ความอยากลอง
เป็นธรรมชาติของมนุษย์ในการที่อยากจะลองหรือเผชิญกับสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะในวัยที่ความรู้สึกอยากลองเป็นเรื่องที่ท้าทาย ตื่นเต้น สนุกสนาน เช่น ในวัยรุ่น
กลุ่มเพื่อน
หลายคนไม่กล้าที่จะปฏิเสธเมื่อถูกเพื่อนชวนให้ดื่มแอลกอฮอล์หรือบางคนมีทัศนคติว่าการดื่มแอลกอฮอล์กับกลุ่มเพื่อน หมายถึง การรักพวกพ้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน และความสนุกสนาน
สังคมและวัฒนธรรม
สังคมไทยมองเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ว่าเป็นเรื่องธรรมดา จะเห็นได้ว่างานสังสรรค์ งานเลี้ยง งานฉลอง และงานประเพณีต่าง ๆ แทบทุกงานจะต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยเสมอ ทำให้ผู้ที่เติบโตในสังคมลักษณะนี้มองว่าการดื่มเป็นเรื่องธรรมดาเพียงแต่ว่าสำหรับตนเองจะเป็นโอกาสใดเท่านั้น
ความเชื่อ
เมื่อใดที่คนเรามีความเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองกำลังกระทำไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ เมื่อนั้นจะยิ่งทำให้ความกังวลใจหรือความกลัวที่จะกระทำสิ่งนั้น ๆ ลดน้อยลงและทัศนคตินี้ไปสอดคล้องกับความเชื่อที่มีต่อแอลกอฮอล์ โดยช้านานมาแล้วคนมักจะเชื่อในสรรพคุณของยาดองเหล้าและเชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งคราวหรือประเภทดีกรีอ่อน ๆ คงไม่น่าจะเป็นปัญหากับตนเอง
กระแสของสื่อโฆษณา
ปัจจุบันนี้สื่อต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนอย่างมากและในเรื่องที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์จะเห็นว่ามีการแข่งขันทางการค้ากันสูงมาก โฆษณาที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอยู่มากมายซึ่งเป็นกลยุทธ์ของบริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะต้องพยายามสร้างสื่อโฆษณาขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกอยากลองและรู้สึกว่าการบริโภคแอลกอฮอล์นั้นเป็นเรื่องที่ดีงาม หรือเป็นเรื่องที่ควรจะภูมิใจในฐานะที่เกิดเป็นคนไทย (ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย) หรือเป็นเรื่องที่ผู้ชายควรจะต้องลองเพื่อแสดงความเป็นลูกผู้ชายอย่างแท้จริง บางผลิตภัณฑ์จะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น กลุ่มสุภาพสตรีให้หันมามีค่านิยมในการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น นอกจากสื่อโฆษณาสินค้าเครื่องดื่มแล้วสื่อในลักษณะบันเทิง เช่น ภาพยนตร์ ละคร หรือแม้กระทั่งเพลง ก็มีส่วนจูงใจผู้ชมให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้รวมทั้งสินค้าที่สะดวกต่อการซื้อหาที่มีอยู่อย่างดาษดื่นก็มีส่วนอย่างมากต่อการส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มประเภทนี้
ความเครียด
คุณสมบัติของแอลกอฮอล์สามารถทำให้ผู้ดื่มเกิดความรู้สึกผ่อนคลายลืมความทุกข์และเกิดความคึกคะนอง ทำให้ในหลาย ๆ ครั้ง การดื่มเพื่อลดความเครียดจึงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งของผู้ดื่ม และยังเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการดื่มอย่างต่อเนื่อง แต่จากการศึกษาพบว่าเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะทำให้เกิดความรู้สึกตรงกันข้าม คือ กระวนกระวาย เครียด หรือหงุดหงิดได้ง่าย โดยเฉพาะช่วงที่ระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเริ่มลดลง
สารแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์เป็นสารที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดการเสพติดได้โดยแอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความอยาก การเสพติดเป็นวงจรของสมองที่เกี่ยวกับความอยาก ความพึงพอใจ ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับการติดสารเสพติดทำให้ผู้เสพเกิดความพอใจและมีความต้องการใช้ซ้ำอีก หักห้ามใจไม่ได้ซึ่งนำไปสู่การติดในที่สุดและในหลาย ๆ ครั้ง ทำให้มีการกลับไปใช้สารนี้ใหม่อีกเพราะความอยาก ปัญหาของการเลิกแอลกอฮอล์จึงไม่ได้ "อยู่ที่ใจ" เพียงอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องการทำงานของสมองในส่วนของวงจรนี้ร่วมด้วย นอกจากนี้เมื่อได้มีการบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณและในระยะเวลาหนึ่งจะทำให้เกิดอาการติด "ทางร่างกาย" เกิดขึ้น นั่นคือเมื่อหยุดดื่มหรือเพียงแค่ลดปริมาณการดื่มลงก็จะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เหล่านี้ได้ เช่น กระสับกระส่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับ ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีอาการรุนแรง เช่น เกิดภาพหลอน ได้ยินเสียงแว่ว สับสน และมีอาการชักร่วมด้วย ทำให้ต้องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อระงับอาการเหล่านี้
กรรมพันธุ์
ในปัจจุบันพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างกรรมพันธุ์กับการติดแอลกอฮอล์
ปัจจัยทางชีวภาพอื่นๆ
พบว่าในคนที่มีการตอบสนองต่อแอลกอฮอล์ในลักษณะที่ดื้อต่อฤทธิ์ของสารนี้อาจต้องบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยจึงจะทำให้เกิดอาการมึนเมาได้ คนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะกลายเป็นคนติดแอลกอฮอล์เมื่อมีอายุมากขึ้น
บุคลิกภาพ
บุคคลที่มีลักษณะบุคลิกภาพแบบประหม่า วิตกกังวล ไม่มั่นใจ และถ้าการบริโภคแอลกอฮอล์ช่วยทำให้สิ่งเหล่านี้หายไป เช่น ทำให้รู้สึกกล้าและมั่นใจมากขึ้น จะเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดแอลกอฮอล์ นอกจากนี้บุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม เช่น ชอบความ ก้าวร้าว รุนแรง ไม่เกรงใจ และไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นไม่รู้สึกผิดในสิ่งที่ตนเองกระทำต่อผู้อื่น ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นคนติดแอลกอฮอล์เช่นกัน
การเรียนรู้
การเรียนรู้ว่าเมื่อตนเองได้บริโภคแอลกอฮอล์แล้วทำให้เกิดความสุข ความพึงพอใจ จะเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความอยากและมีการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง เรียกว่า อาการติดใจ ซึ่งความสุขความพึงพอใจเหล่านี้จะสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงขึ้นหลังจากเริ่มบริโภคได้ไม่นาน
ความเครียด
คนที่เครียดง่ายขาดทักษะในการปรับตัวหรือแก้ไขปัญหาอาจพบว่าการบริโภคแอลกอฮอล์ช่วยทำให้ลืมความเครียดได้ชั่วขณะ ในขณะที่ยังคงขาดทักษะในการแก้ไขปัญหาชีวิตคนเหล่านั้นจะหันมาพึ่งแอลกอฮอล์จนเกิดการติดขึ้นได้ในที่สุด
ภาวะดื้อต่อฤทธิ์แอลกอฮอล์
เมื่อบริโภคแอลกอฮอล์ไปได้ระยะหนึ่งจะเกิดการดื้อต่อฤทธิ์แอลกอฮอล์ขึ้นอาจเป็นเพราะเกิดการเผาผลาญของแอลกอฮอล์ในร่างกายได้มากขึ้น ทำให้ฤทธิ์ต่าง ๆ ของแอลกอฮอล์หมดไปอย่างรวดเร็วจึงทำให้ต้องดื่มในปริมาณที่มากขึ้นหรืออาจเกิดจากการที่ร่างกายโดยเฉพาะสมองของเรามีการปรับตัวในลักษณะที่เคยชินต่อฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อให้ได้ฤทธิ์ที่พึงประสงค์ดังเดิม
ภาวะขาดแอลกอฮอล์
เกิดอาการเช่นเดียวกับภาวะขาดสารเสพติดทั่ว ๆ ไป หรือที่เรียกกันว่า อาการลงแดง เนื่องจากการบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณหนึ่งอย่างต่อเนื่องจะเกิดผลต่อการปรับตัวของสมอง ดังนั้นเมื่อปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายลดลงจึงส่งผลต่อการทำงานของสมองทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย มือสั่น นอนไม่หลับ และต้องหวนกลับมาดื่มแอลกอฮอล์เพื่อระงับอาการเหล่านี้