Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เชื้อเพลิง ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อม

Posted By Plookpedia | 16 มิ.ย. 60
13,451 Views

  Favorite

เชื้อเพลิง ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อม

      รอบ ๆ ตัวเรามีสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ดิน อากาศ น้ำ ดิน แร่ธาตุ พืช สัตว์ ฯลฯ และยังมีสิ่งแวดล้มที่มนุษย์สร้างขึ้นอีกมากมายหลายอย่าง เช่น บ้านเรือน อาคารที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม ถนน สะพาน เขื่อน คลอง และยานยนต์ชนิดต่าง ๆ 

 

เชื้อเพลิง ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อม

 

      การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้มรอบตัวเรามีอยู่ ๒ ลักษณะ ลักษณะแรกเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น พืช สัตว์  เมื่อเกิดมาตามธรรมชาติแล้วก็จะเจริญเติบโตในที่สุดก็จะตายแล้วสลายกลายเป็นส่วนต่าง ๆ ของพื้นผิวโลก คือ ดิน น้ำ และอากาศ การเปลี่ยนแปลงอีกลักษณะหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น การเกิดไฟไหม้ป่า การระเบิดของภูเขาไฟ และที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยการกระทำของมนุษย์ เช่น คุณภาพของอากาศที่เสื่อมลง  การเกิดฝนกรดและการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก  ซึ่งล้วนแต่เป็นผลมาจาการเผาไหม้เชื้อเพลิงโดยที่มนุษย์ต้องการใช้พลังงานความร้อนและกำลังงานกลเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนยานยนต์และผลิตไฟฟ้า  นอกจากนี้ก็ยังมีการเผาขยะและสิ่งที่ต้องการทำลาย เช่น ขยะจากครัวเรือน จากโรงพยาบาล จากโรงงาน และการเผายาเสพติด ฯลฯ  การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม  ดังกล่าวข้างต้นมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งในด้านที่ดีและเป็นประโยชน์และในด้านที่เป็นโทษหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

 

เชื้อเพลิง ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อม

 

 

 

 

      ยานยนต์ คือ สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นและมีอยู่หลายชนิด เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก เรือยนต์ เรือหางยาว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ช่วยให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็ว กว่าในอดีตอย่างมาก  ส่วนเครื่องยนต์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อช่วยทุ่นแรงและช่วยในการทำงาน เช่น รถไถนา รถบดถนน รถแทรกเตอร์ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องยนต์ที่ใช้ในโรงงานต่าง ๆ ทำให้มนุษย์มีผลิตภัณฑ์มากมายหลายชนิดที่ทำให้การดำรงชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น  ส่วนที่เป็นผลเสียต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นก็เนื่องมาจากยานยนต์และเครื่องยนต์ต่าง ๆ ต้องมีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดพลังงานที่ทำให้ยานยนต์สามารถขับเคลื่อนได้และเครื่องยนต์สามารถทำงานได้  การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงนี้เองก็เป็นสาเหตุทำให้อากาศเสีย คือ เกิดมลพิษทางอากาศขึ้นซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพของมนุษย์เราทุกคนจะต้องช่วยกันแก้ไขให้ดีขึ้น 

 

เชื้อเพลิง ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อม

 

เชื้อเพลิง ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อม

 

      เมื่อประมาณ ๑๓๐ ปีกว่ามานี้เองที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์เครื่องยนต์ขึ้นใช้งานได้ เครื่องยนต์รุ่นแรกใช้ก๊าซถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงต่อมาอีก ๕๐ ปี  จึงได้มีการพัฒนาเครื่องยนต์และเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงเหลว ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล หรือโซลา ซึ่งได้จากการกลั่นน้ำมันดิบและต่อมาได้มีผู้คิดที่จะนำเชื้อเพลิงอื่นมาใช้ทดแทน เช่น ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจีแอลกอฮอล์  น้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชชนิดอื่นที่หาได้ภายในประเทศ  ไม่ว่าเชื้อเพลิงชนิดใดก็ตามเมื่อทำให้เกิดการเผาไหม้จะมีไอเสียเกิดขึ้นและกระจายออกสู่บรรยากาศซึ่งมีผลกระทบทำให้คุณภาพของอากาศเกิดภาวะมีมลพิษ  เมื่อมนุษย์หายใจเอาอากาศที่มีสารพิษเข้าไปก็จะมีผลเสียต่อสุขภาพส่วนจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของสารที่มีอยู่ในเชื้อเพลิงนั้น ๆ 

 

เชื้อเพลิง ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อม

 

ชนิดของเชื้อเพลิง
      เชื้อเพลิงมีหลายชนิด ได้แก่ เชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง เช่น ถ่านหิน ถ่านไม้ ฟาง หญ้าแห้ง ฟืน กระดาษ ผ้า ยาง ฯลฯ เชื้อเพลิงที่เป็นของเหลว เช่น น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันเบนซิน แอลกอฮอล์ ฯลฯ เชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซ เช่น ก๊าซถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลี่ยมเหลว ฯลฯ   เมื่อเชื้อเพลิงเผาไหม้จะเกิดเขม่า ควันดำ ฝุ่นละออง ไอน้ำ และก๊าซต่าง ๆ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซค์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซค์  ทำให้เกิดระคายเคืองต่อนัยน์ตาและระบบทางเดินหายใจ  ทำให้หลอดลมและเยื่อหุ้มปอดอักเสบและอาจเกิดมะเร็งที่หลอดลมและปอดได้ยิ่งไปกว่านั้นถ้ามนุษย์หายใจเอาอากาศที่มีสารพิษเข้าไปมาก ๆ จะทำให้มึนงง หมดสติ และเสียชีวิตได้  ถ้าในเชื้อเพลิงมีสารตะกั่วเจือปนก็จะก่อให้เกิดไอพิษซึ่งทำให้มีอาการปวดท้องทำลายระบบประสาทส่วนกลางและไขกระดูกทำให้เป็นโรคโลหิตจาง  ดังนั้นตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่บนท้องถนนนาน ๆ ก็อาจได้รับไอพิษจากสารตะกั่วทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตได้

 

เชื้อเพลิง ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อม

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow