ในโลกนี้มีสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของมนุษย์มากมาย หอยเป๋าฮื้อเป็นสัตว์ทะเลอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้เป็นอาหารนอกจากนี้ยังสามารถใช้เปลือกทำเป็นเครื่องประดับที่มีค่าทำให้หอยเป๋าฮื้อเป็นสัตว์ทะเลที่มีราคาแพงจึงได้มีการศึกษาค้นคว้าเพื่อเพิ่มจำนวนหอยเป๋าฮื้อในธรรมชาติและได้มีการเพาะเลี้ยงเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน และอีกหลายประเทศในแถบยุโรปและอเมริการวมทั้งประเทศไทยต่างก็นิยมบริโภคหอยเป๋าฮื้อ หอยเป๋าฮื้อที่พบทั่วโลกมีประมาณ ๑๐๐ ชนิด แต่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนโดยเฉพาะในประเทศแถบทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือในประเทศไทยพบหอยเป๋าฮื้อที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติเพียง ๓ ชนิด และบางชนิดก็มีการเพาะเลี้ยงด้วย
หอยเป๋าฮื้อเป็นหอยฝาเดียว คือ มีเปลือกเดียว มีขนาด รูปร่าง และสีของเปลือกแตกต่างกันไปตามสภาพถิ่นที่อยู่และชนิดซึ่งจะมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ หอยเป๋าฮื้อขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบมีความยาวเปลือก ๒๗ เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวรวมทั้งเปลือกถึง ๑.๗ กิโลกรัม หอยเป๋าฮื้อทั้งเปลือกมีรูปร่าง ค่อนข้างแบนมีรูปทรงตั้งแต่ค่อนข้างกลมไปถึงยาวรี ยอดเตี้ยคล้ายจานเปลือกมีหลายสี เช่น สีเขียวมะกอก สีแดง สีส้ม เมื่อจับหงายขึ้นมาเปลือกมีลักษณะคล้ายใบหูมีรูเป็นแนวตามขอบด้านบนของเปลือก คนไทยจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หอยร้อยรู” แต่จะไม่มีฝาปิดด้านล่างของเปลือกเมื่อจับหอยเป๋าฮื้อที่มีชีวิตอยู่หงายขึ้นก็จะเห็นเท้าของหอยซึ่งประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่หนาและแข็งแรง เท้าเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของหอยเป๋าฮื้อและเป็นส่วนที่มีราคาแพงที่สุดเพราะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคกล้ามเนื้อเท้ามีหลายสี เช่น สีขาว สีครีม สีส้ม สีดำ
หอยเป๋าฮื้อซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า แอบะโลนี (Abalone) เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังประเภทหอยฝาเดียวมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น หอยโข่งทะเล หอยร้อยรู เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพราะใช้เนื้อเป็นอาหารและใช้เปลือกเป็นเครื่องประดับที่มีราคาแพง หอยเป๋าฮื้อมีหลายชนิดทุกชนิดจัดอยู่ในวงศ์ฮาลิโอทิดี (Haliotidae) สกุลฮาลิโอทิส (Haliotis) ส่วนใหญ่พบในเขตอบอุ่น และเขตร้อนตามบริเวณชายฝั่งที่มีพื้นแข็งและมีแสงสว่างส่องถึงซึ่งได้แก่ หาดหิน และแนวปะการังตามเกาะแก่งที่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำเค็ม กินอาหารจำพวกพืชทะเลที่เกาะติดตามก้อนหินและแนวปะการัง เช่น ไดอะตอมประเภทเกาะติดและสาหร่ายขนาดเล็กที่เกาะตามโขดหินใต้น้ำ หลบซ่อนตัวตามซอกหินและแนวปะการังในเวลากลางวันและออกหากินในเวลากลางคืน
ลักษณะเด่นของหอยเป๋าฮื้อ คือ มีรูจำนวนหนึ่งที่เป็นแนวตามขอบด้านบนของเปลือก จำนวนของรูนี้เป็นลักษณะหนึ่งที่ใช้ในการจำแนกชนิดของหอยเป๋าฮื้อ รูเปิดเหล่านี้มีหน้าที่ช่วยในการหายใจ การขับถ่าย และการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ ด้านล่างของเปลือกไม่มีฝาปิดซึ่งต่างจากหอยฝาเดียวที่มีวิวัฒนาการสูงกว่า เช่น หอยนมสาว หอยหวาน ที่มีฝาปิดเท้าของหอยเป๋าฮื้อมีขนาดใหญ่เห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของหอยเป๋าฮื้อ เนื่องจากใช้สำหรับการเคลื่อนที่และยึดเกาะกับพื้นผิวโดยประกอบด้วยส่วนของกล้ามเนื้อที่มีความหนาและแข็งแรง เท้าของหอยเป๋าฮื้อเป็นส่วนที่คนนิยมรับประทานและมีราคาแพงที่สุด สีของกล้ามเนื้อเท้ามีหลายสี เช่น สีขาว สีครีม สีส้ม สีดำ ในโลกนี้มีหอยเป๋าฮื้อประมาณ ๑๐๐ ชนิด มีประมาณ ๒๐ ชนิด ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจในเขตทะเลไทยพบหอยเป๋าฮื้อ ๓ ชนิด แต่มีเพียงชนิดเดียวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ ฮาลิโอทิส แอสสินินา (H. asinina) ในการเพาะพันธุ์ต้องเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีและใช้วิธีการที่เหมาะสมในการควบคุมการปฏิสนธิจึงจะได้ลูกหอยจำนวนมากและการที่ตัวอ่อนจะมีชีวิตรอดได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงซึ่งต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับธรรมชาติของหอยเป๋าฮื้อ ในการเลี้ยงลูกหอยมีระบบการเลี้ยง ๒ ระบบใหญ่ คือ การทำฟาร์มในทะเลและการทำฟาร์มบนบกซึ่งการทำฟาร์มบนบกจะแบ่งออกเป็น แบบระบบเปิด ระบบปิด และกึ่งปิดกึ่งเปิด
การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ ต้องจัดสภาพให้ใกล้เคียงกับความเป็นอยู่ตามธรรมชาติโดยจะต้องคำนึงถึงคุณภาพของน้ำ ความเค็ม อุณหภูมิ ความเป็นกรดด่าง การมีน้ำสะอาดไหลผ่านตลอดเวลา มีที่หลบแดดในเวลากลางวัน การให้อาหารที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติและเวลาที่เหมาะสมสำหรับการให้อาหาร ขนาดของลูกหอยที่เหมาะสมในการนำมาเลี้ยงควรมีความยาวของเปลือก ๐.๕ - ๓ เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการเลี้ยงว่าจะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายสำหรับนำไปเลี้ยงต่อหรือเพื่อจำหน่ายสำหรับนำไปบริโภคตลอดจนความเหมาะสมกับระบบการเลี้ยง ความสามารถ และความพอใจของผู้เลี้ยง การเลี้ยงจะใช้เวลาตั้งแต่ ๖ เดือน - ๒ ปี ตามขนาดที่เริ่มเลี้ยงและขนาดที่จำหน่าย เช่น ถ้าจะเลี้ยงให้ได้ขนาดกลางที่เรียกกันว่าขนาดค็อกเทลเพื่อจำหน่าย สำหรับการบริโภคจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ ๑๒-๑๘ เดือน ในการคัดเลือกขนาดของหอยที่จะนำมาเลี้ยงนั้นถ้าใช้ลูกหอยที่มีขนาดเล็กมากก็จะมีความเสี่ยงสูงเพราะต้องดูแลเอาใจใส่และใช้เวลามาก แต่ก็มีข้อดีคือต้นทุนในการเพาะเลี้ยงจะต่ำ ในการเลี้ยงจำเป็นต้องใช้หอยที่มีขนาดเหมาะสมและมีความหนาแน่นของหอย (จำนวนหอยต่อ ๑ หน่วยพื้นที่) ที่เหมาะสม เช่น ควรเริ่มเลี้ยงหอยที่มีความยาวเปลือก ๑ เซนติเมตร เพราะหอยขนาดนี้สามารถฝึกให้กินสาหร่ายใบซึ่งเป็นอาหารที่หอยกินตามธรรมชาติหรืออาหารสำเร็จรูปได้ไม่ยาก โดยควรเริ่มต้นด้วยการให้มีความหนาแน่น ๑,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ ตัวต่อตารางเมตร ให้มีน้ำสูงประมาณ ๕๐ - ๘๐ เซนติเมตร การให้อาหารและการดูแลทำความสะอาดต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสมสิ่งที่สำคัญมากคือ ต้องมีการติดตามและควบคุมคุณภาพน้ำในระบบสิ่งที่ต้องคอยติดตาม และควบคุม คือ อุณหภูมิของน้ำ ความเค็ม ความเป็นกรดด่าง ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำและปริมาณแอมโมเนียรวม
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้ดีที่สุดแล้ว แต่เราก็ไม่สามารถทำให้สภาพแวดล้อมต่าง ๆ เหมือนกับสภาพตามธรรมชาติจริง ๆ ที่หอยอาศัยอยู่จึงก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น ลูกหอยเจริญเติบโตช้า หอยตายเพราะความเครียดและเกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายในการเพาะเลี้ยง โรคของหอยเป๋าฮื้อเกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด เช่น ไวรัส แบคทีเรีย รา โปรโตซัว ตลอดจนปรสิตภายนอกจำพวกปลิงใสและหนอน
อาการของโรคที่พบบ่อย ๆ ในระบบการเลี้ยง ได้แก่