แหล่งน้ำ หมายถึง บริเวณที่รวมของน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แหล่งน้ำที่เรารู้จักกันทั่วไป ได้แก่ ลำธาร ลำห้วย หนอง บึง แม่น้ำ และลำคลอง
น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ มีต้นกำเนิดจากบริเวณต้นน้ำลำธาร อันเป็นเทือกเขา หรือเนินสูง และป่าไม้ โดยลำธารลำห้วย เป็นที่รวบรวมน้ำฝนที่ตกในบริเวณนั้น จากนั้นน้ำในลำธารลำห้วย ก็ไหลมารวมกันกลายเป็นแม่น้ำ และลำคลอง ส่วนหนองและบึง อาจเป็นที่รวมน้ำที่ไหลมาตามผิวดิน หรือเป็นแหล่งรับน้ำจากแม่น้ำลำคลองที่ล้นตลิ่งเข้าไป
เราใช้น้ำจากแหล่งน้ำทำประโยชน์หลายอย่าง ใช้เป็นน้ำดื่มน้ำใช้ ใช้ในการทำนา ทำไร่ ทำสวน ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ และใช้ในการเลี้ยงปลา วันหนึ่งๆ ทุกคนต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก
ถ้าเรารู้จักใช้น้ำอย่างถูกต้อง ไม่ทำลายต้นน้ำลำธารอันเป็นบ่อเกิดของน้ำในแม่น้ำลำคลอง ไม่ทำให้ดินพังทลาย โดยไม่จำเป็น และทำการเกษตรอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยให้มีน้ำอย่างพอเพียงในแหล่งน้ำธรรมชาติ | |
แต่เนื่องจากได้มีการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำลำธารมาก ในช่วงระยะห้าสิบปีที่ผ่านมา มีการทำการเกษตรไม่ถูกวิธี และดินก็พังทลายลงมาก เนื่องจากฝนและลมพายุ เป็นเหตุให้น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งเหือดแห้งไป โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เกิดความจำเป็นต้อง "พัฒนาแหล่งน้ำ"เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดปี |
การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขวางกั้นลำธาร ลำห้วย หรือแม่น้ำไว้ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขึ้นเหนือเขื่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอแล้ว ยังเป็นการบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่ม ของฝั่งลำน้ำทางด้านท้ายเขื่อนได้ด้วย
นอกจากนั้น การขุดสระขนาดใหญ่ การทำคลองส่งน้ำ จากอ่างเก็บน้ำ หรือจากแหล่งน้ำเหนือฝาย เพื่อส่งเข้าไร่นา และการสูบน้ำจากแหล่งน้ำที่มีระดับต่ำ ส่งขึ้นคลองส่งน้ำ นำไปใช้ในการเพาะปลูกพืช ก็เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยเช่นเดียวกัน |
การอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร
พื้นที่ต้นน้ำลำธาร หมายถึง บริเวณที่เป็นแหล่งกำเนิดของลำธาร ส่วนใหญ่ประกอบด้วยภูเขา หรือเนินสูง มีความลาดชันค่อนข้างมาก ปกคลุมด้วยป่าไม้ตามธรรมชาติ ต้นน้ำลำธารทำให้เกิดมีน้ำในแหล่งน้ำได้ก็เนื่องจาก
๑. ป่าไม้ทำหน้าที่อนุรักษ์ดินและน้ำไว้ให้คงอยู่
๒. ดินทำหน้าที่เป็นอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติ
๓. ลำธารเป็นแหล่งรวบรวมน้ำตามธรรมชาติที่ไหลมาบนผิวดิน และไหลซึมออกมาจากดิน
พื้นที่ต้นน้ำลำธาร อาจถูกทำลายได้ โดยฝีมือมนุษย์ และโดยธรรมชาติ มนุษย์
๑. ทำลายป่า เพื่อนำพื้นที่มาใช้ทำการเกษตร
๒. เผาป่า
๓. สร้างสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เช่น สร้างถนน สิ่งก่อสร้าง หมู่บ้าน ฯลฯ โดยขาดความระมัดระวัง
๔. ใช้ที่ดินไม่เหมาะสม เช่น ทำการเกษตรไม่ถูกวิธี
ธรรมชาติ
๑. ฝนชะทำลายดินผิวหน้า
๒. ลมและพายุกัดกร่อนทำลายผิวดิน
๓. การพังทลายของดินตามข้างภูเขา
การอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร
ทำได้โดย
๑. อนุรักษ์ป่าไม้
(๑) กำหนดเขตไว้เป็นอุทยานแห่งชาติ เป็นการป้องกันการ บุกรุกทำลายป่า
(๒) ปลูกป่า ปลูกพืชเศรษฐกิจ (ไม้ผล ในสวนป่า)
(๓) ให้ความรู้ แก่ประชาชนในการช่วยกันรักษาป่าไม้
๒. อนุรักษ์ดินและน้ำ
(๑) ปลูกพืชคลุมดิน เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน
(๒) ก่อสร้างคันดินและขั้นบันไดตามลาดเนินเขา
(๓) สร้างฝายปิดกั้นทางน้ำในบริเวณ ต้นน้ำลำธาร
การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
เกษตรกรต้องการน้ำ เพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ประมง และอื่นๆ การพัฒนา แหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรทำได้โดย
๑. สร้างอ่างเก็บน้ำ โดยการสร้างเขื่อนปิดกั้นทางน้ำธรรมชาติ การสร้างเขื่อนนี้ จะสร้างไว้ระหว่างหุบเขา หรือเนินสูง
๒. สร้างสระเก็บน้ำ โดยการขุดดินให้เป็นสระ สำหรับเก็บขังน้ำไว้
๓. ขุดลอกหนองและบึงที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้ลึกลงไป เพื่อให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้น
๔. สร้างฝายทดน้ำ เพื่อทดน้ำที่ไหลมาให้มีระดับสูง จนสามารถผันน้ำเข้าไปตามคลองหรือคูส่งน้ำได้
๕. สร้างคลองส่งน้ำ เพื่อนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ฝาย และที่อื่นๆ ส่งไปให้พื้นที่เพาะปลูก
ในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร มีสิ่งที่ต้องศึกษาข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณารวม ๓ เรื่อง คือ
(๑) ความต้องการใช้น้ำ
(๒) สภาพแหล่งน้ำที่จะพัฒนา และ
(๓) สภาพภูมิประเทศ
๖. สูบน้ำจากแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง และอ่างเก็บน้ำ ขึ้นไปยังคลองส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูก
ความต้องการใช้น้ำ ได้แก่ ความต้องการใช้น้ำ เพื่อการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมงน้ำจืด และเพื่อเป็นน้ำดื่มน้ำใช้ สภาพแหล่งน้ำและสภาพภูมิประเทศ ศึกษาว่าเป็นอย่างไร แล้วจึงพัฒนา สิ่งต่อไปนี้ ๑. ลำธารลำห้วยขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหลตลอดปี หรือมีน้ำไหลเฉพาะฤดูฝน และภูมิประเทศที่มีลูกเนินสองฝั่งลำน้ำอยู่ใกล้กัน พัฒนาโดยการสร้างอ่างเก็บน้ำ |
|
๒. ร่องน้ำขนาดเล็ก พื้นที่ลาดเอียง ซึ่งมีน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ พื้นที่ราบ พื้นที่ลุ่ม ซึ่งมีน้ำท่วมเป็นครั้งคราว และพื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินอยู่ตื้น พัฒนาโดยการสร้างสระเก็บน้ำ
๓. ลำน้ำลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปี หรือเกือบตลอดปี และภูมิประเทศสองฝั่ง ลำน้ำค่อนข้างราบ ไม่เหมาะที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำ พัฒนาโดยการสร้างฝายทดน้ำ
๔. อ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำด้านหน้าฝาย และเขื่อนระบายน้ำ และลำน้ำธรรมชาติที่มีระดับน้ำเสมอหรือใกล้กับตลิ่งทุกปี พัฒนาโดยการสร้างคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูก | |
๕. ลำน้ำและแหล่งน้ำซึ่งมีน้ำตลอดเวลา บริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่ราบ หรือค่อนข้างราบไม่สามารถสร้างฝายทดน้ำได้ พัฒนาโดยการสูบน้ำส่งไปยังพื้นที่เพาะปลูก
การป้องกันและบรรเทาน้ำท่วม น้ำท่วมเกิดขึ้นได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
๑. ฝนตกหนัก
๒. ลักษณะและส่วนประกอบของพื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่บางแห่งน้ำท่วมหนักได้ง่าย เพราะสภาพภูมิประเทศ ชนิดของดิน สภาพพืชที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่ และความเสื่อมโทรมของพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นสาเหตุสำคัญ
๓. น้ำทะเลหนุน
๔. การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม เช่น การขยายตัวของเขตชุมชน และการทำลายระบบระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
๕. แผ่นดินทรุด
วิธีการป้องกันและบรรเทาน้ำท่วม
มีหลายวิธี ที่สำคัญทำได้โดย
๑. สร้างคันกั้นน้ำเลียบลำน้ำ คันกั้นน้ำจะช่วยป้องกันน้ำจากภายนอกไม่ให้ เข้าไปท่วมพื้นที่ด้านใน
๒. สร้างทางผันน้ำ เพื่อช่วยระบายน้ำทิ้งไปยังลำน้ำสายอื่น หรือระบายออกสู่ทะเล
๓. ปรับปรุงสภาพลำน้ำ เพื่อให้น้ำไหลไปตามลำน้ำได้สะดวก และรวดเร็ว ทำได้หลายวิธี เช่น ขุดลอกลำน้ำส่วนที่ตื้น กำจัดวัชพืช และรื้อทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล ขุดทางน้ำใหม่ให้เป็นแนวตรง แทนลำน้ำส่วนที่เป็นแนวโค้ง
๔. สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำที่บริเวณต้นน้ำของลำน้ำสายใหม่ หรือตามแควสาขา
๕. สร้างคันกั้นน้ำโอบล้อมพื้นที่
๖. อนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร