เราคงเคยสังเกตุเห็นว่า เมื่อสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขหรือแมวไม่สบาย มันมักจะไปเล็มหญ้าหรือใบตะไคร้กิน บางทีเมื่อเราถูกน้ำร้อน หรือไฟลวกมือ ผู้ใหญ่จะใช้ว่านหางจระเข้มาทาที่แผล โดยบอกว่า ช่วยให้แผลหายเร็ว และจะไม่เป็นแผลเป็น หรือเป็นรอยด่าง จะเห็นได้ว่า หญ้า ตะไคร้
ว่านหางจระเข้ เป็นพืชที่มีคุณสมบัติช่วยรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยบางอย่างได้ เราเรียกพืชชนิดนี้ว่า สมุนไพร
ถ้าเราปลูกพืชสมุนไพรบางอย่างไว้ที่บ้าน เราจะได้ประโยชน์มาก เพราะสามารถใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างของเราได้ นับว่าสะดวก และไม่สิ้นเปลืองเงิน
พืชสมุนไพรที่เราควรปลูกไว้ เพราะใช้เป็นอาหาร และรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยบางอย่างได้นั้น มีหลายชนิดด้วยกัน เช่น ขิงและข่า เราใช้เหง้าสดหรือแห้งมาทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม รักษาอาการท้องอืด จุกเสียด ตะไคร้ เรานำมาทั้งต้นและราก สับเป็นท่อน ต้มกับน้ำและเกลือ ดื่มรักษาอาการปวดท้อง ท้องอืดได้เช่นกัน กล้วยน้ำว้า ถ้ารับประทานสดขณะยังห่ามอยู่ สามารถรักษาอาการท้องเดินได้ ขมิ้น เราใช้เหง้าตำผสมกับน้ำฝน คั้นน้ำทารักษากลากและเกลื้อน ตำลึง
เรานำใบสดมาตำ คั้นเอาน้ำมาทาแก้พิษแมลงกัดต่อย นอกจากนั้นยังมีพืชสมุนไพรอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่มีประโยชน์มากเช่นกัน เช่น ใบกะเพรา ฝรั่ง น้อยหน่า กระเทียม และมะนาว เป็นต้น
สมุนไพร หรือยาสมุนไพร ถึงแม้จะมีประโยชน์หลายประการ แต่เราก็ต้องมีความเข้าใจ
และมีความระมัดระวังในการใช้ เช่น ต้องระวังเรื่องความสะอาด ต้องใช้วิธีการและขนาดที่ระบุไว้
ต้องไม่ใช้นานเกินไป และถ้าอาการเจ็บป่วยไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดปกติหลังการใช้ ๓-๕ วัน ต้องรีบปรึกษาแพทย์
-------------------------------------------------
ปกติเมื่อเรามีอาการเจ็บป่วย เรามักจะไปซื้อหายาตามร้านขายยาทั่วไปมารับประทาน หรือไปหาหมอให้ช่วยรักษา อันที่จริง อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยของเราหลายอย่าง สามารถรักษาได้เอง ถ้าเรารู้จักใช้สมุนไพร ซึ่งเป็นพืชที่มีสรรพคุณ ในการรักษาโรคบางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานที่บางแห่ง เราไม่สามารถหาซื้อยาได้ สมุนไพรยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ
แต่เดิมมา ยาทำจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุต่างๆ ตามสภาพธรรมชาติ แต่ต่อมามีวิธีการปรับปรุง หรือแปรสภาพ โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ผลิตยาที่เรียกว่า ยาสังเคราะห์ ยาทำจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุตามสภาพธรรมชาตินี้ ยังไม่ได้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ เรียกว่า ยาสมุนไพร ถ้าผสมปรุง หรือ
แปรสภาพตามตำรายาแผนโบราณที่คณะรัฐมนตรีประกาศ อนุญาตให้ใช้ได้ เรียกว่า ยาแผนโบราณ
ในการปรุงยาสมุนไพรนั้น ผู้ปรุงจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับชื่อ และลักษณะของพืช สัตว์หรือแร่ธาตุที่นำมาใช้ ว่ามีรูปร่าง กลิ่น และสีเป็นอย่างไร และต้องรู้จักรสของสิ่งนั้นว่า มีคุณสมบัติเป็นยารสเย็น ร้อน สุขุม หรือฝาดหวาน ขม มัน เค็ม เผ็ดร้อน เพราะแต่ละรส จะมีสรรพคุณในการรักษาโรคไม่เหมือนกัน นอกจากนั้นยังต้องรู้ว่า ต้องใช้อะไรกี่อย่าง ประกอบกันเป็นเครื่องยา รวมทั้งรู้วิธีการปรุงยา ขนาด และปริมาณของยาด้วย วิธีการปรุงยาสมุนไพรมีหลายวิธี เช่น การต้ม การชง
การดอง การปั้นเป็นลูกกลอน การตำคั้นเอาน้ำกิน และการพอก เป็นต้น นอกจากนั้นผู้ปรุงยายังต้องรู้จักศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการปรุงยาด้วย เช่น กระสายยา หมายถึง ตัวละลาย ยาสะตุ หมายถึง การทำให้ยามีฤทธิ์อ่อนลง ประสะ หมายถึง การทำความสะอาด หรือการล้างยา เป็นต้น
บุคคลทั่วไป แม้จะยังไม่มีความรู้ในเรื่องการปรุงยาสมุนไพรดังกล่าว แต่ก็สามารถใช้สมุนไพรให้เป็นประโยชน์ได้ เพราะเรามีสมุนไพรหลายชนิดที่มีวิธีการปรุงง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และมีสรรพคุณในการนำมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยขั้นพื้นฐานได้ เช่น
สมุนไพร | วิธีใช้ | สรรพคุณ |
กระชาย | นำเหง้าแห้งมาต้มเอาน้ำดื่ม | แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ |
กระเทียม | ขูดผิวหนังส่วนที่เป็นเกลื้อน ฝาน หัวกระเทียมทาถูลงไป | แก้กลาก เกลื้อน |
ขิง | ฝนเหง้าขิงกับน้ำมะนาวผสมเกลือ เล็กน้อย ใช้กวาดคอ หรือจิบบ่อยๆ | ระงับอาการไอ และขับเสมหะ |
ขมิ้น | นำเหง้ามาตำจนละเอียดคั้นเอาน้ำ ใส่แผลสด | รักษาบาดแผลสด |
น้อยหน่า | นำใบหรือเมล็ดมาโขลกให้ละเอียด ผสมน้ำ ทาศีรษะทิ้งไว้ | ฆ่าเหาและทำให้ไข่เหาฝ่อ |
ฝรั่ง | ใช้ใบโขลกพอแหลกใส่ลงในน้ำ ต้มให้เดือด ใส่เกลือ นำน้ำมาดื่ม | แก้ท้องร่วง |
จะเห็นได้ว่า สมุนไพรสามารถช่วยรักษาโรคและอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ได้หลายอย่าง เราเคยมีสมุนไพรนานาชนิดจำนวนมาก แต่ปัจจุบันสมุนไพรหายากขึ้นทุกที เนื่องจาก ป่าไม้ถูกทำลายไปมาก สมุนไพรมีคุณประโยชน์มากมาย เราจึงจำเป็นต้องช่วยกันอนุรักษ์สมุนไพร ปลูกและกระจายพันธุ์ให้มาก และสนับสนุนให้มีการผลิตยาสมุนไพร ให้มีรูปแบบที่รับประทานได้ง่าย เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบันโดยทั่วไป