การที่เราจะเรียนรู้อะไรหากเราทั้งได้อ่าน ได้ยิน ได้ดู และได้สัมผัส เราก็จะยิ่งเข้าใจได้มากขึ้นกว่าที่มีคนมาเล่าให้ฟังเพียงอย่างเดียว สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นสิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ
การนำคอมพิวเตอร์มาใช้โดยนำเสนอทั้งข้อเขียน ภาพนิ่ง เสียงดนตรี ภาพเคลื่อนไหว เป็นการนำสื่อมาใช้ผสมกันเรียกกันว่าสื่อประสมหรือมัลติมีเดีย แม้ว่าภาพยนตร์จะมีทุกสิ่งเหล่านี้มารวมกันแต่คอมพิวเตอร์มีความสามารถที่เหนือกว่าเพราะคอมพิวเตอร์เปิดโอกาสให้คนโต้ตอบกันได้ ถามคำถามได้ และยังออกข้อสอบเพื่อวัดความรู้ความเข้าใจของเรื่องที่นำเสนอได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้เราจึงนำคอมพิวเตอร์มาใช้ประกอบการศึกษาได้ดี แต่การนำสื่อมาประสมกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้เสมอไปเพราะเนื้อหาเรื่องราวความรู้ที่ทำในรูปแบบมัลติมีเดียจะทำให้น่าเบื่อก็ได้ หรือจะทำให้เพลิดเพลินน่าสนใจก็ได้เหมือนภาพยนตร์ที่มีทั้งเรื่องที่สนุกและไม่สนุก ดังนั้นวิธีการนำเสนอและคุณภาพของข้อมูลที่นำเสนอก็จะเป็นตัวชี้ว่าสื่อประสมชุดนั้นจะดีเพียงใด
สื่อประสมบางประเภทมีเนื้อหาสาระแต่ถ้านำเสนอเสมือนว่าเป็นการนำหนังสือมาให้อ่านจากจอทีละหน้า ๆ ก็จะทำให้น่าเบื่อมาก หากนำเสนอเพื่อให้ค้นหาข้อมูลอ้างอิงก็จะเหมาะสมกว่า สื่อประสมบางประเภทเน้นการฝึกฝน ฝึกหัดทำ เช่น สอนการคำนวณ สอนภาษาอังกฤษ ฯลฯ แต่ประเภทที่สอนแล้วสนุกที่สุด ได้แก่ ประเภทที่จำลองสถานการณ์ เช่น จำลองสภาพการขับเครื่องบิน การขับรถ การทดลองทางเคมี ซึ่งมีลักษณะกึ่งแบบเรียนกึ่งเกมผู้เล่นจะได้เริ่มเรียนรู้และได้รับความสนุกเพลิดเพลินไปพร้อม ๆ กัน เนื้อหาเรื่องราวที่ทำในรูปแบบมัลติมีเดียนั้นมักบรรจุอยู่ในอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่มีลักษณะเป็นแผ่นกลม ๆ ที่เรียกว่า แผ่นซีดีรอม โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือเปิดอ่านข้อมูลนั้น การเผยแพร่สื่อประสมอีกวิธีหนึ่งคือการนำเสนอผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกกันว่าอินเทอร์เน็ตซึ่งข้อมูลจะถูกเก็บอยู่ที่เดียวแต่คนที่อยู่ต่างสถานที่กันสามารถเปิดดูข้อมูลผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ในต้น พ.ศ. ๒๕๔๔ โรงเรียนในประเทศไทยประมาณ ๒,๐๐๐ แห่ง มีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตนี้แล้วจึงทำให้การนำสื่อประสมมาใช้ช่วยให้นักเรียนมีความรอบรู้มากขึ้นและครูพัฒนาการเรียนการสอนได้แพร่หลายขึ้น
อย่างไรก็ตามจะมีอุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลาที่ใช้ในการสร้างสื่อประสมเพราะกว่าจะสร้างได้สักเรื่องต้องใช้เวลามากครูมักไม่มีเวลาที่จะลงมือสร้างสื่อการสอนนี้ด้วยตนเอง แม้จะมีผู้พัฒนาไว้แล้วแต่ถ้าจะให้ใช้ได้ผลก็ควรเสนอวิธีการนำสื่อประสมดังกล่าวมาใช้ในห้องเรียนจริง ๆ เพื่อให้ครูได้เรียนรู้ก่อน
สื่อประสม (multimedia) เป็นสื่อสมัยใหม่ที่ใช้คอมพิวเตอร์นำเอาตัวหนังสือแสดงข้อความ ภาพ และเสียง ซึ่งบันทึกไว้ในรูปของข้อมูลดิจิทัลมาแสดงผลแปลงกลับเป็นตัวหนังสือแสดงข้อความ ภาพและเสียงทางจอภาพและลำโพงผสมผสานกัน รวมทั้งควบคุมการแสดงผลของสื่อเหล่านั้นโดยโปรแกรมการสั่งงานคอมพิวเตอร์ทำให้สื่อเหล่านั้นมีลักษณะพิเศษขึ้นมีพลังในการสื่อสารอย่างมีชีวิตชีวามากกว่าสื่อที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์อื่น ๆ
คำว่า “สื่อประสม” อาจมีความหมายพื้น ๆ เพียงการแสดงผลของข้อความภาพและเสียงพร้อม ๆ กัน ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น สื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ สไลด์ประกอบเสียง หรือการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการสาธิตหรือการสอน แต่สื่อเหล่านี้อาจใช้คำเฉพาะอื่น ๆ ที่สามารถอธิบายความหมายได้ชัดเจนมากกว่าคำว่าสื่อประสมจึงใช้เพื่อหมายความถึงสื่อที่มีลักษณะพิเศษซึ่งมักเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ดังที่อธิบายข้างต้น ในสมัยก่อนมนุษย์ใช้สื่อที่เป็นภาพและตัวอักษรในการบันทึกเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ โดยการสลักภาพและอักษรลงบนแผ่นหินหรือขีดเขียนลงบนวัสดุชนิดอื่นที่มีความแข็งแรงและในระยะต่อมาได้มีการวาดหรือเขียนลงบนกระดาษ ตัวอย่างเช่น ในสังคมไทยมีการบันทึกความรู้และเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยการจารึกลงบนใบลานหรือกระดาษ เป็นต้น การพิมพ์และหนังสือเป็นสื่อที่เกิดขึ้นในยุโรปในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ และเป็นสื่อที่ทำให้ความรู้หรือการศึกษาแพร่ขยายออกไปเป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างรวดเร็ว ในอีก ๓๐๐ ปีต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๗๗ ทอมัส แอลวา เอดีสัน (Thomas Alva Edison; ค.ศ. ๑๘๔๗ – ๑๙๓๑๗) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกาได้ประดิษฐ์ระบบบันทึกเสียงขึ้นซึ่งเป็นการบันทึกเสียงเก็บไว้ได้เป็นครั้งแรก ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๘๘ จอร์จ อีสต์แมน (George Eastman ; ค.ศ. ๑๘๕๔ – ๑๙๓๒) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ที่สามารถบันทึกภาพโดยใช้แสง ประดิษฐกรรมทั้ง ๒ อย่าง ทำให้เกิดสื่อประเภทเสียงขึ้นและมีรูปแบบใหม่ในการบันทึกภาพ นอกเหนือจากการวาด เขียน และพิมพ์ลงบนกระดาษ การบันทึกภาพด้วยกล้องถ่ายรูป ได้พัฒนาไปสู่การถ่ายภาพเคลื่อนไหวจึงทำให้การบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวแม่นยำตรงกับความจริงและน่าสนใจยิ่งขึ้นและนี่คือที่มาของสื่อประเภทภาพยนตร์ซึ่งได้แพร่หลายไปทั่วโลกเมื่อเริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ระยะเวลาต่อมาประมาณครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ มนุษย์ก็ค้นพบประดิษฐกรรมคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีดิจิทัลได้ประปฏิวัติการสื่อสารของมนุษย์ครั้งสำคัญโดยการนำเข้าสู่ระบบสื่อประสม กล่าวคือ แทนที่จะใช้คอมพิวเตอร์เฉพาะการพิมพ์ในงานด้านการจัดเก็บข้อมูลและการบริการธุรกิจต่าง ๆ ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการสื่อสารได้หลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น
ลักษณะของสื่อประสมความก้าวหน้าของระบบสื่อประสมที่สำคัญก็คือ
๑. การนำสื่อหลายชนิดมาผสมผสานเข้าด้วยกัน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นตัวจัดการและควบคุมให้สื่อต่าง ๆ แสดงผลออกมาทางหน้าจอและลำโพงของคอมพิวเตอร์ สื่อที่คอมพิวเตอร์นำมาแสดงผลทางหน้าจอเป็นระบบสื่อประสมนั้น ประกอบไปด้วย
๑. ภาพ
ภาพที่ปรากฏบนจอจะแบ่งตามประเภทของข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ได้แก่ ภาพกราฟิกส์ ภาพเคลื่อนไหว และภาพวีดิทัศน์จากเครื่องเล่นวีดิทัศน์หรือกล้องถ่ายวีดิทัศน์
ภาพกราฟิกส์ คือ ภาพบนจอคอมพิวเตอร์ที่เป็นภาพเดี่ยวไม่มีการเคลื่อนไหว ภาพเหล่านี้อาจได้มาจากการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างขึ้นหรือดัดแปลงข้อมูลของภาพที่ได้จากอุปกรณ์แปลงรูปถ่ายหรือภาพวาดให้เป็นข้อมูลภาพคอมพิวเตอร์
ภาพเคลื่อนไหว คือ ภาพบนจอคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏคล้ายภาพเคลื่อนไหวได้เกิดจากการแสดงผลของภาพหลายภาพซ้อนกันอย่างรวดเร็ว ภาพเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการสร้างขึ้นโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือดัดแปลงจากภาพกราฟิกส์ที่มีอยู่เดิม
ภาพวีดิทัศน์ เป็นภาพที่ได้มาจากการแปลงสัญญาณภาพวีดิทัศน์โดยอุปกรณ์แปลงสัญญาณให้เป็นข้อมูลดิจิทัลมีการบีบย่อข้อมูลในการเก็บบันทึกและนำข้อมูลนั้นมาแปลงกลับเป็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์
๒. เสียง
ได้แก่ เสียงบรรยาย เสียงสนทนา ดนตรี และเสียงประกอบอื่น ๆ
๓. ข้อความ
ข้อความที่ปรากฏบนจอเป็นภาพซึ่งคอมพิวเตอร์สร้างจากข้อมูลตัวอักษรไม่ใช่ภาพแบบกราฟิกส์ ข้อมูลตัวอักษรเหล่านี้ได้มาจากการพิมพ์จากแป้นพิมพ์หรือแปลงมาจากภาพข้อความที่ผ่านเครื่องแปลงสัญญาณภาพเป็นข้อมูลดิจิทัลและแปลงข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลตัวอักษรอีกครั้งด้วยโปแกรม OCR (optical character reader)
๒. ความสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ (interactivity) กล่าวคือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถจัดการกับข้อมูลภาพและเสียงให้แสดงผลบนจอในลักษณะที่โต้ตอบกับผู้ใช้ได้ไม่ใช่การแสดงผลรวดเดียวจบ (run through) แบบวีดิทัศน์หรือภาพยนตร์และไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว (one-way communication) คือ ผู้ชมเป็นผู้ดูฝ่ายเดียวอีกต่อไป