วิธีการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร
การอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร หมายถึง การใช้ การดูแลรักษา และปรับปรุง ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ที่สำคัญได้แก่ ป่าไม้ ดิน และน้ำ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม โดยให้มีการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติแต่น้อย แล้วได้รับประโยชน์คุ้มค่า อีกทั้งยังรวมถึงการป้องกัน และรักษาทรัพยากรธรรมชาติบางอย่าง ซึ่งถูกทำลาย ให้มีคุณภาพดีดังเดิม หรือดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ถ้าพบว่า บริเวณใดของพื้นที่ต้นน้ำลำธาร มีความเสื่อมโทรมเกิดขึ้น จะต้องรีบดำเนินการปรับปรุง และฟื้นฟู พื้นที่เสื่อมโทรมเหล่านั้น ให้คืนสภาพโดยเร็วที่สุดเสมอ
วิธีการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร โดยทั่วไปประกอบด้วย การอนุรักษ์ป่าไม้ ร่วมกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ ด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่างๆ ดังนี้
๑. การอนุรักษ์ป่าไม้
ป่าไม้มีความสำคัญต่อพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ที่จะต้องมีการอนุรักษ์ไว้เป็นอันดับแรก การอนุรักษ์ป่าไม้ทำได้โดย
๑.๑ บำรุงรักษาสภาพป่าไม้ของบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การกำหนดพื้นที่ป่าต่างๆ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ การป้องกัน และปราบปรามการลักลอบตัดไม้อย่างจริงจัง การป้องกันมิให้มีการบุกเบิกขยายพื้นที่ เพื่อการทำไร่เลื่อน ลอย และการป้องกันไฟไหม้ป่า
๑.๒ ปรับปรุงบูรณะสภาพพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งถูกทำลายอย่างมีประสิทธิภาพ และจริงจัง ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปลูกซ่อมเสริมป่า ในบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่า การทำสวนป่า การทำสวน พฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ ตลอดจนการจัดทำระบบวนเกษตร โดยปลูกพืชเศรษฐกิจที่เป็นไม้ผล หรือพืชอื่นผสมในสวนป่า
๑.๓ ประชาสัมพันธ์ ด้วยการให้การศึกษาแก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป ให้ตระหนักถึงภัยอันจะเกิดขึ้น จากการที่ป่าไม้บริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธารถูกทำลาย และรณรงค์ให้ร่วมมือกับทางราชการ ในการรักษาป่าไม้อย่างกว้างขวาง เป็นต้น
๒. การอนุรักษ์ดินและน้ำ
การอนุรักษ์ดิน และการอนุรักษ์น้ำ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เป็นกิจกรรม ซึ่งมีผลเกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กัน กล่าวคือ ในการอนุรักษ์ดิน ส่วนใหญ่เราจะดำเนินการ ในด้านการลดความรุนแรงของน้ำที่ไหลบ่ามาบนผิวดิน มิให้ทำอันตรายต่อผิวดิน โดยการชะลอความเร็วของกระแสน้ำที่ไหล หรือด้วยวิธีการเก็บกักน้ำไว้ตามลำธารลำห้วยเป็นตอนๆ เพื่อที่น้ำจะได้มีโอกาสไหลซึม ลงไปเก็บสะสมอยู่ในดินให้มากที่สุด หลังจากนั้นจึงค่อยไหลระบายออกจากดิน ลงสู่ลำธาร และลำห้วย ตลอดทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้ง ทำให้ลำธาร และลำห้วยดังกล่าว มีน้ำไหลตลอดปี และอำนวยประโยชน์เกี่ยวกับความเป็นอยู่ ตลอดจนการทำมาหากิน ให้แก่ประชาชน ที่อาศัยอยู่ในเขตลุ่มน้ำอย่างทั่วถึง ดังวิธีการ อนุรักษ์ดินและน้ำที่สำคัญต่อไปนี้
๒.๑ วิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยพืช
โดยการปลูกต้นไม้ หรือพืชคลุมดิน เพื่อป้องกันการพังทลายของดินในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ ลำธารที่ไม่มีป่าไม้ ด้วยพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และวิธีการปลูกดังนี้
๒.๑.๑ การปลูกพืชเป็นแนว ตามเส้นชั้นระดับเดียวกัน โดยการปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นแนว ไปตามแนวเส้นชั้นระดับเดียวกัน และตั้งฉากกับความลาดเทของพื้นที่
๒.๑.๒ การปลูกพืชสลับเป็นแถบ โดยการแบ่งพื้นที่ปลูกพืชหลายชนิด เป็นแถบสลับกัน และตั้งฉากกับความลาดเทของพื้นที่ มีอยู่ ๒ รูปแบบ คือ ปลูกเป็นแถบคดโค้งไปตามแนวเส้นชั้นระดับเดียวกัน และปลูกเป็นแถบตั้งฉากกับความลาดเทเป็นแนวตรงขนานกัน ๒.๑.๓ การปลูกพืช หรือใช้วัสดุคลุมดิน สำหรับพื้นที่บางแห่ง เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าดินถูกน้ำและกระแสลมกระทำโดยตรง และยังเป็นการลดการระเหยของน้ำออกจากดินมากเกินขอบเขตอีกด้วย พืชคลุมดิน ได้แก่ พืชตระกูลถั่วและหญ้าบางชนิด ส่วนวัสดุคลุมดินได้แก่เศษพืช เป็นต้น ๒.๑.๔ การปลูกต้นไม้หรือพืชหลายอย่างในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้ใบพืชต่างๆ สามารถคลุมพื้นที่ได้มากที่สุด เพื่อลดการถูกชะล้างพังทลายของดิน และช่วยรักษาความชื้นในดินด้วย ๒.๒ วิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการก่อสร้าง โดยทั่วไปการปลูกต้นไม้ หรือพืชคลุมดิน ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งมีความลาดชันมากแต่เพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถชะลอความเร็วของน้ำ ที่ไหลบ่ามาบนผิวดินได้ดีเท่าที่ควร จึงนิยมก่อสร้าง หรือดัดแปลงสภาพพื้นที่ ร่วมกับวิธีการอนุรักษ์ด้วยพืช เพื่อช่วยลดความรุนแรงของน้ำที่ไหลบ่ามาดังกล่าว นอกจากนั้น ตามร่องน้ำ และลำธารต่างๆ จะนิยมก่อสร้าง หรือหาวิธีเก็บกักน้ำไว้เป็นระยะๆ อีกด้วย สำหรับใช้ชะลอความเร็วของกระแสน้ำ และน้ำที่กักกั้นไว้ ก็จะซึมเข้าไปเก็บขังอยู่ในดินตามตลิ่งและท้องน้ำได้มากขึ้น วิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการก่อสร้างที่สำคัญ มีดังนี้ |
๒.๒.๑ การก่อสร้างคันดิน โดยการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำห่างกันเป็นระยะๆ ตลอดความยาวของพื้นที่ลาดเอียง ซึ่งคันดินแต่ละแนวจะสร้างไปตามพื้นดินที่มีระดับดินเท่ากันโดยประมาณ หรืออาจสร้างมีแนวลาดลงสู่ที่ต่ำทีละน้อย พร้อมกับขุดร่องน้ำที่มีลักษณะแบนและตื้น อยู่ทางด้านหน้าติดกับคันดินด้วย เพื่อจะได้ระบายน้ำที่คันดินกั้นไว้ออกไปจากพื้นที่ ลงสู่ร่องน้ำ และลำธารต่อไป คันดินที่ก่อสร้างขึ้น ควรมีลักษณะเตี้ยและแบน มีระยะความสูงของคันไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร และขนาดความกว้างของฐานคันดิน กับความกว้างของร่องน้ำควรมีระยะรวมไม่น้อยกว่า ๕ เมตร เพื่อให้คันดินมีความมั่นคงแข็งแรง และสร้างด้วยเครื่องจักรกลได้สะดวก |
๒.๒.๒ การก่อสร้างขั้นบันได
ในบริเวณลาดเนินเขาทั่วไปสมควรขุดตักดินเป็น ขั้นบันไดห่างกันเป็นระยะตลอดความยาวของพื้นที่ ลาดเนิน โดยเลือกขั้นบันไดดังกล่าวให้เหมาะสม กับสภาพท้องที่ดังต่อไปนี้
๑) ขั้นบันไดแบบราบ มีพื้นที่ ขั้นบันไดอยู่ในแนวระดับ และนิยมสร้างคันดิน เพื่อกั้นน้ำที่ขอบบันไดทุกชั้นด้วย เหมาะสำหรับ ท้องที่ซึ่งมีฝนตกชุกและต้องการเก็บขังน้ำไว้ใช้ เพาะปลูกพืชตามขั้นบันไดดังกล่าว
๒) ขั้นบันไดแบบลาดเทออก มีพื้นที่ขั้นบันไดลาดเทออก สามารถใช้ได้ผลดี เฉพาะในท้องที่ซึ่งมีฝนตกน้อย
๓) ขั้นบันไดแบบลาดเทเข้า มีพื้นที่ขั้นบันไดลาดเทเข้า ซึ่งจะสามารถดักและ เก็บขังน้ำอยู่ตามขั้นบันไดได้ จึงเหมาะที่จะก่อสร้างในภูมิภาคที่มีฝนตกชุก
การอนุรักษ์ดินและน้ำในบริเวณ พื้นที่ลาดเอียงโดยวิธีการก่อสร้างคันดินและขั้น บันไดดังกล่าว สมควรปลูกต้นไม้หรือพืชคลุมดิน ให้ทั่วทั้งบริเวณ ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการป้องกันการพังทลายของดิน และทำให้ พื้นที่ต้นน้ำลำธารบริเวณนั้นมีความชุ่มชื้นเพิ่ม มากขึ้น
๒.๒.๓ การก่อสร้างฝายปิดกั้นทางน้ำ
ตามร่องน้ำ และลำธารต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งถูกทำลายจนมีสภาพเสื่อมโทรม ควรพิจารณาสร้างสิ่งก่อสร้างปิดกั้นลำน้ำที่เรียกว่า "ฝาย" เป็นระยะๆ เพื่อใช้ทดและเก็บน้ำที่ไหลบ่าลงมาไว้ในลำน้ำ คล้ายกับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ให้กระจายอยู่ทั่วไปตามบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยน้ำที่เก็บกักนี้ จะซึมเข้าไปในดินตามตลิ่ง และท้องน้ำ เข้าไปเก็บอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดิน ทำให้น้ำที่เก็บกักอยู่ในดินตามบริเวณต้นน้ำลำธารนั้น มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้พื้นที่บริเวณต้นน้ำลำธารดังกล่าว เกิดความชุ่มชื้น และมีน้ำไหลอกจากดินหล่อเลี้ยงลำธารตลอดปี
ฝายที่สร้างปิดกั้นทางน้ำในบริเวณ ต้นน้ำลำธาร อาจสร้างด้วยวัสดุซึ่งมีราคาถูก และหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น กิ่งไม้ ใบไม้ ไม้ไผ่ เสาไม้ ทราย และกรวด เป็นต้น โดยนำเสาไม้ มาตอกให้ห่างกันเป็นระยะๆ ขวางทางน้ำให้ได้ หลายแถวตามที่ต้องการ และนำไม้เคร่ามาตอก ติดกับเสาแล้วกรุด้วยไม้ไผ่ติดกับเคร่าพร้อมกับ สะกิ่งใบไม้และอัดกรวดทรายลงไปในคอกให้ เต็ม หรือฝายในบางท้องที่อาจใช้วัสดุก่อสร้าง อันประกอบด้วยก้อนหินขนาดต่างๆ นำมากอง ก่ายเป็นรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมูขวางลำน้ำ โดย ในช่องว่างของหินขนาดใหญ่แต่ละชั้นบรรจุด้วย กรวดและหินย่อยขนาดเล็กลงไปจนเต็ม ซึ่งฝาย ที่สร้างด้วยหินดังกล่าวนี้จะต้านทานน้ำที่ไหลผ่าน ตัวฝาย และน้ำที่ล้นข้ามสันฝายได้เป็นอย่างดี
เมื่อต้องการสร้างฝายให้มั่นคงแข็งแรง และเก็บขังน้ำได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางน้ำ ที่มีน้ำไหลแรงในฤดูฝนก็จะต้องใช้วัสดุที่มีความ คงทนถาวรเป็นหลัก ได้แก่ หิน ซีเมนต์ และ คอนกรีตล้วน โดยมีการคำนวณออกแบบกำหนด สัดส่วนของฝายให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ ให้ เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่คาดว่าจะมีมามากที่สุด ให้ไหลข้ามฝายไปได้อย่างปลอดภัย และจะต้อง ทำการก่อสร้างให้ถูกวิธีด้วย