Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผึ้ง

Posted By Plookpedia | 20 มิ.ย. 60
4,818 Views

  Favorite

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผึ้ง 

 

        ผึ้งเป็นแมลงที่มีประโยชน์แก่มนุษย์ ทั้งในด้านช่วยเพิ่มผลิตผลของพืชผลทางการเกษตร
โดยเฉพาะการผสมให้ผลไม้ ผลไม้ในประเทศไทยที่ผึ้งสามารถผสมเกสรได้ดี คือ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ มะม่วง ทุเรียน ชมพู่ ส้ม และมะนาว เป็นต้น นอกจากนี้ ผึ้งยังเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรพืช
ตระกูลแตง เช่น แตงโม แตงกวา แตงไทย โดยเฉพาะแตงน้ำผึ้ง (honey dew) หรือแตงต่างประเทศ
ที่ราคาแพงนั้น เหมาะสมมากที่จะใช้ผึ้งช่วยผลิตเมล็ดพันธุ์ในระดับอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ของผึ้งที่คุณค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ น้ำผึ้ง เกสร ไขผึ้ง นมผึ้ง พรอพอลิส และพิษของผึ้ง ส่วนการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยได้ผลิตผลเพียง ๓ ชนิดเท่านั้น คือ น้ำผึ้ง เกสร และไขผึ้ง ดังนี้

 

๑. น้ำผึ้ง 
        น้ำผึ้ง เป็นผลิตผลของน้ำหวาน (nectar) จากดอกไม้ และจากแหล่งน้ำหวานอื่น ๆ เช่น
น้ำหวานจากเพลี้ย ที่ผึ้งไปเก็บมา และผ่านขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงทางเคมี และกายภาพบางประการ แล้วสะสมไว้ในรังผึ้ง 

 

ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีน้ำหวานและเกสรที่ผึ้งต้องการ : ดอกชมพู่
ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีน้ำหวานและเกสรที่ผึ้งต้องการ : ดอกแต้ว ย้อนกลับ
ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีน้ำหวานและเกสรที่ผึ้งต้องการ : ดอกแตงกวา

 

สรรพคุณของน้ำผึ้ง 
        ได้รับการกล่าวถึงมา ตั้งแต่ยุคโบราณ ชาวกรีกจะดื่มน้ำผึ้งก่อนลงแข่งกีฬาโอลิมปิก
เพราะเชื่อว่า น้ำผึ้งช่วยขจัดความเมื่อยล้าได้ แพทย์ชาวอียิปต์ได้ใช้น้ำผึ้งช่วยสมานแผลในการผ่าตัด
เพื่อฆ่าเชื้อโรค ก่อนที่จะรู้จักบัคเตรีเสียอีก ซึ่งในปัจจุบันเราทราบดีแล้วว่า คุณสมบัติของน้ำผึ้งในการป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคนั้น เนื่องมาจากการที่น้ำผึ้งมีความชื้นน้อย มีแรงดูดซึม (osmotic pressure) สูง ดังนั้นจึงดูดซึมน้ำจากเซลล์จุลินทรีย์ต่าง ๆ ออกมาหมด ทำให้เชื้อโรคตายได้
ด้วยเหตุนี้แพทย์ในสมัยปัจจุบัน จึงยอมรับในเรื่องการใช้น้ำผึ้งเป็นยารักษาแผลบางชนิดได้เช่นกัน

 

น้ำผึ้งมีกลิ่นและลักษณะทางกายภาพแตกต่างกัน 
        ขึ้นอยู่กับน้ำหวานของดอกไม้ที่ผึ้งเก็บมาสะสมเป็นอาหาร น้ำผึ้งตามธรรมชาติจะมีรสหวานจัด กลิ่นหอม มีสีเหลืองอ่อนๆ จนถึงน้ำตาลเข้ม แล้วแต่แหล่งหรือชนิดของพืชอาหารที่ได้มา ในบ้านเรายังมีน้ำผึ้งป่า ที่ได้จากผึ้งตามธรรมชาติ ได้แก่ ผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม และผึ้งหลวง ซึ่งคนไทยโบราณรู้จัก
น้ำผึ้งในลักษณะของยามากกว่าอาหาร แต่ปัจจุบันมีผู้รู้คุณค่าของน้ำผึ้งกันอย่างกว้างขวาง
จึงทำให้มีผู้นิยมรับประทานน้ำผึ้งกันมากขึ้น จนทำให้ผลิตผลตามธรรมชาติมีไม่เพียงพอ
ดังนั้น จึงมีการเลี้ยงผึ้งเป็นอุตสาหกรรม 

 

ผึ้งที่นำมาเลี้ยงคือ ผึ้งโพรงไทย และผึ้งโพรงฝรั่ง
        น้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งเลี้ยงนี้ มีคุณสมบัติเหมือนกับน้ำผึ้งที่ได้ตามธรรมชาติ และยังสามารถเจาะจงให้ได้น้ำผึ้งจากแหล่งของดอกไม้ตามความต้องการ เช่น น้ำผึ้งจากดอกลำไย ดอกเงาะ และดอกลิ้นจี่ เป็นต้น ผึ้งเลี้ยงจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ ด้วยวิธีการที่ดี ทำให้ได้น้ำผึ้งมากกว่าผึ้งป่าที่หาอาหารตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันน้ำผึ้งยังมีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาล ดังนั้นจึงเกิดมีการปนปลอมน้ำผึ้งขึ้น โดยการนำน้ำเชื่อมมาแต่งกลิ่น และเติมแบะแซ เพื่อให้ดูข้น หรือนำน้ำเชื่อมมาย่อย ให้มีส่วนประกอบคล้ายน้ำผึ้ง แล้วแต่งกลิ่น ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อ และควรอ่านสลากด้วย ลักษณะน้ำผึ้งที่ดีควรมีลักษณะข้นหนืด ซึ่งแสดงว่า มีน้ำน้อย มีกลิ่นหอมของน้ำผึ้ง และดอกไม้ตามแหล่งที่ได้มา ไม่มีฟอง อันเนื่องมาจากการบูด สะอาด ไม่มีไขผึ้ง หรือเศษตัวผึ้งปะปน ใส มีสีเหลืองอ่อนๆ จนเป็นสีน้ำตาลเข้ม สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการรับประทานน้ำผึ้ง สามารถพิสูจน์ได้ง่ายๆ จากการดมกลิ่น และชิม แต่ถ้าไม่คุ้นเคยก็เป็นการยาก นอกจากจะวินิจฉัยโดยการตรวจสอบทางเคมี

 

ผึ้งผลิตน้ำผึ้งได้อย่างไร 
        เมื่อผึ้งเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ลงสู่กระเพาะ จะมีน้ำย่อย (enzyme) จากต่อมน้ำลายขับออกมาย่อยเปลี่ยน หรือเรียกว่า เมตาบอไลซ์ น้ำตาลกลูโคส และฟรักโทส ให้เป็นน้ำตาลแปรรูป (invert sugar) คือ น้ำตาลลีวูโลส และเดคโทรส นอกจากนั้นยังมีน้ำตาลอื่น ๆ อีก
แต่มีจำนวนน้อยมาก ปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ผึ้งเริ่มบินกลับรัง ในขณะที่ผึ้งกระพือปีก จะเกิดพลังงานความร้อนช่วยเร่งการทำงานของเอมไซม์ ตลอดจนช่วยเผาผลาญ ลดความชื้นในน้ำหวาน ให้กลายเป็นน้ำผึ้งเร็วขึ้น เมื่อผึ้งงานกลับมาถึงรัง จะคายน้ำหวานแปรรูปนี้ให้กับผึ้งงานประจำรังซึ่งจะรับกันด้วยปากต่อปาก น้ำหวานแปรรูปนี้ ยังไม่เป็นน้ำผึ้งที่สมบูรณ์ เพราะยังมีความชื้น หรือน้ำในน้ำหวานมาก ถึงร้อยละ ๓๐-๔๐ ต่อมาผึ้งงานประจำรัง จะนำน้ำหวานนี้ไปเก็บในหลอดรวงน้ำผึ้ง ตอนเย็นผึ้งกลับรังกันเป็นส่วนใหญ่ จะช่วยกันกระพือปีกช่วยให้มีการระเหยของน้ำหวานอีก จนเป็นน้ำผึ้งที่สมบูรณ์ มีน้ำเหลืออยู่เพียงร้อยละ ๒๐-๒๕ เท่านั้น หลังจากนั้นผึ้งงานจะใช้ไขผึ้งปิดหลอดรวง ที่เก็บน้ำผึ้งนี้ ไว้ใช้เป็นอาหาร เพื่อให้พลังงาน ในชีวิตประจำวัน และยามขาดแคลนอาหารต่อไป 

 

        ในบางกรณีพบว่า น้ำผึ้งมีรสขม ทั้งนี้เพราะผึ้งไปเก็บน้ำหวาน ที่มีรสขม จากพืชบางชนิด มาทำเป็นน้ำผึ้งนั่นเอง ตัวอย่างน้ำผึ้งขม ได้แก่ น้ำผึ้ง ที่ได้จากน้ำหวานของดอกต้นมันสำปะหลัง
นอกจากนั้นพบว่า น้ำผึ้งบางชนิดในประเทศไทยยังมีพิษอีกด้วย เช่น น้ำผึ้งที่ได้จากดอกยางตุ่ม ทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพราะว่า สารพิษที่อยู่ในพืชนั้น
ไม่สามารถออกฤทธิ์ต่อระบบภายในร่างกายผึ้ง แต่ออกฤทธิ์ได้ในระบบทางเดินอาหารของคน

 

        นอกเหนือจากความแตกต่างในเรื่อง รส กลิ่น และสีของน้ำผึ้งแล้ว น้ำผึ้งจากดอกไม้ต่างชนิดกัน ยังมีองค์ประกอบของน้ำตาลแตกต่างกันไปด้วย เช่น มีสัดส่วนของน้ำตาลกลูโคส และน้ำตาลฟรักโทสไม่เท่ากัน ฉะนั้นน้ำผึ้งที่มาจากแหล่งต่าง ๆ จะมีคุณสมบัติเฉพาะแตกต่างกัน เช่น สี กลิ่น รส หรือคุณสมบัติในการตกผลึก เราอาจจะพบว่า น้ำผึ้งที่ได้จากการเลี้ยงผึ้งในสวนยางพาราสามารถตกผลึกได้ทั้งหมด เมื่อนำไปแช่ในตู้เย็นหลายชั่วโมง ในขณะที่น้ำผึ้งจากดอกลิ้นจี่ตกผลึก
ได้น้อยกว่า หรือน้ำผึ้งจากดอกลำไยไม่ค่อย ตกผลึกเมื่ออยู่ในสภาพเดียวกัน เป็นต้น 

 

        น้ำผึ้งนอกจากใช้ในอุตสาหกรรมยาแล้ว ยังใช้ทำขนมหวาน ขนมปัง ลูกกวาด และ
ผสมเครื่องดื่ม เช่น น้ำมะนาว นอกจากจะทำให้มีรสอร่อยแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหารสูงมากอีกด้วย
นอกจากนั้นน้ำผึ้งยังใช้แทนน้ำตาล ปรุงอาหารได้เกือบทุกชนิด ปัจจุบันยังนิยมใช้น้ำผึ้งไปผสมทำ
เครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู และครีมต่าง ๆ อีกด้วย 

 

น้ำผึ้งผลิตภัณฑ์จากผึ้งที่มีคุณประโยชน์สูง
ขนมหวานที่มีน้ำผึ้งเป็นส่วนผสม

 

        สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานของ
น้ำผึ้งที่มีจำหน่ายในประเทศไทยขึ้น ดังนั้นเพื่อความมั่นใจว่า น้ำผึ้งที่ซื้อมารับประทานเป็นของแท้
ควรเลือกซื้อน้ำผึ้ง ชนิดที่มีเครื่องหมายมาตรฐานแสดงไว้ที่สลาก หรือซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้

 

 

๒. เกสร
        เกสร คือ เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ของดอกไม้ที่ผึ้งไปเก็บรวบรวม โดยวิธีการเข้าไปคลุกเคล้ากับ
อับเกสร ให้เกสรติดตามตัว และใช้ขาปัดเขี่ยรวมกันเป็นก้อน ติดไว้ที่ขาหลัง บริเวณอวัยวะที่เรียกว่า ตะกร้าเก็บเกสร และนำกลับมาเก็บยังรัง เพื่อใช้เป็นอาหารประเภทโปรตีน สำหรับประชากรในรัง และโดยเฉพาะใช้เลี้ยงตัวอ่อน เกสรที่นำมาบ่มในรังจนผนังเกสรนุ่ม จะถูกนำไปเลี้ยงผึ้งงาน ตัวอ่อนที่อายุมากกว่า ๓ วัน โดยผึ้งจะบดผสมกับน้ำผึ้ง องค์ประกอบในเกสรพืชแต่ละชนิดแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้ว มีโปรตีนเป็นพื้นฐาน และมีองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ไขมัน คาร์โบไฮเดรต
เอนไซม์ แร่ธาตุต่าง ๆ และวิตามินครบทุกชนิด

 

ผึ้งคลุกเคล้ากับเกสรดอกไม้เพื่อเก็บเกสร

       

        ผู้เลี้ยงผึ้งเป็นอุตสาหกรรม นิยมการดักเก็บเกสรที่ผึ้งขนเข้ารัง และนำเกสรไปทำให้แห้ง
โดยกรรมวิธีที่ไม่สูญเสียคุณค่าทางอาหาร เกสรเหล่านี้ มีผู้นิยมรับประทาน โดยชงกับกาแฟ
หรือเครื่องดื่ม ซึ่งให้ประโยชน์ บางบริษัททำเป็นเม็ด ๆ และนิยมเรียกว่า เกสรผึ้ง (bee pollen) เป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่า สามารถกระตุ้นร่างกายที่เมื่อยล้า จากการทำงานหนักให้ปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เพราะเกสรผึ้งมีฤทธิ์ต่อการทำงานของบัคเตรี และช่วยควบคุมบัคเตรีในลำไส้
 

เกสรผึ้งนับว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์มาก เพราะได้มาจากอินทรียสารในธรรมชาติ ประกอบด้วยสารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

        คาร์โบไฮเดรต ร้อยละ ๔๐
        โปรตีน ร้อยละ ๓๕
        กรดอะมิโน ร้อยละ ๑๕-๒๕
        น้ำ ร้อยละ ๑๘
        ไขมัน ร้อยละ ๕

นอกจากนี้ยังประกอบด้วยวิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค แมกนีเซียม แคลเซียม อะลูมิเนียม เหล็ก ทองแดง สังกะสี ฟอสฟอรัส และกำมะถัน ฯลฯ 

 

สรรพคุณของเกสรผึ้ง 
        เชื่อว่า มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ ในลักษณะอาหารเสริม นอกจากนี้ยังพบว่า เกสรผึ้งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ ผิวหนัง กระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงเซลล์ได้อย่างทั่วถึง และยังให้ความชุ่มชื้นต่อผิวหนังที่แห้ง จึงสามารถรักษาผิวไม่ให้ย่นเร็ว ทำให้ดูอ่อนวัย ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการเติมเกสรผึ้งในเครื่องสำอางต่าง ๆ เช่น ครีมล้างหน้า ครีมรองพื้น ครีมบำรุงผิว และยังใช้เกสรผึ้งในการรักษาผมให้สลวยเงางาม และป้องกันรังแค โดยเติมลงในแชมพู และน้ำมันใส่ผมอีกด้วย 

 

 

๓. ไขผึ้ง 
        โดยปกติไข (wax) ที่พบอยู่ตามธรรมชาติ จะมี ๓ อย่างด้วยกัน คือ ไขจากสัตว์ ไขจากพืช และไขจากแร่ธาตุหรือปิโตรเลียม ไขผึ้งจัดเป็นไขสัตว์ ไขผึ้งแท้บริสุทธิ์ต้องได้มาจากรวงรังผึ้งเท่านั้น ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดผสมกัน โดยผลิตออกมาจากต่อมผลิตไขผึ้ง ที่อยู่ที่ผิวด้านล่างส่วนท้องของผึ้ง ไขผึ้งมีประวัติการใช้ที่น่าสนใจยิ่ง นับตั้งแต่ได้มีการเปิดปิรามิด พบไขผึ้ง ณ ที่เก็บศพของชาวอียิปต์ พบว่า ไขผึ้งเป็นส่วนผสมในการใช้ทำมัมมี่ (ศพที่มีการเก็บรักษาด้วยวิธีการพิเศษ)
การใช้เทียนไขในพิธีทางศาสนา ได้มีการใช้กันในทุกศาสนา นานนับพันปีมาแล้ว จนถึงทุกวันนี้
โดยเฉพาะในแผ่นดินสุวรรณภูมินั้น พบว่า มีการใช้เทียนไขจุดบูชาเทพเจ้า และแลกเปลี่ยนซื้อขายกันมา ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๕๘)

        เมื่อเริ่มมีการทำพลาสติก ก็มีการนำไขผึ้งมาใช้เป็นส่วนผสมอยู่หลายปี ซึ่งสมัยนั้นนับว่า ไขผึ้งมีราคาสูงมาก บางแห่งยังใช้ไขผึ้งเป็น สื่อกลางของการแลกเปลี่ยนแทนเงิน สถาปนิกเคยใช้ไขผึ้งสำหรับปั้นหุ่น หรือโครงสร้างจำลองต่างๆ ปั้นหุ่นคนในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง (wax museum) กะลาสีเรือก็เคยใช้ไขผึ้ง สำหรับอุดเรือ กันเรือรั่ว พวกทหารก็เคยใช้ไขผึ้งสำหรับอุดค่ายที่พักกันน้ำ หรืออุดภาชนะที่ใช้เก็บอาหาร เมื่อไม่นานมานี้มีการใช้ไขผึ้งในการทำเป็นฉนวน สำหรับเครื่องมือทางไฟฟ้า และเครื่องมือของทันตแพทย์ 

 

ไขผึ้ง ใช้เป็นส่วนผสมในการทำเทียน
เทียนไข ผลิตภัณฑ์จากไขผึ้ง

 

        ปัจจุบันไขผึ้งส่วนใหญ่ได้รับการนำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เช่น ครีมล้างหน้า น้ำมันทาผิว ลิปสติก และยังใช้ไขผึ้งในการทำเทียน กาว หมากฝรั่ง ตลอดจนดินสอสี และหมึกอีกด้วย เหตุผลที่จำเป็นต้องใช้เทียน ที่มีส่วนผสมของไขผึ้งเป็นจำนวนที่พอเหมาะ เนื่องจากคุณประโยชน์ที่มีควันน้อย และมีกลิ่นหอม 

 

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้จากผึ้งโพรงฝรั่งอีก คือ นมผึ้ง และพรอพอลิส ดังนี้

 

นมผึ้ง 
        นมผึ้ง หรือรอยัลเยลลี (royal jelly) ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า นมผึ้ง เป็นอาหารของผึ้งตัวอ่อน และผึ้งนางพญา ผลิตโดยผึ้งงานที่มีอายุประมาณ ๕-๑๕ วัน คือ ผึ้งงานวัยที่มีหน้าที่เลี้ยงดูตัวอ่อน จะผลิตอาหารพิเศษนี้จากต่อมไฮโพฟาริงจ์ (hypopharyngeal gland) ที่อยู่ติดกับต่อมน้ำลาย
ในบริเวณส่วนหัวของผึ้งงาน ต่อมนี้จะทำหน้าที่ผลิตรอยัลเยลลี และผึ้งงานจะคายรอยัลเยลลีออกจากปาก ใส่ลงในหลอดรวงตัวอ่อน (brood cells) นอกจากนั้นผึ้งงานจะใช้รอยยัลเยลลีป้อนให้กับ
ผึ้งนางพญาด้วย 

 

นมผึ้งเม็ดและแคปซูลอาหารเสริมชนิดหนึ่ง

 

        รอยัลเยลลีมีลักษณะสีขาวคล้ายครีม หรือนมข้นหวาน มีกลิ่นออกเปรี้ยว และรสค่อนข้างเผ็ดเล็กน้อย ผึ้งงานจะนำรอยัลเยลลีที่ผลิตขึ้นมาได้นี้ ไปเลี้ยงตัวอ่อนของผึ้งทุกวรรณะ ตั้งแต่แรกเกิด จนมีอายุครบ ๓ วัน เฉพาะตัวอ่อนที่จะเจริญไปเป็นผึ้งนางพญาเท่านั้น ที่จะได้รับรอยัลเยลลีจำนวนมาก และได้รับต่อไปจนตลอดชีวิต จึงเรียกอาหารนี้ว่า เป็นอาหารราชินี หรืออาหารนางพญา (royal jelly) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผึ้งนางพญามีขนาดโตกว่าผึ้งวรรณะอื่น ๆ และมี
ข้อแตกต่างหลายประการที่ต่างไปจากผึ้งงานทั่ว ๆ ไปภายในรัง 

 

จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทางด้านชีวเคมีพบว่า รอยัลเยลลีนี้มีส่วนประกอบต่าง ๆ ซึ่งเป็นสารอาหารที่สมบูรณ์มาก องค์ประกอบของสารอาหารในรอยัลเยลลี ได้แก่

        คาร์โบไฮเดรต ประมาณร้อยละ ๑๐-๑๒ 
        โปรตีน ประมาณร้อยละ ๑๔-๑๕ 
        ไขมัน ประมาณร้อยละ ๓-๕ 
        เถ้าหรือธาตุอื่น ๆ ประมาณร้อยละ ๑-๒
        น้ำ ประมาณร้อยละ ๒๗-๗๐ 

นอกจากนี้พบว่า ในรอยัลเยลลีนี้ มีวิตามินอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น วิตามินบี ๑ วิตามินบี ๒
วิตามินบี ๕ วิตามินบี ๖ และวิตามินอื่น ๆ อีก เกือบทุกชนิด 

 

        ปัจจุบันได้มีการนำเอารอยัลเยลลีมาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทางอาหาร และ
เครื่องสำอาง ซึ่งนิยมใช้กันทั่วไปในรูปครีมทาหน้า แชมพู และรับประทานเป็นอาหารเสริมกันมากขึ้น แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้ง

 

พรอพอลิส 
        พรอพอลิส คือ สารเหนียว หรือยางเหนียวๆ ที่ผึ้งงานเก็บมาจากตาหรือเปลือกของต้นไม้ เพื่อใช้ปิดรอยโหว่ของรัง และห่อหุ้มศัตรูที่ถูกฆ่าตายในรัง แต่ไม่สามารถนำออกไปทิ้งนอกรังได้ และเพื่อไม่ได้เกิดการเน่าเหม็นในรังผึ้ง ชาวกรีกตั้งชื่อสารนี้ว่า "propolis" ซึ่งมาจากคำว่า "pro" 
หมายถึง "ก่อน" และ "polis" หมายถึง "เมือง" ซึ่งในสมัยนั้น กรีกเองก็สันนิษฐานว่า ผึ้งคงจะใช้
พรอพอลิสสำหรับป้องกัน "เมือง" หรือรังของตนเองให้พ้นจากเชื้อโรค และศัตรูต่าง ๆ ไม่ให้บุกรุกเข้ามา 

 

ผลิตภัณฑ์ที่มีพรอพอลิสเป็นส่วนผสม


พรอพอลิสมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ คือ 

        ยางไม้ร้อยละ ๔๕ 
        ไขมันร้อยละ ๓๐ 
        น้ำมันร้อยละ ๑๐ 
        และเกสรดอกไม้ร้อยละ ๕ 

นอกจากนี้ยัง ประกอบด้วยวิตามินบี 

 

        ผึ้งใช้พรอพอลิส เพื่อสุขอนามัยภายในรังของตนเอง ในรังผึ้งรังหนึ่งๆ ประกอบด้วยผึ้งเป็นจำนวนถึงหมื่น ๆ ตัว และอยู่กันอย่างแออัด ผึ้งใช้พรอพอลิสเป็นสารป้องกันเชื้อโรค ความสามารถของผึ้งในการใช้พรอพอลิสต่อต้านเชื้อโรคนั้น นับว่าน่าสนใจยิ่ง ถ้ามีสิ่งแปลกปลอม หรือศัตรูเข้ามาในรัง ก็จะถูกผึ้งต่อยถึงตาย และสิ่งแปลกปลอมนั้นก็ย่อมจะเน่าเปื่อย และก่อให้เกิดเชื้อโรค ผึ้งได้ใช้พรอพอลิสห่อหุ้มสารแปลกปลอมนั้น คล้ายกับ "มัมมี่" หยุดการแพร่เชื้อโรคได้

 

        คุณสมบัติของพรอพอลิสอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของยางไม้ และพืชอาหารที่ผึ้งไปเก็บ ฮิปโปเครทิส (Hippocretes) ซึ่งนับว่าเป็นบิดาทางการแพทย์ของโลก ได้ใช้พรอพอลิสในการรักษาฝีและบาดแผลต่าง ๆ ชาวยุโรปมีความสนใจพรอพอลิสมากกว่าประชาชนในทวีปอื่น เพราะมีรายงานหลายฉบับที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของพรอพอลิส ในการรักษาบาดแผล โรคผิวหนัง และโรคเน่าเปื่อยบางอย่างของวัวควาย มีคุณสมบัติต่อต้านบัคเตรี และไวรัส และเนื่องจากคุณสมบัติของพรอพอลิสที่เป็นการฆ่าเชื้อโรคนี้เอง จึงมีการนำพรอพอลิสมาเป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน และหมากฝรั่ง เป็นต้น พรอพอลิสพบในรังผึ้งโพรงฝรั่งเท่านั้น ผึ้งโพรงไทยไม่มีพรอพอลิส

 

พิษของผึ้ง 
        พิษผึ้งประกอบด้วยสารเคมีต่างๆ มีสารหลายตัวที่มีฤทธิ์ไวมาก เพราะว่าหลังจากผึ้งต่อย
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและบวมอย่างรวดเร็ว พิษของผึ้งประกอบด้วยสารสำคัญ ๆ คือ ฮิสตามีน
โดพามีน เมลิทิน อะพามีน และเอนไซม์ เป็นต้น ไม่ว่าพิษผึ้งจะสกัดมาจากแหล่งใดในโลกก็ตาม
จะประกอบด้วยสารเคมีชนิดเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผึ้งสังเคราะห์พิษขึ้น โดยไม่เกี่ยวกับสถานที่ที่ผึ้งไปเก็บพืชอาหารเลย 

 

สรรพคุณของพิษผึ้ง 
        นอกจากนำมาใช้รักษาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้จากพิษของผึ้ง ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา ยังใช้พิษของผึ้งแก้โรครูมาติซัม (rheumatism) ในยุโรปโบราณผู้สูงอายุที่มีอาการปวดข้อ ใช้ผึ้งต่อยโดยตรง
เพื่อรักษาโรคนี้

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow