Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู

Posted By Plookpedia | 12 เม.ย. 60
1,489 Views

  Favorite

เวชศาสตร์ฟื้นฟู 


เป็นวิชาที่นำเอาคุณสมบัติของฟิสิกส์ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวแล้ว เช่น แสง เสียง ความร้อน ไฟฟ้ามาใช้ในการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยซึ่งอาจเกิดจากโรคหรือจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เขาเหล่านั้นสามารถปรับตัวให้เข้าสภาพของความพิการแล้วกลับไปดำเนินชีวิตอย่างคนทั่วไปหรือใกล้พิการหรือใกล้เคียงที่สุด ทั้งทางด้านสภาพจิตใจการประกอบอาชีพการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขพอสมควรตามอัตภาพ

ไพ
การฝึกใช้มือพิการทำงานโดยใช้กายอุปกรณ์เสริมช่วยพยุงข้อมือที่อ่อนแรง

 

การปฏิบัติงานทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูนี้ต้องทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มมีการปรึกษางาน ร่วมกันวางแผนงานและปฏิบัติงานร่วมกันเป็นอย่างดีกลุ่มปฏิบัติงานร่วมนี้ประกอบด้วยแพทย์ที่ปฏิบัติงานทางด้านนี้เป็นหัวหน้าทีมทำหน้าที่ในด้านการตรวจ การวินิจฉัยโรคให้การรักษาเช่นเดียวกันกับแพทย์ทั่วไปเป็นผู้วางแผนการรักษาแล้วมอบหมายงานการรักษาให้แก่บุคลากรผู้ร่วมงานต่าง ๆ ที่ร่วมงานด้วยและติดตามผลการรักษาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาแล้ววางแผนงานในการให้การรักษาเป็นขั้น ๆ จนถึงที่สุด

 

พั
การฝึกการทรงตัว ของผู้ป่วยพิการทางสมอง ในการนั่งและเอื้อมหยิบสิ่งของ

 

 

นักกายภาพบำบัดทำหน้าที่รักษาทางกายภาพบำบัดโดยการประเมินคนไข้เพื่อวางแผนและรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัดซึ่งจะใช้เครื่องมือกายภาพบำบัดต่าง ๆ รวมทั้งการดึง การดัด การนวด และการออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยกลับสู่สภาวะปกติได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือพึ่งพิงผู้อื่นน้อยที่สุดโดยอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยคนพิการบางอย่าง เช่น ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน รถเข็น เป็นต้น

 

นักกิจกรรมบำบัด ทำหน้าที่ประเมินความพิการโดยการสังเกต ตรวจและติดตามอารมณ์พฤติกรรมการเรียนรู้ สติปัญญา ความสามารถในการช่วยตนเอง การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ความรู้สึก การรับรู้แล้ววางแผนและดำเนินการในการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยวิธีการทางอาชีวะบำบัด เช่น การจัดกิจกรรมให้เป็นการกระตุ้น ฟื้นฟู ส่งเสริมพัฒนาการ เพิ่มพูนความสามารถของร่างกายใช้แขนเทียมใช้อุปกรณ์เสริมของมือทักษะในการประกอบกิจวัตรประจำวันฝึกงานฝีมือ ฝึกงานศิลปะ ฝึกงานอาชีพ ฝึกงานอดิเรกนันทนาการพัฒนาความทนงานประคองสภาพจิตใจดูแลรักษาบ้านเรือนดัดแปลงอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่าง ๆ พัฒนาทักษะเฉพาะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพและทำกายอุปกรณ์เสริมสำหรับมือ เป็นต้น

ำะ
การฝึกใช้มือเทียม หยิบแท่งไม้กลม

 

 

นักจิตวิทยาทำหน้าที่ประเมินสภาพทางจิตใจและติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจตลอดเวลาในการบำบัดรักษา
นักอรรถบำบัดทำหน้าที่ตรวจสอบความพิการที่เกี่ยวกับการพูดและปัญหาที่เกี่ยวกับการติดต่อตลอดจนการฝึกสอนผู้ป่วยให้พูดได้ถูกต้อง

 

ำีั
การฝึกใช้นิ้วที่เหลืออยู่ให้มีความคล่องตัว แทนนิ้วที่เสียไป

 

 

พยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟูทำหน้าที่ดูแลทางด้านการพยาบาลผู้ป่วยพิการในลักษณะต่าง ๆ กัน 

นักสังคมสงเคราะห์ทำหน้าที่ทางด้านสังคมสงเคราะห์ทั้งด้านความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ 

นักอาชีวะบำบัดทำหน้าที่จัดหางานอาชีพที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยแต่ละรายได้ฝึกฝน 

และนักกายอุปกรณ์เสริมและเทียมทำหน้าที่สร้างแขนขาเทียมและอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยที่ต้องการใช้กายอุปกรณ์ดังกล่าวทดแทนหรือช่วยเสริมส่วนที่เสียไปเพื่อให้ขีดความสามารถในการปฏิบัติงานต่าง ๆ สูงขึ้น

 

กายอุปกรณ์เสริม 

 

เป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยเสริมส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่เสียสมรรถภาพไปอาจเป็นที่ ขา ลำตัว คอ และแขน เป็นต้น ที่เราใช้กันมาก ได้แก่ กายอุปกรณ์เสริมขาซึ่งนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า เบรซ (brace) เบรซมีประโยชน์ต่อคนไข้ เช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อควบคุมข้อเท้าให้อยู่ในตำแหน่งปกติทำให้เวลาเดินปลายเท้าห้อยลงลากไปกับพื้นและข้อเท้าพลิกได้โดยง่าย เมื่อปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ข้อเท้าจะติดอยู่ในท่าปลายเท้าเหยียดทำให้การเดินลำบากในอนาคต

 

การใส่เบรซขาชนิดสั้นจะมีส่วนช่วยทำให้ปลายเท้าไม่ห้อยลงเพราะข้อเบรซเป็นตัวควบคุมเอาไว้ขณะเดียวกันมีผลทำให้เกิดความมั่นคงที่บริเวณข้อเท้าทำให้ข้อเท้าไม่พลิกขณะที่เดิน

ะี
ผู้ป่วยโรคโปลิโอที่ขาสวมเบรซชนิดสั้น ฝึกออกกำลังกาย

 

ในกรณีที่มีอัมพาตของกล้ามเนื้อควบคุมให้เข่าเหยียดตรงขณะยืนหรือเดินก็จำเป็นต้องใส่เบรซขาชนิดยาวเพื่อทำให้เข่าเหยียดขณะเดินโดยใช้วงแหวนล็อกเป็นตัวบังคับให้เข่าเหยียดไว้ตลอดเวลาที่ยืนและเดินเป็นการป้องกันการงอพับของข้อเข่ามิให้ล้มลงได้เมื่อจะนั่งต้องดึงแหวนล็อกข้อเข่านี้ขึ้นจะสามารถงอเข่าแล้วนั่งลงได้โดยสะดวก

ำ
การใช้คอร์เซตและเบรซชนิดยาว
เสริมและควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณเอวเพื่อลดอาการปวด

 

ถ้าเป็นอัมพาตสูงถึงระดับขาดการควบคุมการทำงานของสะโพกก็ต้องใช้เบรซขาชนิดยาวแบบมีข้อสะโพกร่วมด้วยจะช่วยควบคุมทิศทางในการเดินให้ถูกต้องตามแนวของข้อเบรซ คือ ในท่างอไปข้างหน้าและเหยียดตรงได้เท่านั้นมิฉะนั้นแล้วข้อสะโพกที่ขาดกล้ามเนื้อควบคุมก็อาจจะเดินในท่าบิดปลายเท้าเข้าหรือออกเป็นการขัดขวางในการเดินได้ 

ในเรื่องกระดูกสันหลังที่เสื่อมหรือคดและมีอาการปวดบริเวณหลังการใส่กายอุปกรณ์เสริมของหลังจะช่วยประคองกระดูกสันหลังให้อยู่ในแนวที่เหมาะสมทำให้กล้ามเนื้อบริเวณกระดูกสันหลังนั้นได้พักและอาการปวดลดลง อาทิเช่น ปวดที่บริเวณกล้ามเนื้อของเอวก็อาจใช้คอร์เซต (corset) ตัดด้วยผ้าแล้วเสริมภายในให้แข็งแรงด้วยแผ่นโลหะและไนลอนช่วยให้ส่วนนั้นมั่นคงและลดการเคลื่อนไหวทำให้ส่วนนั้นได้พักและอาการปวดลดลงได้ถ้าต้องการให้มีการควบคุมการเคลื่อนไหวและเสริมความมั่นคงของกระดูกสันหลังในระดับสูงกว่านี้เราก็อาจใช้เบรซซึ่งมีส่วนประกอบเป็น อะลูมิเนียมอัลลอย (aluminium alloy) ที่มีความแข็งแรงสูงทำให้สามารถประคองกระดูกสันหลังในตำแหน่งที่ต้องการได้เช่นเดียวกับบริเวณคอเมื่อต้องการให้กระดูกและกล้ามเนื้อบริเวณคอได้พักจากการเคลื่อนไหวและการเกร็งของกล้ามเนื้อเพราะความเจ็บปวดอาจใส่ปลอกคอประคองส่วนที่เป็นอัมพาต เช่น บริเวณมือก็อาจใช้อุปกรณ์ประคองมือเพื่อให้ข้อต่าง ๆ อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะสามารถทำงานได้ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นผลทำให้ข้อนิ้วมือและข้อมือติดยึดอยู่ในท่าพิการและไม่สามารถจะใช้งานได้สะดวกในโอกาสต่อไป

 

กายอุปกรณ์เทียม


เป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นแทนส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่ขาดไป ได้แก่ แขน และขาเทียม

แขนเทียมมีหลายระดับ ได้แก่ ระดับข้อมือ ใต้ศอก ข้อศอก เหนือศอกและระดับไหล่ เป็นต้น การใส่แขนเทียมจะมีส่วนช่วยในการปฏิบัติงานแทนส่วนที่ขาดไป เช่น แขนเทียมระดับใต้ศอกจะมีสายบังคับที่คล้องไหล่ด้านตรงกันข้ามดึงรั้งให้มือเทียมอ้าออกเพื่อจับวัตถุที่ต้องการแทนมือธรรมดาที่เสียไปได้สำหรับแขนเทียมระดับเหนือศอกสามารถใช้สายบังคับจากไหล่ด้านตรงข้ามทำให้ข้อศอกงอและเหยียดตลอดจนจับและปล่อยวัตถุให้วางได้ตามตำแหน่งที่ต้องการได้เช่นเดียวกัน

ำพั
แขนเทียมระดับต่าง ๆ คือ ระดับใต้ศอก (ซ้าย) ระดับศอก (กลาง) และระดับเหนือศอก (ขวา)

 

 

ขาเทียมมี ๕ ระดับ ได้แก่ ระดับข้อเท้า ระดับ ใต้เข่า ระดับเข่า ระดับเหนือเข่าและระดับข้อสะโพก การสร้างขาเทียมที่มีขนาดและรูปร่างที่ถูกต้องตามหลักวิชาพร้อมทั้งมีการฝึกกล้ามเนื้อส่วนที่เหลืออยู่ให้แข็งแรงตลอดจนฝึกการเดินด้วยขาเทียมได้ถูกต้องแล้วจะทำให้ผู้ที่ขาขาดสามารถใส่ขาเทียมเดินได้ดีและดำเนินชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากขึ้นจนบางรายถ้าสังเกตไม่ดีจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าผู้ป่วยคนนั้นใส่ขาเทียม ดังนั้น กายอุปกรณ์เสริมและเทียมจึงมีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดความพิการทั้งยังช่วยเสริมส่วนที่เสียไปให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นและทดแทนส่วนที่ขาดไปทั้งรูปร่าง ความสวยงามและการทำงานของส่วนนั้นให้สามารถใช้งานได้ใกล้เคียงกับปกติอีกด้วย

ำะ
ขาเทียมระดับต่าง ๆ คือ ระดับใต้เข่า (ซ้าย) ระดับเข่า (กลาง) และระดับเหนือเข่า (ขวา)

 

งานทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูนี้เป็นงานช่วงสุดท้ายของการบริการทางการแพทย์ซึ่งประกอบด้วยงานวินิจฉัยโรคการป้องกันการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยพิการให้กลับคืนสู่สภาพใกล้เคียงปกติมากที่สุดทั้งในด้านสภาพร่างกาย จิตใจ การประกอบอาชีพและสามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขพอสมควรแก่อัตภาพโดยไม่เป็นภาระของสังคมและมีส่วนช่วยชาติบ้านเมืองในด้านเศรษฐกิจได้อีกด้วย 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow