Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์

Posted By Plookpedia | 16 มิ.ย. 60
46,201 Views

  Favorite

การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์

 

หญ้าเป็นอาหารของสัตว์หลายชนิด ไม่เฉพาะแต่ช้าง ม้า วัว ควาย แพะ แกะ ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ สัตว์ตัวเล็กๆ เช่น กระต่าย หรือหนูบางชนิด ก็กินหญ้าเช่นเดียวกัน บางครั้งเด็ก ๆ อาจจะเคยเห็นแมวหรือสุนัขที่บ้านเล็มยอดหญ้า พอกินไปได้สักครู่ มันก็อ้วกออกมา มีหญ้าออกมาด้วย หญ้าบางชนิดเป็นยา ซึ่งแมวและสุนัขรู้จักดี เวลามันไม่สบายเล็ก ๆ น้อย ๆ มันก็หายากินเอง เพื่อรักษาตัว แต่ถ้ามันเป็นมาก ๆ มันดูแลตัวเองไม่ไหว คนก็ต้องช่วยพามันไปหาหมอ และรักษาจนกว่าจะหาย

 

 

นอกจากหญ้าจะช่วยคลุมดิน ทำให้เป็นสนามสวยงามแล้ว หญ้ายังเป็นยา และอาหาร สำหรับสัตว์ด้วย สัตว์พวกตัวโต ๆ ต้องการเนื้อที่กว้าง ๆ สำหรับกินหญ้า เพื่อมันจะได้เลือกกินหญ้าอ่อน ๆ ซึ่งคงจะอร่อย เหมือนเวลาเรารับประทานยอดผักกรอบ ๆ หวานปะแล่ม ๆ

 

เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ จึงมักจะพาวัวควายของเขาไปกินหญ้ากลางทุ่ง สัตว์เหล่านั้นจะได้เลือกกินหญ้าได้ตามใจชอบ แต่บางครั้ง หญ้าที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติมีไม่พอ หรือที่มีอยู่ก็ให้คุณค่าอาหารแก่สัตว์เหล่านั้นได้ไม่มากนัก จึงมีผู้คิดหาวิธีปลูกหญ้า ทำทุ่งเลี้ยงสัตว์ เตรียมหญ้าอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ และมีจำนวนมาก เพียงพอกับฝูงสัตว์ที่เลี้ยงไว้

 

 

การปลูกหญ้าทำทุ่งเลี้ยงสัตว์ให้มีคุณภาพที่เอื้อประโยชน์แก่สัตว์ เป็นเรื่องที่ใช้ความรู้ ทั้งด้านพืช ดิน ปุ๋ย รวมทั้งการเลี้ยง และดูแลสัตว์ด้วย พื้นที่ที่จะใช้ปลูก อาจทำได้ในพื้นที่ขนาดต่าง ๆ เช่น อาจปลูกแบบหญ้าสวนครัว ในพื้นที่ที่ว่าง สำหรับตัดให้สัตว์กิน หรือปลูกเป็นทุ่งใหญ่ สำหรับปล่อยสัตว์เข้าไปแทะเล็ม หรืออาจปลูกผสมผสานแซมในสวนไม้ผล เช่น มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ แล้วเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไป ทำให้เกิดรายได้เสริมแก่ผู้เลี้ยงสัตว์ไปในตัว

 

หญ้าที่จะนำมาปลูก ก็จะต้องผ่านการคัดเลือก เพื่อให้ได้ พันธุ์ที่ดี และมีคุณภาพ เกษตรกรต้องศึกษา เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม และยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเตรียมดิน การปลูก รวมทั้งการดูแล ให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ของสัตว์เหล่านั้น

 

 

การเลือกพันธุ์หญ้า 

ในการเลือกพันธุ์หญ้า เพื่อจะนำมาปลูกเป็นอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพนั้น มีเกณฑ์ในการเลือกดังนี้

 

๑. เลือกพันธุ์หญ้าให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ เช่น ในที่ดอน อาจใช้หญ้าต่าง ๆ ได้หลายพันธุ์ เช่น กินนี รูซี ซิกแนล ถั่วลาย หรือพันธุ์อื่น ๆ ที่สังเกตได้ว่า ขึ้นงามในที่ดอน

 

        • ในพื้นที่ลุ่ม การระบายน้ำไม่ดี อาจใช้พันธุ์ปุลิแคตูลัม หรือหญ้าขน

        • ในที่เนินสูง อาจใช้หญ้าซิกแนล เซตาเรีย และกัวเตมาลา

        • ในพื้นที่สวนไม้ผล ซึ่งมีร่มเงา แสงแดดน้อย เช่น สวนมะพร้าว อาจใช้หญ้า กรีนแพนิค กินนี ถั่วลาย และหญ้าซิกแนล

 

๒. เลือกพันธุ์ให้เหมาะกับวิธีการเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงโคกระบือแบบปล่อยทุ่ง ให้สัตว์แทะเล็มไปเรื่อย ๆ ควรใช้หญ้าที่ทนต่อการเหยียบย่ำแทะเล็ม เช่น ซิกแนล รูซี กินนี และถั่วฮามาตา เป็นต้น

 

หญ้าพันธุ์ดีโคชอบกิน

 

ถ้าเลี้ยงโดยวิธีตัดหญ้าให้กิน แบบหญ้าสวนครัว ควรเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะเป็นกอ ไม่เลื้อย เพื่อสะดวกแก่การตัดหรือเกี่ยวด้วยมือ เช่น หญ้าเนเปียร์ เฮมิล และเซตาเรีย เป็นต้น

 

 

๓. เลือกพันธุ์หญ้าที่มีคุณค่าอาหารสูง พันธุ์หญ้าที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๑ และ ๒ ล้วนเป็นพันธุ์ที่ได้ผ่านการคัดเลือกแล้วว่า มีคุณภาพดี และให้คุณค่าอาหารสูง เพียงเลือกให้เหมาะกับพื้นที่ที่ต้องการปลูก และควรใช้พืชในกลุ่มถั่วปลูกปนด้วยเสมอ เพราะมีสารอาหารประเภทโปรตีนสูง

 

๔. เลือกพันธุ์หญ้าให้เหมาะกับการใช้ประโยชน์ ควรคำนึงว่า จะต้องการหญ้าไปทำอะไร เช่น ใช้ปลูก เพื่อการแทะเล็ม หรือทำหญ้าหมัก หญ้าแห้ง ถ้าต้องการทำหญ้าหมัก ควรใช้ต้นข้าวโพด ข้าวฟ่าง หญ้าเนเปียร์ อย่างไรก็ตาม การทำหญ้าหมักอาจใช้หญ้าอื่น ๆ ก็ได้ แต่อาจต้องมีวิธีการทำเป็นพิเศษ เช่น เติมสารบางอย่างลงไปผสม

 

แปลงทดลองพันธุ์หญ้า

 

๕. เลือกพันธุ์หญ้าให้เหมาะกับชนิดสัตว์เลี้ยง เช่น การเลี้ยงโค กระบือ ควรเลือก พันธุ์ที่ทนต่อการเหยียบย่ำ เพราะโคกระบือแทะเล็มและเหยียบย่ำทำลายทุ่งหญ้าอย่างรุนแรง ควรปลูกหญ้าซิกแนล กินนี และฮามาตา จะเหมาะสม ในกรณีการเลี้ยงแกะ ไม่ควรใช้หญ้ารูซี เพราะมีสารพิษจากเชื้อราบางชนิดซึ่ง แกะแพ้มาก หรือการเลี้ยงสุกร ไม่ควรใช้ใบกระถินเลี้ยง เพราะจะทำให้การผสมพันธุ์ผลิตลูกไม่ดีเท่าที่ควร

เมื่อเลือกพันธุ์ได้แล้ว ต่อไปเกษตรกรก็จะต้องเตรียมดิน เตรียมเมล็ดพันธุ์ และลงมือปลูก รวมทั้งดูแลรักษา เพื่อให้ได้ผลิตผลอย่างเต็มที่ ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้

 

แปลงพันธุ์พืชอาหารสัตว์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์

 

การเตรียมดิน

เนื่องจากพืชอาหารสัตว์ต้องการแสงแดดในการเจริญเติบโต ดังนั้นในแปลงปลูกหญ้า จำเป็นต้องโค่นตัดต้นไม้ออกให้มากที่สุด แต่ควรเหลือต้นไม้ใหญ่ไว้เป็นร่มเงาแก่สัตว์ด้วย ประมาณ ๑ ต้น ต่อพื้นที่ ๕ ไร่ เมื่อโค่นแล้ว จะต้องเก็บเผาเศษไม้ให้หมด มิฉะนั้นเศษไม้จะทำให้อุปกรณ์การไถปลูกหญ้าเสียหาย

 

ตลาดรับซื้อเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์จากเกษตรกร

 

หลังจากโค่นตัดต้นไม้แล้ว จะต้องไถและพรวนย่อยดินให้ละเอียด เพื่อให้เมล็ดหญ้าฝังตัวลงในดินได้สะดวก เมล็ดหญ้าบางพันธุ์ มีขนาดเล็ก ก้อนดินที่โตมากจะทับถมเมล็ดหญ้าลึกเกินไป ทำให้เมล็ดเน่าเสียหายได้ นอกจากนั้น การไถยังเป็นการทำลายวัชพืชอีกด้วย การไถพรวนดินควรไถในช่วงต้นฤดูฝน เพราะดินไม่ชื้นมากเกินไป ฝนชุก จะทำให้เนื้อดินเสีย เป็นหลุมเป็นบ่อ และจับตัวแข็ง ไม่เหมาะกับการงอกของเมล็ดหญ้า

 

ห้องเก็บเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ ซึ่งควบคุมอุณหภูมิที่ระดับ๑๕ องศาเซสเซียส

 

พื้นที่ที่เป็นที่ลาดเขา ควรไถตามแนวขวางของที่ลาดเขา เพื่อป้องกันฝนชะล้างดิน

ในกรณีพื้นที่ทุ่งหญ้ามีขนาดเล็ก เกษตรกรใช้โคหรือกระบือไถเตรียมดิน แต่ปัจจุบันมีฟาร์มเลี้ยงโคขนาดใหญ่เกิดขึ้นมาก จึงต้องใช้เครื่องจักร ประกอบด้วยรถแทรกเตอร์ จานไถ และจานพรวน ค่าจ้างไถเตรียมด้วยเครื่องจักร ใน พ.ศ.๒๕๓๒ ประมาณไร่ละ ๒๕๐ บาท โดยไถ ๒ ครั้ง

หากดินในพื้นที่เป็นดินเปรี้ยว เกษตรกรควรขอคำแนะนำจากนักวิชาการด้านดิน เพื่อปรับปรุงดินให้เหมาะต่อการทำทุ่งหญ้า ทั้งนี้ทำได้โดยเก็บตัวอย่างดิน ส่งไปวิเคราะห์ เช่น ส่งไปที่กองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร บางเขน กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐

 

การแยกคัดเมล็ดพันธุ์หญ้าด้วยเครื่องแยกเมล็ดพันธุ์

 

การเตรียมเมล็ดพันธุ์ 

การเตรียมเมล็ดพันธุ์ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี คุณภาพของเมล็ดพันธุ์พิจารณาจากความงอก และสิ่งเจือปน เมล็ดที่มีคุณภาพดี มีอัตราความงอกสูง และมีสิ่งเจือปนน้อย ทั้งสองอย่างนี้วัดค่าเป็นส่วนร้อยของปริมาณเมล็ด

 

มาตราฐานของคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์
พันธุ์
ความงอกไม่น้อยกว่าร้อยละ
ความบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ
หญ้ารูซี
๓๐
๗๐
หญ้าเฮมิล
๓๐
๗๐
หญ้ากินนี
๒๐
๗๐
ถั่วฮามาตา
๒๕
๗๐
กระถิน
๕๐
๙๕
หญ้าโรด
๔๐
๗๐
หญ้าปลิแคตูลัม
๔๐
๖๐

 

เมล็ดพันธุ์ที่หมดระยะพักตัวแล้วของหญ้าบางพันธุ์ เช่น กินนี เฮมิล บัฟเฟิล รูซี จะไม่งอก หรืองอกน้อยมาก เมล็ดที่ยังไม่สุกเต็มที่หลังเก็บเกี่ยว ต้องการพักตัวระยะหนึ่ง อาจนานตั้งแต่ ๔-๘ เดือน ควรใช้เมล็ดที่เก็บไว้ข้ามปี แต่ไม่เกินสองปี

 

การชั่งเมล็ดพันธุ์หญ้า

 

นอกจากนั้นถั่วพืชอาหารสัตว์บางชนิด เช่น ถั่วลาย ต้องการเชื้อไรโซเบียม ช่วยในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้เป็นปุ๋ย เชื้อดังกล่าวเป็นบัคเตรีกลุ่มหนึ่ง อาศัยอยู่ในปมรากถั่ว มีคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจน ทำให้ถั่วโตเร็ว งอกงาม หาซื้อเชื้อนี้ได้ จากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีโรงงานผลิต

 

ปมรากถั่วลาย มีบัคเตรี ช่วยตรึงธาตุไนโตรเจน จากอากาศ ให้เป็นปุ๋ย ทำให้ถั่วเจริญงอกงาม

 

เมล็ดพืชในวงศ์ถั่วบางพันธุ์ที่งอกช้าอาจทำให้งอกเร็วได้โดยการแช่น้ำร้อน ในกรณีถั่วฮามาตาเร่งได้โดยแช่น้ำร้อน ๘๐ องศาเซสเซียส นาน ๕-๘ นาที แล้วนำออกผึ่งแดดให้แห้ง เก็บไว้ปลูกเมื่อถึงเวลาต้องการ

 

แปลงต้นถั่วฮามาตา พืชอาหารสัตว์ในวงศ์ถั่วชนิดหนึ่งที่ช่วยบำรุงดิน และทำให้แปลงหญ้ามีคุณภาพดีขึ้น

 

การปลูก 

มี ๒ วิธี คือ ปลูกด้วยเมล็ด และปลูกด้วยหน่อ หญ้าบางพันธุ์ เช่น แพนโกลา ไม่ติดเมล็ด จำเป็นต้องใช้เถา หรือลำต้นปลูก ในกรณีเช่นนี้จะต้องปลูก เมื่อดินมีความชื้นเพียงพอ มิฉะนั้นหน่อหรือท่อนหญ้าจะเหี่ยวตาย ในกรณีปลูกด้วยเมล็ด ควรหว่านเมล็ดทันที เมื่อเตรียมดินเสร็จ หว่านเมล็ดรอฝนได้ ถ้าไถพรวนดินทิ้งไว้นานเกินไป วัชพืชจะงอกขึ้นคลุมพื้นที่ ก่อนที่เมล็ดหญ้าจะงอก เมื่อหว่านเมล็ดแล้ว ควรใช้คราดเกลี่ยดินกลบบาง ๆ ช่วยให้เมล็ดหญ้าฝังในดิน เหมาะต่อการงอก และป้องกันนกจิกกิน ในที่ดินแปลงใหญ่ ๆ อาจปลูก โดยใช้เครื่องหยอดเมล็ด เครื่องจะหยอดเมล็ด และเกลี่ยดินกลบ โดยอัตโนมัติ

 

การปลูกทุ่งหญ้าสำหรับแทะเล็ม ควรปลูกหญ้าผสมถั่วเสมอ ถั่วใช้เป็นแหล่งอาหารโปรตีน ช่วยทำให้คุณภาพแปลงหญ้าดีขึ้น และช่วยบำรุงดิน ควรใช้เมล็ดหญ้ากิโลกรัมต่อถั่ว ๑ กิโลกรัมต่อไร่

 

ซอกัมหรือข้าวฟ่าง พืชตระกูลหญ้าฤดูเดียวชนิดหนึ่งซึ่งใช้เป็นอาหารสัตว์

 

ค่าใช้จ่ายในการปลูกทุ่งหญ้า 

ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๒ ค่าใช้จ่ายในการปลูกหญ้าทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นดังนี้

 

รายการค่าใช้จ่าย
ปลูกด้วยเมล็ด
ปลูกด้วยหน่อ
หญ้ารูซี
ถั่วฮามาตา
หญ้ามอริชัศ
ค่าไถพรวนดิน
๒๕๐
๒๕๐
๒๕๐
ค่าปุ๋ยและแรงงานหว่านปุ๋ย
๑๔๑
๑๔๑
๑๔๑
ค่าเมล็ดพันธุ์และแรงงานปลูก
๑๒๙
๑๐๙
๒๓๐
รวม
๕๒๐
๕๐๐
๖๒๑

 

การดูแลแปลงหญ้าระยะเริ่มปลูก 

ถ้าหากเมล็ดงอกน้อย ให้รีบปลูกซ่อมโดยเร็ว จะช่วยให้หญ้าขึ้นเต็มแปลง หมั่นกำจัดวัชพืช เพราะวัชพืชบางอย่างโตเร็ว จะข่มหญ้าต้นเล็กๆ ซึ่งมักโตช้า ไม่ควรปล่อยโคแทะเล็มขณะต้นหญ้ายังอ่อน แต่ควรปล่อยไว้ ๗๐-๘๐ วัน หลังจากงอก เพื่อให้ต้นหญ้าแข็งแรง ระบบรากเจริญดี อย่างไรก็ตาม สำหรับหญ้าฤดูเดียว เช่น หญ้าไข่มุก หญ้าจัมโบซอกัม ต้นข้าวโพด ตัดได้เมื่ออายุ ๓๕-๔๕ วัน เพราะเป็นหญ้าโตเร็ว และต้องปลูกใหม่ทุกปี ไม่ต้องคำนึงถึงการแตกหน่อในปีต่อ ๆ ไปการใส่ปุ๋ย 
 

ในระยะเริ่มปลูก ใช้ปุ๋ยผสมไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม โดยเลือกสูตรให้เหมาะกับสภาพดิน ดินบางแห่งอาจต้องการธาตุฟอสฟอรัสมาก ดินบางแห่งอาจต้องการโพแทสเซียมาก แต่หลังจากการตัดหรือปล่อยโคแทะเล็ม ๑-๒ ครั้ง ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ยูเรีย เพื่อบำรุงใบ ดินในภาคอีสานบางชุด (ในประเทศไทย จัดแบ่งออกเป็นประมาณ ๒๐๐ ชุด โดยแบ่งออกตามลักษณะความเป็นกรด-เบส สี และปริมาณแร่ธาตุ เป็นต้น) มีธาตุกำมะถันค่อนข้างต่ำ การปลูกพืชถั่วอาหารสัตว์บางชนิด เช่น ถั่วฮามาตา สไตโล ควรใส่ปุ๋ยชนิดนี้ด้วย โดยใช้ปูนยิปซัม ๑๐-๑๕ กิโลกรัมต่อไร่ หญ้าประเภทอายุหลายปี เมื่อถูกตัดหรือแทะเล็มครั้งหนึ่ง ก็จะแตกหน่อใหม่อีก และต้องการปุ๋ยบำรุงอยู่เสมอ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow