Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ผู้สูงอายุ

Posted By Plookpedia | 20 มิ.ย. 60
7,110 Views

  Favorite

ผู้สูงอายุ

      เด็ก ๆ คงเคยได้ยินคำว่า “สูง” แล้วใช่ไหม คำคำนี้มีที่ใช้ที่หลากหลาย เช่น ถ้าเราจะพูดถึงขนาดหรือรูปร่างเราก็พูดว่า คนสูง ต้นไม้สูง ตึกสูง ถ้าเราจะพูดถึงสถานที่เราก็พูดว่าที่ราบสูง ฟ้าสูง ภูเขาสูง ถ้าเราจะพูดถึงอากาศเราก็พูดว่าความกดอากาศสูง ถ้าเราจะพูดถึงสถานะของบุคคลเราก็พูดว่าเบื้องสูงหรือที่สูง ซึ่งหมายถึงอะไรก็ตามที่เราต้องเงยขึ้นไปมองก็ใช้คำว่า ที่สูง ทั้งนั้น

 

ผู้สูงอายุ

 

      คำว่า “สูง” ยังมีอีกความหมายหนึ่งที่ใช้กับอายุของบุคคลโดยใช้ในความหมายว่ายาวนาน  คนที่มีอายุมาก ๆ หลาย ๆ ปี เราไม่เรียกว่า ผู้มากอายุหรือผู้หลายอายุ แต่เราใช้คำว่าผู้สูงอายุแม้แต่ผู้ที่มีอายุยืนท่านก็เป็นผู้สูงอายุ   เด็ก ๆ คงจะสงสัยว่าเราจะตัดสินได้อย่างไรว่าใครบ้างเป็นผู้สูงอายุตามที่ยึดถือกันทั่วไปประเทศต่าง ๆ ได้แบ่งประชากรออก เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ ตามช่วงอายุ คือ

      อายุตั้งแต่แรกเกิด – ๑๔ ปี เป็นประชากรวัยเด็ก

      อายุตั้งแต่ ๑๔–๕๙ ปี เป็นประชากรวัยทำงาน

      และอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป เป็นประชากรวัยสูงอายุ 

 

ผู้สูงอายุ


      ต่อจากนี้ไปเมื่อเด็ก ๆ ทราบอายุของผู้ใหญ่แล้วคงจะบอกได้แล้วใช่ไหมว่าญาติผู้ใหญ่ของเรานั้นท่านเป็นผู้สูงอายุหรือไม่  ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มากทั้งอายุและประสบการณ์ ท่านได้ผ่านชีวิตมายาวนานจึงสามารถจะบอกเล่าความหลังให้ข้อคิดและข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ท่านมักจะมีคำแนะนำที่ดีให้แก่เด็ก ๆ และที่สำคัญที่สุดก็ คือ ท่านจะมีความรักและความเมตตาต่อเด็ก ๆ เสมอ เมื่ออยู่ใกล้ท่านเด็ก ๆ ก็จะได้รับความรู้และความอบอุ่นใจ เด็ก ๆ จึงควรจะดูแลและเอาใจใส่ผู้สูงอายุในครอบครัว

 

 

 

      ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอัตราเกิดและอัตราตายที่ลดลงในช่วงเวลา ๓ - ๔ ทศวรรษที่ผ่านมา อัตราเกิดที่ลดลงเป็นเพราะประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาได้มีการรณรงค์ให้มีการวางแผนครอบครัวเพื่อให้มีบุตรน้อยลงประกอบกับการขยายตัวของเขตเมืองในประเทศต่าง ๆ ทำให้ขนาดของครอบครัวเล็กลงเพราะประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองไม่นิยมการมีบุตรมากเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการเลี้ยงดูบุตรแต่ละคน  ส่วนอัตราตายที่ลดลงเป็นเพราะความเจริญทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น เมื่อมีประชากรผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากขึ้นก็เป็นหน้าที่ของสังคมในการดูแลรักษาสุขภาพของผู้สูงอายุนอกจากผู้สูงอายุจะต้องดูแลรักษาสุขภาพของตนเองแล้วลูกหลานในครอบครัวจะต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงอายุรวมทั้งช่วยระมัดระวังป้องกันมิให้ผู้สูงอายุเกิดการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุหรือจากโรคที่สามารถป้องกันได้

 

ผู้สูงอายุ


      การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงอายุเกิดขึ้นกับอวัยวะต่าง ๆ ทั้งหมด ทั้งที่เห็นได้ด้วยตาและจากการสังเกตกิริยาอาการ เช่น ผิวหนังที่เหี่ยวย่นและมีลักษณะหยาบกร้านมากขึ้น ผมบนศีรษะบางและยาวช้าลง กล้ามเนื้อฝ่อลีบมีแรงหดตัวน้อยลงไม่สามารถทำงาน ออกแรง หรือเคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่ว ฟันโยกคลอนและหัก กระดูกเปราะบางและหักได้ง่ายเมื่อหกล้ม   ชีพจรเต้นช้าลงเป็นลมง่ายเมื่อลุกขึ้นยืนหรือเปลี่ยนอิริยาบถเร็ว ๆ ขนาดของสมองฝ่อเหี่ยวลงทำให้มีปัญหาด้านความจำและการตัดสินใจ

      การส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุกระทำได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงและควรเริ่มตั้งแต่ในวัยผู้ใหญ่ เช่น การไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา รวมทั้งการออกกำลังกายสม่ำเสมอ การบริโภคอาหารที่เหมาะสม การฝึกจิตใจให้ผ่องแผ้ว การหลีกเลี่ยงการหกล้ม และการใช้ยาที่ไม่จำเป็น  ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่เป็นไปเองตามธรรมชาติไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้   แต่ก็มีวิธีการที่จะบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายในผู้สูงอายุให้สามารถใช้งานต่อไปได้เป็นระยะเวลายาวนานขึ้น สำหรับผู้สูงอายุที่มีสุขภาพโดยทั่วไปค่อนข้างดีมีวิธีการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพโดยการออกกำลังกายที่ถูกต้อง ส่วนผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจะมีวิธีการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพโดยการใช้เครื่องมือทางฟิสิกส์หรือการออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษารวมทั้งการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยต่าง ๆ เช่น ไม้เท้า สนับเข่า รถเข็น

 

ผู้สูงอายุ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow