Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้

Posted By Plookpedia | 16 มิ.ย. 60
64,012 Views

  Favorite

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้

      ผักและผลไม้เป็นผลิตผลที่ค่อนข้างบอบบางเน่าเสียได้ง่ายผักและผลไม้ที่เก็บเกี่ยวมาแล้วก็ยังมีชีวิตอยู่ มีการหายใจ มีการคายน้ำเช่นเดียวกับเมื่อยังไม่ได้เก็บเกี่ยว จึงมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น การเปลี่ยนสี การอ่อนนุ่ม การเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล ก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งตัวผลิตผลเอง คุณค่าทางอาหาร คุณค่าทางด้านรสชาติในการรับประทาน รวมทั้งการสูญเสียเงินทุนที่ใช้จ่ายไปเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าแรงงาน ค่าเก็บเกี่ยว ค่าขนส่งและการตลาด 

 

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้

 

ผักกาด

 

      แนวทางในการลดการสูญเสียผลิตผลเหล่านี้ก็คือต้องพยายามลดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังกล่าว วิธีการที่สำคัญ ได้แก่ การควบคุมอุณหภูมิ และความชื้น ในการเก็บรักษา ส่วนการควบคุมก๊าซในภาชนะบรรจุ การเคลือบผิว ฯลฯ เป็นวิธีการเสริมเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น  ในประเทศไทยแม้ว่าอาหารที่ผลิตได้จากผักและผลไม้จะมีมากเกินความต้องการบริโภคภายในประเทศสามารถส่งเป็นสินค้าออกได้มากพอสมควรแต่ปริมาณที่ส่งออกอาจเพิ่มขึ้นได้อีก  ถ้าเรามีวิธีการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่ดีเพราะลูกค้าต่างประเทศที่จะซื้อผักและผลไม้จากเรานั้น ล้วนมีฐานะดีและต้องการของที่มีคุณภาพดีเยี่ยมเท่านั้น

 

ส้ม

 

 

 

 

 

      แม้ว่าประเทศไทยจะผลิตอาหารได้มากเกินความต้องการบริโภคภายในประเทศจนสามารถส่งเป็นสินค้าออกได้ปีละนับแสนล้านบาท  แต่ส่วนใหญ่เป็นธัญพืชมีผักและผลไม้เป็นเพียงส่วนน้อย  ทั้ง ๆ ที่ผักและผลไม้เป็นสินค้าที่จำหน่ายได้ราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมาก  สาเหตุที่ผักและผลไม้ยังมีการส่งออกไม่มากเนื่องจากมีปัญหาด้านการเก็บรักษา การบรรจุหีบห่อ  และการขนส่งที่จะทำให้สินค้าคงความสด ไม่เน่าเสีย หรือเสื่อมคุณภาพเมื่อไปถึงตลาดของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ความรู้เรื่องการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวจึงเป็นเรื่องสำคัญผักและผลไม้ที่เก็บเกี่ยวมาแล้วยังมีชีวิตอยู่จึงมีกระบวนการทางชีววิทยาเกิดขึ้นตลอดเวลา ได้แก่ การหายใจ การคายน้ำ การผลิตสารเอทิลีน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของน้ำตาลและแป้ง การปรากฏสีเหลืองหรือสีแดงขึ้นแทนสีเขียว เป็นต้น  คุณภาพของผักและผลไม้ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บเกี่ยวและระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวเราจึงต้องเลือกวิธีการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมสำหรับผลิตผลแต่ละชนิด 

 

การเก็บเกี่ยว

 

การเก็บเกี่ยว

 

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

      ผลิตผลที่จำหน่ายทันทีในตลาดใกล้แหล่งผลิตอาจไม่จำเป็นต้องมีการปฏิบัติภายหลังการเก็บเกี่ยวเลย แต่สำหรับตลาดที่อยู่ห่างไกลออกไปนั้นนอกจากต้องใช้เวลาในการขนส่งนานแล้วยังต้องแข่งขันกับผู้ผลิตจากที่อื่น ๆ  ในด้านคุณภาพและราคาผลิตผลสำหรับตลาดเหล่านี้จึงจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องภายหลังการเก็บเกี่ยว

๑. การทำความสะอาด ตัดแต่ง และคัดเลือก 

      ผักและผลไม้ที่เก็บเกี่ยวมาแล้วอาจมีสิ่งสกปรกหรือคราบต่าง ๆ ติดอยู่ จึงควรทำความสะอาดโดยใช้น้ำ ลม หรือแปรง ขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตผลแล้วจึงตัดแต่งผลิตผลส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป จากนั้นจึงคัดเลือกผลิตผลเอาแต่ผลที่ดีและขนาดที่สม่ำเสมอกัน

 

การทำความสะอาดผลผลิต

 

การคัดเลือกผลผลิต

 

๒. การควบคุมโรคและแมลง 

      เช่น พ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคตั้งแต่อยู่ในแปลงควบคุมแมลงที่ติดมากับผลที่เก็บเกี่ยวแล้วโดยใช้แปรงปัด น้ำฉีด หรือลมเป่า

๓. การบรรจุ 

      การบรรจุหีบห่อที่เหมาะสมจะช่วยให้การตลาดของผักและผลไม้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ยืดอายุของผักและผลไม้ให้อยู่ได้นานขึ้นแต่ไม่สามารถปรับปรุงคุณภาพของผลิตผลให้ดีขึ้นได้จึงต้องบรรจุเฉพาะผลิตผลที่มีคุณภาพดีเท่านั้น

 

การบรรจุ

 

การบรรจุ

 

๔. การทำให้เย็น 

      การลดอุณหภูมิและการเก็บรักษาผักและผลไม้ให้มีอุณหภูมิต่ำอยู่เสมอจะช่วยรักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาได้  วิธีการทำให้เย็นมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น ใช้อากาศเย็น น้ำเย็น หรือน้ำแข็งเป็นตัวกลาง เป็นต้น

๕. การเก็บรักษา

      มีวัตถุประสงค์เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้ออกไปให้นานที่สุดซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง  ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่เหมาะสมอย่างประณีตและรวดเร็วรวมทั้งการปรับสภาพแวดล้อมระหว่างการเก็บรักษาให้เหมาะสมเพื่อคงความสดของผักและผลไม้  ในขณะเดียวกันก็ต้องชะลอการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ด้วยโดยการลดอุณหภูมิให้ต่ำที่สุดเท่าที่ผักผลไม้จะทนได้และเพิ่มความชื้นให้สูงที่สุดแต่ต้องไม่เกิดการควบแน่นเป็นหยดน้ำ

 

เก็บกล้วย

 

๖. การขนส่ง 

      ยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งผักและผลไม้อาจเป็นรถยนต์ รถไฟ เรือ หรือเครื่องบิน การจะเลือกใช้การขนส่งรูปแบบไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะทางและระยะเวลาในการขนส่ง ปริมาณ และราคาของผลิตผล ความยากง่ายในการเสื่อมสภาพ และอัตราค่าขนส่ง เป็นต้น

 

การขนส่ง

 

๗. การบ่มผลไม้ 

      ผลไม้หลายชนิดมักเก็บเกี่ยวในขณะที่ยังไม่สุกเพื่อความสะดวกในการเก็บรักษาและการขนส่งหรือถ้าหากปล่อยให้สุกเองก็จะสุกไม่พร้อมกันทุกผล  ดังนั้นเมื่อจะนำออกจำหน่ายหรือบริโภคจึงจำเป็นต้องทำให้สุกโดยการบ่มซึ่งมีหลายวิธี เช่น การใช้ถ่านแก๊ส การใช้ก๊าซเอทิลีน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow