูกโค-กระบือ ที่เกิดใหม่จะเป็นของธนาคารครึ่งหนึ่ง ธนาคารจะมอบลูกโค-กระบือที่เกิดใหม่นี้ให้แก่ หมู่บ้านนำไปเลี้ยง และให้ผู้ต้องการยืม ยืมไปใช้การต่อไป
การช่วยเหลือชาวนาชาวไร่อีกรูปแบบหนึ่งคือ รัฐบาลขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ ให้ช่วยอำนวยสินเชื่อแก่เกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการ กำหนดเป้าหมายสินเชื่อการเกษตรให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติแต่ละปี ยอมให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรกู้โดยตรง หรือให้นำเงินไปฝากไว้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำไปให้เกษตรกรกู้ต่อ
การฝึกอาชีพมีหลายชนิด เช่น ฝึกอาชีพเพื่อเป็นช่าง ฝึกอาชีพที่มิใช่ช่าง และฝึกอาชีพ เพื่อเตรียมตัวเข้าทำงาน ผู้ฝึกจะต้องรู้ว่า ตนเองสนใจอะไร ก็เลือกฝึกอย่างนั้น ถ้าได้เลือกอาชีพที่ตนชอบ ก็จะทำงานได้อย่างดี ผลงานออกมาดี และมีความเจริญก้าวหน้าขึ้น
ก่อนการทำงานอาชีพ จะต้องศึกษาฝึกอบรม หรือฝึกงานก่อน เพื่อให้รู้กระบวนการ และขั้นตอนของการทำงาน มีทัศนคติที่ถูกต้องต่องาน มีความเชื่อมั่นในงานและผลงานของตน แม้แต่ในขณะที่เรียนอยู่ งานแต่ละอาชีพก็ต้องผ่านการฝึกก่อน เช่น จะมีอาชีพครูผู้เรียนก็ต้องฝึกสอน จะเป็นแพทย์ ก็ต้องฝึกงานแพทย์ก่อน ถ้าจะเป็นช่าง ก็ต้องฝึกงานช่างอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ความรู้พื้นฐาน รู้ลักษณะของงาน จึงจะทำงานสำเร็จ ได้อย่างดี
งาน ที่ไม่ต้องใช้ความรู้สูง ก็ต้องผ่านการฝึกเช่นเดียวกัน เช่น การเย็บปักถักร้อย การทำงานบ้าน หรือการเป็นพนักงานบริการ ทั้งนี้เพื่อทดสอบความสนใจ ความสามารถ ของแต่ละคน ว่าเหมาะสมกับงานแต่ละชนิดนั้นหรือไม่เพียงใด
สำหรับ ประชาชนในชนบท รัฐบาลได้จัดหน่วยงานหลายหน่วยงานให้รับผิดชอบ ในการฝึกอาชีพให้แก่ราษฎร ดังจะเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ การดำเนินงานตามโครงการนี้ ยังไม่ได้ผลเท่าที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ เพราะงานอาชีพบางอย่างที่จัดฝึกอบรมนั้น ไม่ตรงกับความสนใจของชาวบ้าน ขณะนี้รัฐบาลกำลังประเมินผล และหาทางแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น
กรม แรงงานเป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่พยายามช่วยเหลือประชาชนในชนบทให้มีอาชีพ หน่วยงานอื่นๆ ก็ได้ช่วยกันดูแล ควบคุม ป้องกัน ให้ผลิตผลจากการใช้ฝีมือแรงงาน เป็นไปอย่างยุติธรรม ให้ประชาชนมีความรู้เรื่องตลาด ไม่ถูกหลอกลวง หรือเอารัดเอาเปรียบ พยายามควบคุมผลิตผล และควบคุมราคาของการซื้อขายให้ได้มาตรฐาน
นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องปรับปรุงอุปกรณ์การผลิตบางอย่างของประเทศไทย เนื่องจากพื้นความรู้ทางการผลิตของชาวชนบทไทย ยังอยู่ในระดับต่ำ ฉะนั้นอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นใช้จึงต้องมีความยุ่งยาก สลับซับซ้อน และการใช้ยังต้องใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน ที่ต้องใช้แรงคน และแรงงานธรรมชาติประกอบกัน
ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม ปลูกข้าว พืชพันธุ์อาหาร ผัก และผลไม้ต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ ท้องถิ่นที่จะพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรม จึงต้องพัฒนาให้ตรงกับทรัพยากร ความถนัด ความเหมาะสม และความสนใจของประชาชน ชาวชนบทยังรักที่จะมีอาชีพเดิมที่เขาสนใจ จึงต้องสนับสนุนช่วยเหลือ ให้สามารถผลิตวัตถุดิบ ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปใช้ประกอบการงาน ผลิตผลที่ได้มาก็หมุนเวียนเข้าป้อนโรงงานอุตสาหกรรม เป็นการใช้แรงงานที่ทุกคนพอใจ และนำความเจริญมาให้แก่ส่วนรวม