Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พันธุ์พืชอาหารสัตว์จากต่างประเทศ

Posted By Plookpedia | 15 มิ.ย. 60
5,092 Views

  Favorite

พันธุ์พืชอาหารสัตว์จากต่างประเทศ

 

เนื่องจากประเทศไทยได้พัฒนาเกี่ยวกับ การเลี้ยงสัตว์ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการเลี้ยง โค เช่น โคนม จึงจำเป็นต้องพัฒนา และค้นคว้าเรื่องพืชอาหารสัตว์และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ด้วย เช่น การคัดเลือกพันธุ์หญ้าประเภทถั่ว โดยนำพันธุ์จากต่างประเทศมาทดสอบ และศึกษาจำนวนมาก แล้วคัดเลือกพันธุ์ที่ขึ้นได้ดี ผลิตผลสูง คุณค่า อาหารดี และปลูกง่าย เริ่มนำเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ ในครั้งนั้นได้นำพันธุ์หญ้ามอริชัส กินนี และเนเปียร์มาจากประเทศมาเลเซีย และนาย พี อาร์ โจนส์ (P.R.Jones) นำไปปลูกไว้ที่สถานผลิตวัคซีนของกรมปศุสัตว์ ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในระยะต่อมาได้นำพันธุ์หญ้าถั่วพันธุ์ต่างๆ เข้ามามากกว่า ๒๐๐ ชนิด พันธุ์ที่เหมาะสำหรับการปลูกทำทุ่งหญ้า มีดังนี้ 

 

๑. พืชอาหารสัตว์ในวงศ์หญ้า  มีหลายพันธุ์ดังนี้

        ๑. หญ้ามอริชัส (Brachiaria mutica) 
เป็นหญ้าในสกุลเดียวกันกับหญ้าขน แต่งอกงามในที่ดอนได้ดีกว่าหญ้าขน มีขนมากกว่า และต้นอวบน้ำ และโตกว่าหญ้าขน มีแหล่งเดิมในเขตร้อน ทวีปแอฟริกา แต่เรานำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูงถึง ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ลำต้นกลวง ใบดก สัตว์ชอบกิน ขึ้นได้ดีในที่ดอน ฝนชุก และดินอุดม มีข้อเสียที่ไม่ติดเมล็ด การขยายพันธุ์จึงต้องใช้เถาปลูก ใช้ปลูก เพื่อทำทุ่งหญ้า สำหรับโคแทะเล็ม หรือเพื่อตัดให้กิน หรือตัดทำหญ้าหมัก ไม่ทนต่อการแทะเล็มเหยียบย่ำ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่จังหวัดชุมพรคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๙ โปรตีน ๑๐.๒ ไขมัน ๒.๑ กาก ๒๑.๘ แป้ง ๔๕.๔ และแร่ธาตุ ๑๐.๔ การปลูกใช้ลำต้นโดยตัดให้ติดข้อ ๓-๔ ข้อ แล้วปักชำหลุมละ ๒-๓ ท่อน ห่างกันหลุมละ ๔๐ เซนติเมตร หลังจากงอก ๘๐-๙๐ วัน ตัดหรือปล่อยโคแทะเล็มได้ หลังจากนั้นควรตัดทุกๆ ๔๐-๔๕ วัน ควรปลูกปนกับถั่วลาย โดยใช้ถั่วลาย ๒ กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ปุ๋ยบำรุงตามลักษณะความอุดมของดิน

 

เกษตรกรให้หญ้าแก่โคนม

 

        ๒. หญ้ารูซี หรือ หญ้าคองโก (Brachiaria ruziziensis)
เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูง ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ลักษณะใบคล้ายใบหญ้ามอริชัส ลำต้นเล็กกว่าและตัน ช่อดอกเป็นแฉกเรียงกัน ๒ แถว แหล่งดั้งเดิมพบในทวีปแอฟริกา เขตร้อนแถบประเทศคองโก เรานำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ปลูกครั้งแรกที่สถานีพืชอาหารสัตว์ปากช่อง อำเภอปากช่อง ติดเมล็ดดีมาก ติดเมล็ดปีละครั้งในช่วงเดือนตุลาคม โตเร็ว โคกระบือชอบกิน ขึ้นได้ดีในที่ดอน ใช้ปลูกทำทุ่งหญ้าสำหรับโคกระบือแทะเล็มทนการเหยียบย่ำได้ดีกว่าหญ้ามอริชัส คุณค่าอาหาร จากตัวอย่างหญ้า ที่จังหวัดนราธิวาสคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๘.๗ โปรตีน ๑๐.๘ ไขมัน ๒.๔ กาก ๒๓.๑ แป้ง ๔๙.๔ และแร่ธาตุ ๕.๓ ใช้เลี้ยงโคกระบือได้ดี แต่ไม่ควรใช้เลี้ยงแกะ เนื่องจากแกะแพ้สารบางอย่างที่มีในหญ้าชนิดนี้ ทำให้ตับพิการและตายได้ การปลูกใช้เมล็ดปลูก ๒ กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากงอก ๗๐-๘๐ วัน ปล่อยโคแทะเล็มได้ ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ กรมปศุสัตว์ผลิตเมล็ดได้ ๓๕๐ ตัน สำหรับแจกและจำหน่าย

 

หญ้ารูซี

 

        ๓. หญ้าซิกแนล (Brachiaria decumbens) 
เป็นหญ้าอายุหลายปี ลักษณะใบและต้นคล้าย ๆ หญ้ารูซี แต่แตกกอแบบกึ่งตั้งกึ่งนอนสูงประมาณ ๔๐-๕๐ เซนติเมตร แหล่งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา แต่เรานำเข้ามาจากฮ่องกง เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๙ ขึ้นได้ดีในที่ดอน ปลูกทำทุ่งหญ้าเลี้ยงโค ในสวนมะพร้าวได้ดี เหมาะสำหรับปลูกทำทุ่งปล่อยโคแทะเล็ม ทนต่อการเหยียบย่ำ โคกระบือชอบกิน ติดเมล็ดน้อยมาก การปลูกใช้เมล็ด ๒ กิโลกรัมต่อไร่ หรือใช้หน่อปักชำ โดยชำห่างกันหลุมละ ๔๐ เซนติเมตร ปลูกร่วมกับถั่วลายได้ดีกว่าถั่วอื่น ๆ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่จังหวัดชุมพรคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๙ โปรตีน ๙.๗ ไขมัน ๑.๔ กาก ๒๒.๔ แป้ง ๔๕.๖ และแร่ธาตุ ๙.๘ 

 

        ๔. หญ้ากินนี (Panicum maximum) 
เป็นหญ้าอายุหลายปี แตกกอและใบเล็ก ยาวคล้ายกับกอตะไคร้ แต่ต้นสูงกว่ามาก สูง ๑-๑.๔ เมตร ช่อดอกบานใหญ่ ๑๔-๒๐ เซนติเมตร เมล็ดเล็กมาก ขนาดโตกว่าเข็มหมุดประมาณ ๑ เท่า แหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา เขตร้อน เรานำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ พร้อมกับหญ้ามอริชัส โคกระบือชอบกิน ขึ้นได้ดีในที่ดอน ดินอุดมปานกลาง ทนร่มเงาได้ปานกลาง ควรปลูกทำทุ่งหญ้าเลี้ยงโคในสวนมะพร้าว ทนการแทะเล็มเหยียบย่ำ ควรปลูกปนกับถั่วลายหรือถั่วฮามาตา หรือถั่วเซอราโตร การปลูกอาจใช้หน่อหรือเมล็ด ถ้าใช้เมล็ดใช้ในอัตรา ๑.๕-๒ กิโลกรัมต่อไร่ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๘ โปรตีน ๙.๕ ไขมัน ๑.๙ กาก ๒๕.๙ แป้ง ๔๑.๗ และแร่ธาตุ ๑๑.๐ 

 

หญ้ากินนี

 

        ๕. หญ้าเฮมิล (Panicum maximum var.Hamil) 
เป็นหญ้าในกลุ่มหญ้ากินนีอายุหลายปี ต้นโตสูงกว่าหญ้ากินนี สูงประมาณ ๑.๔-๑.๘ เมตร ใบและช่อดอกใหญ่กว่าหญ้ากินนี ช่อดอกยาว ๒๐-๒๕ เซนติเมตร ใบสีเขียวแก่กว่าใบหญ้ากินนี ติดเมล็ดได้ดีกว่า แหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกาเขตร้อน เรานำเข้ามาจากออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐    
โคกระบือชอบกิน ใช้ปลูกเป็นหญ้าสวนครัว หรือทำเป็นทุ่งหญ้า สำหรับปล่อยสัตว์แทะเล็ม ทนต่อการเหยียบย่ำน้อยกว่าหญ้ากินนี การปลูกใช้เมล็ดในอัตรา ๑.๕-๒ กิโลกรัมต่อไร่ หรือแยกหน่อปลูกก็ได้ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่จังหวัดหนองคายคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๘.๖ โปรตีน ๕.๑   ไขมัน ๑.๗ กาก ๓๐.๖ แป้ง ๔๕.๗ และแร่ธาตุ ๘.๑

 

        ๖. หญ้ากรีนแพนิค (Panicum maximum var.trichoglumes) 
เป็นหญ้าอายุหลายปี ต้นเตี้ยกว่าหญ้ากินนี ใบและต้นเล็ก กอสูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ใบมีขนปกคลุมมากกว่าหญ้ากินนี ขนนุ่ม แหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกาเขตร้อน เรานำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ โคกระบือชอบกิน ใช้ปลูกทำทุ่งปล่อยโคแทะเล็ม ขึ้นในร่มเงาในสวนไม้ผลได้ดี ติดเมล็ดดีมาก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือหน่อ การปลูกใช้เมล็ด ในอัตรา ๑.๕-๒ กิโลกรัมต่อไร่ หรือแยกหน่อปลูก คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๒ โปรตีน ๖.๘ ไขมัน ๑.๙ กาก ๓๐.๙ แป้ง ๔๐.๑ และแร่ธาตุ ๙.๘

นอกจากนั้น หญ้าในกลุ่มหญ้ากินนี มีหญ้ากินนีสีม่วง หญ้าแกตตันแพนิค ซึ่งใช้ทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้ดี และโคชอบกิน

 

        ๗. หญ้าเนเปียร์ (Pennisetum purpureum) 
เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูงคล้ายอ้อย สูงประมาณ ๑.๖-๑.๙ เมตร ช่อดอกสีน้ำตาลเหลือง เป็นรูปทรงกระบอกคล้ายหางกระรอก มีแหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกาเขตร้อน เรานำเข้ามาจากมาเลเซียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ หญ้าชนิดนี้ชอบที่ดอน โคกระบือชอบกิน ใช้ปลูกทำทุ่ง สำหรับตัดเลี้ยงสัตว์ ไม่ทนต่อการเหยียบย่ำ ไม่ติดเมล็ด ดังนั้นการปลูก จึงใช้วิธีตัดลำต้นชำ ชำห่างกันหลุมละ ๕๐ เซนติเมตร ตัดเลี้ยงโคได้ หลังจากงอกประมาณ ๗๐-๘๐ วัน หลังจากนั้นตัดได้ทุก ๔๐-๔๕ วัน ใช้ทำหญ้าหมัก  ได้ดี คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าในท้องที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๗ โปรตีน ๑๑.๓ ไขมัน ๒.๓ กาก ๒๑.๖ แป้ง ๔๑.๑ และแร่ธาตุ ๑๓.๘

 

หญ้าเนเปียร์

 

        ๘. หญ้าบัฟเฟิล (Cenchrus ciliaris) 
เป็นหญ้าอายุหลายปี กอเตี้ย สูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร มีแหล่งกำเนิดในทวีปแอฟริกา เรานำเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ ใบเล็กเรียว กว้างประมาณ ๔ มิลลิเมตร ยาว ๘-๑๐ เซนติเมตร ช่อดอกคล้ายหางกระรอก ยาวประมาณ ๖ เซนติเมตร ทนแล้งและการเหยียบย่ำ ใช้ปลูกทำทุ่งหญ้าปล่อยโคแทะเล็มขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทราย ที่ดอน ทนแล้งพอใช้ได้ติดเมล็ดดีมาก การปลูกใช้เมล็ด หรือหน่อ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าในท้องที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๗ โปรตีน ๑๑.๑ ไขมัน ๑.๖ กาก ๒๓.๙ แป้ง ๔๐.๘ และแร่ธาตุ 

 

หญ้าบัฟเฟิล

 

        ๙. หญ้าโรด (Chloris gayana) 
เป็นหญ้าอายุหลายปี แหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกาเขตร้อน เรานำเข้ามาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นหญ้ากอสูง ประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ช่อดอกแตกเป็นแฉกหลายแฉก คล้ายตีนนก ขึ้นได้ดีในที่ดอน ติดเมล็ดดีมาก ใช้ปลูกทำทุ่งสำหรับโคแทะเล็ม หรือตัดทำหญ้าแห้ง ใช้เมล็ดปลูกในอัตรา ๑-๑.๕ กิโลกรัมต่อไร่ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๔ โปรตีน ๗.๓ ไขมัน ๑.๘ กาก ๒๘.๙ แป้ง ๔๒.๑ และแร่ธาตุ ๙.๕

 

หญ้าโรด

 

        ๑๐. หญ้าซอกัม (Sorghum almum) 
เป็นหญ้าอายุสองปี แหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ เรานำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นหญ้ากอสูง ต้นสูงประมาณ ๑.๖ เมตร ลักษณะใบคล้ายต้นอ้อ ช่อดอกบานทรงพีระมิด ยาวประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ชอบที่ดอน ดินอุดม ติดเมล็ดดีมาก โคชอบกิน แต่มีสารพิษไฮโดรไซยานิก เป็นอันตรายกับโคกระบือ ไม่ควรให้โคกระบือกินเมื่อต้นยังอ่อน ๆ ควรให้กิน หลังช่อดอกโผล่จากยอดใหม่ ๆ ไม่ทนต่อการแทะเล็ม ควรตัดให้กิน การปลูกใช้เมล็ดในอัตรา ๒.๕-๓ กิโลกรัมต่อไร่ หญ้าในกลุ่มนี้ มีหญ้าลูกผสมหลายพันธุ์ เช่น หญ้าจัมโบ สปีดฟีด มีคุณค่าอาหารสูง โคชอบกิน เลี้ยงโคนมได้ดี คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าตัดก่อนมีดอก ในท้องที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๔ โปรตีน ๑๕.๑ ไขมัน ๔.๐ กาก ๒๒.๘ แป้ง ๔๐.๒ และแร่ธาตุ ๘.๓

นอกจากนั้นยังมีหญ้าในกลุ่มซอกัมอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น หญ้าซูกาคริบ จัมโบ และสปีดฟีด ซึ่งเป็นหญ้าลูกผสม เป็นหญ้าคุณภาพดี แต่อายุสั้น ๑-๒ ปี

 

        ๑๑. หญ้าเซตาเรีย (Setaria anceps) 
บางทีเรียกว่า หญ้าเซาท์แอฟริกัน เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูง ๑.๒-๑.๔ เมตร โคนต้นแบนใบเกลี้ยง ยาวเรียว ยาว ๑๓-๑๖ เซนติเมตร กว้าง ๑.๐-๑.๒ เซนติเมตร มีแหล่งดั้งเดิมในทวีปแอฟริกาเขตร้อน นำเข้ามาจากไต้หวันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ขึ้นได้ดี ในที่ดอน โคชอบกิน เหมาะสำหรับใช้ทำทุ่งปล่อยสัตว์แทะเล็ม ติดเมล็ดดี ปลูกโดยเมล็ดหรือแยกหน่อชำ ใช้เมล็ดในอัตรา ๒-๒.๕ กิโลกรัมต่อไร่ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าในท้องที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๔ โปรตีน ๑๑.๕ ไขมัน ๒.๘ กาก ๒๒.๑ แป้ง ๔๓.๓ และแร่ธาตุ ๑๐.๕

 

        ๑๒. หญ้ากัวเตมาลา (Tripsacum laxum) 
เป็นหญ้าประเภทอายุหลายปี กอใหญ่ ใบดก ใบแตกชิดดิน ไม่มีลำต้นเด่นชัด ใบยาวใหญ่เท่าใบข้าวโพด มีแหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ เรานำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖    
โคกระบือชอบกิน เหมาะสำหรับปลูก เพื่อตัดเลี้ยงสัตว์ ไม่ทนต่อการแทะเล็มเหยียบย่ำ ขึ้นได้ดีในที่ดอน เชิงเขา แต่ปรับตัวกับที่ลุ่มได้พอสมควร ไม่ติดเมล็ด ขยายพันธุ์โดยหน่อ ปลูกชำห่างกันหลุมละ ๖๐-๗๐ เซนติเมตร คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าในจังหวัดชุมพร คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๕ โปรตีน ๗.๑ ไขมัน ๑.๔ กาก ๒๖.๐ แป้ง ๔๘.๐ และแร่ธาตุ ๖.๗

 

หญ้าก้วเตมาลา

 

        ๑๓. หญ้าปลิแคตูลัม (Paspalum plicatulum) 
เป็นหญ้าประเภทอายุหลายปี แตกกอคล้ายกอตะไคร้ แต่ต้นเตี้ยกว่า ใบตั้งตรง เล็กกว่าใบตะไคร้    ช่อดอกมีกิ่งย่อยเรียงเป็น ๒ แฉกมีแหล่งดั้งเดิมในทวีปอเมริกาใต้ เรานำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ ขึ้นได้ดีทั้งในที่ดอนและที่ลุ่ม ติดเมล็ดดีมาก แต่โคชอบกินน้อยกว่าหญ้าอื่น คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๒ โปรตีน ๗.๗ ไขมัน ๑.๖ กาก ๒๖.๑ แป้ง ๔๗.๘ และแร่ธาตุ ๗.๓

 

หญ้าปลิแคตูลัม

 

        ๑๔. หญ้าแพนโกลา (Digitaria decumbens) 
เป็นหญ้าอายุหลายปี มีเถาเลื้อยคลุมดิน ต้นสูงประมาณ ๓๕ เซนติเมตร ใบดก ยาว ๑๒-๑๖ เซนติเมตร กว้าง ๐.๔-๐.๕ มิลลิเมตร แตกรากตามข้อ ทำให้แพร่คลุมดินอย่างหนาแน่น เหมาะสำหรับปลูกทำทุ่งปล่อยสัตว์แทะเล็ม และอนุรักษ์ดินหรือตัดทำหญ้าแห้ง โคชอบกิน ไม่ติดเมล็ด ใช้เถาขยายพันธุ์ โดยปลูกห่างกันหลุมละ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ชอบขึ้นในที่ดอน ดินอุดมมีแหล่งดั้งเดิม ในทวีปอเมริกาใต้ เรานำเข้าประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าในจังหวัดมหาสารคาม คิดเป็นร้อยละ ดังนี้ ความชื้น ๙.๒ โปรตีน ๕.๖ ไขมัน ๒.๒ กาก ๒๖.๕ แป้ง ๔๘.๐ และแร่ธาตุ ๘.๑

 

นอกจากนั้นยังได้นำพันธุ์หญ้าพันธุ์ใหม่ ๆ ซึ่งได้รับการผสมและปรับปรุงพันธุ์ให้มีคุณภาพดี เข้ามาทุกปี เพื่อใช้กับโคนม เช่น หญ้าไข่มุก (Pennisetum americanum) จากสหรัฐอเมริกา เป็นหญ้ากอสูงใบใหญ่ คุณค่าอาหารสูง อายุปีเดียวหญ้าจัมโบ เป็นหญ้าลูกผสม ในกลุ่มหญ้าซอกัม นำเข้ามาจากออสเตรเลีย ต้นสูงคล้ายข้าวฟ่าง แต่ใบและต้นเล็กกว่า และอายุเพียง ๒ ปี แต่ทั้ง ๒ ชนิด ติดเมล็ดดีมาก ปลูกง่าย มีข้อเสีย ที่ต้องปลูกซ้ำทุกปี

 

หญ้าไข่มุก

 

ต้นข้าวโพด ก็ใช้ปลูกตัดเลี้ยงโคได้ดี คุณค่า อาหารสูง ย่อยได้ดี ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในแถบจังหวัดราชบุรี สระบุรี และเชียงใหม่ ใช้ต้นและเศษต้นข้าวโพดฝักอ่อนเลี้ยงโคนม โดยเกษตรกรปลูกเอง หรือรับซื้อจากผู้ปลูกอื่น ๆ ที่ปลูกข้าวโพด เพื่อจำหน่ายฝักอ่อนแก่โรงงานข้าวโพดกระป๋อง

 

๒. พืชอาหารสัตว์ในวงศ์ถั่ว
มีทั้ง พันธุ์ไม้ล้มลุก และไม้ยืนต้น เป็นแหล่งอาหาร โปรตีน และบำรุงดิน มีพันธุ์ที่ส่งเสริมให้ใช้ใน การปลูกทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ดังนี้ 
 

        ๑. ถั่วลาย (Centrosema pubescens) 
เป็นถั่วประเภทเลื้อย อายุหลายปี มีแหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ เรานำเข้ามาใช้ปลูกคลุมดินในสวนยางไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปีมาแล้ว ใบเป็นแบบใบรวมมี ๓ ใบย่อย เถาเลื้อยคลุมดินหรือพันต้นพืชอื่นแบบเถาวัลย์ กลีบดอกสีม่วงเป็นช่อ ช่อละ ๔-๘ ดอก ชอบขึ้นในแหล่งฝนตกชุก เช่น ภาคใต้ แต่ปรับตัวได้กับสภาพฝนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทนร่มเงา จึงใช้ปลูกทำทุ่งหญ้าในสวนไม้ผล และสวนมะพร้าวได้ดี ใช้ปลูกปนกับหญ้าต่าง ๆ ได้หลายชนิด การปลูกใช้เมล็ดในอัตรา ๒ กิโลกรัมต่อไร่ และควรใช้เชื้อไรโซเลียมคลุกเมล็ดก่อนปลูก เชื้อดังกล่าวช่วยในการตรึงธาตุไนโตรเจน ทำให้ถั่วงอกงาม กรมวิชาการเกษตรผลิตเชื้อไรโซเลียมจำหน่ายแก่เกษตรกร คุณค่าอาหารของถั่วลายจากตัวอย่างในจังหวัดสตูลคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๘.๙ โปรตีน ๑๔.๑ ไขมัน ๒.๐ กาก ๓๐.๓ แป้ง ๓๗.๘ และแร่ธาตุ ๖.๗

 

ถั่วลาย แสดงปมราก ซึ่งมีเชื้อบัคเตรี ไรโซเบียม ช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ให้เป็นปุ๋ย ทำให้ถั่วเจริญงอกงาม

 

        ๒. ถั่วฮามาตา (Stylosanthes hamata) 
บางแห่งเรียกว่า ถั่วเวอราโน อายุ ๑-๒ ปี เป็นถั่วพุ่มเตี้ย สูงประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ใบเป็นแบบใบรวมมีใบย่อย ๓ ใบ ขนาดของใบย่อยยาว ๒.๕-๓ เซนติเมตร กว้าง ๐.๔-๐.๕ เซนติเมตร ดอกรวมเป็นกระจุกสีเหลือง เมล็ดมีส่วนยื่นโผล่แบบตะขอ มีแหล่งดั้งเดิมในทวีปอเมริกากลาง เรานำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ โคกระบือชอบกิน ชอบขึ้นในที่ดอน ดินร่วนปนทราย ทนการแทะเล็มเหยียบย่ำ ติดเมล็ดดีมาก เหมาะกับสภาพดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกเขตดินเค็ม ปัจจุบันใช้ถั่วชนิดนี้หว่านทางอากาศ เพื่อปรับปรุงทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะ การปลูกใช้เมล็ดในอัตรา ๒ กิโลกรัมต่อไร่ ก่อนปลูกควรใช้น้ำร้อนแช่เมล็ด โดยใช้น้ำร้อน ๘๐ องศาเซลเซียส แช่นาน ๕-๘ นาที จะช่วยให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น คุณค่าอาหารจากถั่วที่ได้จากท้องที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๔ โปรตีน ๑๔.๖ ไขมัน ๒.๑ กาก ๒๖.๖ แป้ง ๓๗.๗ และแร่ธาตุ ๘.๔

 

ถั่วฮามาตา

 

        ๓. ถั่วสไตโล (Stylosanthes guianensis) 
มีพันธุ์ต่าง ๆ คือ พันธุ์สโคฟิล พันธุ์เอนเดเวอร์ และพันธุ์เกรแฮมหรือแกรม เป็นถั่วอายุหลายปี   พุ่มเตี้ย สูงประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ใบเป็นแบบรวม มีใบย่อย ๓ ใบ ขนาดยาว ๒.๕-๓.๕ เซนติเมตร กว้าง ๐.๖-๐.๙ เซนติเมตร ดอกรวมเป็นกระจุกสีเหลือง ไม่มีส่วนยื่นเป็นตะขอเหมือนกับของเมล็ดถั่วฮามาตา มีแหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แถบทะเลแคริบเบียน เรานำเข้ามาจากฮ่องกง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ส่วนพันธุ์แกรมนำเข้ามาจากออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ขึ้นได้ดีในที่ดอน ดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โคชอบกินน้อยกว่าถั่วลายและถั่วฮามาตา แต่ในช่วงปลายฝนหญ้าสดขาดแคลน โคชอบกินเช่นกัน ติดเมล็ดได้ดีใช้เมล็ดปลูกในอัตรา ๑.๕ กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกปนกับหญ้ากินนีและหญ้าซิกแนล คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่จังหวัดนราธิวาส คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๘.๔ โปรตีน ๑๖.๘ ไขมัน ๓.๗ กาก ๑๙.๘ แป้ง ๓๕.๓ และแร่ธาตุ ๑๕.๘ สำหรับถั่วสไตโลพันธุ์แกรมหรือเกรแฮม ใช้ทำหญ้าแห้งได้ดี ลำต้นอ่อนกว่าสไตโลพันธุ์อื่น ๆ โคชอบกินติดเมล็ดดีมาก เหมาะสำหรับดินร่วนปนทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ถั่วสไตโลพันธุ์เกรแฮมหรือแกรม

 

        ๔. ถั่วแล็บแล็บ (Lablab purpureus) 
บางทีเรียกว่า ถั่วแปบ อายุ ๑-๒ ปี มีเถาแต่ไม่เลื้อยพันแบบเถาวัลย์ ใบเป็นแบบใบรวมมีใบย่อย ๓ ใบ ขนาดใหญ่ กว้างประมาณ ๕ เซนติเมตร ยาว ๗-๘ เซนติเมตร ดอกสีขาวเป็นช่อยาว ๑๐-๑๕ เซนติเมตร ชอบดินดอน โคชอบกินน้อยกว่าถั่วลาย ถ้าให้โคกินใบสดมากเกินไป อาจทำให้ท้องอืดถึงตายได้ ควรให้กินวันละ ๓-๔ กิโลกรัม ติดเมล็ดได้ดี ปลูกด้วยเมล็ด งอกเร็ว และโตเร็ว ควรใช้ทำหญ้าแห้งเพื่อลดพิษที่ทำให้ท้องอืด คุณค่าอาหารจากตัวอย่างพืชจากอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๑.๗ โปรตีน ๑๘.๐ ไขมัน ๓.๑ กาก ๒๓.๔ แป้ง ๓๓.๙ และแร่ธาตุ ๙.๖

 

๓. พืชอาหารสัตว์ในกลุ่มไม้ยืนต้น
พันธุ์ไม้ยืนต้นมีข้อดีสำหรับการใช้เป็นพืชอาหารสัตว์ คือ พืชกลุ่มนี้มีอายุใช้การได้นาน สามารถตัดใบมาเป็นอาหารสัตว์ได้เกือบตลอดปี เพราะทนต่อสภาพแล้งดีกว่าพันธุ์พืชอาหารสัตว์ประเภทไม้ล้มลุก นอกจากนั้น อาจใช้ประโยชน์จากลำต้น เป็นไม้ใช้สอย หรือเชื้อเพลิงอีกด้วย พันธุ์ไม้ยืนต้น ที่ใช้เป็นอาหารสัตว์มีดังนี้
 

        ๑. ต้นแค (Sesbania grandiflora) 
เป็นพืชในวงศ์ถั่ว พบอยู่ทั่ว ๆ ไป เราใช้ดอกเป็นอาหารของมนุษย์ เช่น ใช้แกงส้ม ส่วนใบมีคุณค่าอาหารสูง ใช้เลี้ยงโคกระบือได้ดี โคชอบกิน ให้กินเป็นอาหารเสริมโปรตีนร่วมกับฟางข้าว และหญ้าแห้ง คุณค่าอาหารของใบรวมกับก้าน คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๗ โปรตีน ๒๗.๘ ไขมัน ๒.๗ กาก ๙.๒ แป้ง ๔๒.๑ และแร่ ธาตุ ๘.๒

 

        ๒. ถั่วแระต้น (Cajanus cajan) 
เป็นถั่วชนิดหนึ่ง ต้นเป็นพุ่มสูง ๒.๕-๓ เมตร ใบดกและทนแล้ง เหมาะสำหรับตัดให้โคกระบือกินในช่วงแล้ง เป็นอาหารเสริมโปรตีน โดยให้กินร่วมกับฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง ใบมีคุณค่าอาหารสูง คุณค่าอาหารจากตัวอย่างพืช ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๗.๕ โปรตีน ๒๓.๗ ไขมัน ๕.๑ กาก ๑๓.๙ แป้ง ๔๒.๔ และแร่ธาตุ ๗.๒

 

ถั่วแระต้น แสดงให้เห็นกิ่งก้านและใบที่ชัดเจน

 

        ๓. ทองหลางป่า (Erythrina subumbrans) 
เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว ใบเป็นแบบใบรวม มีใบย่อย ๓ ใบ ใช้เป็นอาหารโคกระบือได้ดี ให้กินร่วมกับฟางข้าว หรือหญ้าแห้ง หรือเศษพืชอื่น เป็นอาหารเสริมโปรตีนเป็นไม้โตเร็วชนิดหนึ่ง ปลูกง่าย โดยใช้กิ่งปักชำ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างพืช ที่จังหวัดสตูล คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๙ โปรตีน ๑๓.๓ ไขมัน ๙.๔ กาก ๑๖.๓ แป้ง ๔๐.๓ และแร่ธาตุ ๑๑.๙

 

ทองหลางป่า

 

        ๔. แคฝรั่ง (Gliricidia sepium)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว ใบเป็นแบบใบรวม มีใบย่อยมากกว่า ๗ ใบ ลักษณะใบรวมคล้ายๆ ใบมะยม แต่ขนาดของแผ่นใบโตกว่าประมาณหนึ่งเท่าตัว สีเขียวเข้มกว่า ใช้ใบเป็นอาหารโคกระบือเช่นเดียวกับใบทองหลางหรือกระถิน แต่โคชอบกินน้อยกว่าใบทองหลาง ขึ้นได้ดีในที่ดอน คุณค่าอาหารจากตัวอย่างพืชที่จังหวัดเชียงใหม่ คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๓.๗ โปรตีน ๒๒.๙      ไขมัน ๕.๖ กาก ๑๔.๙ แป้ง ๓๑.๔ และแร่ธาตุ ๑๑.๔

 

ดอกแค

 

        ๕. กระถินยักษ์ กระถินยักษ์นำเข้ามาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ มีพันธุ์ไอวอรีโคสต์ และพันธุ์เอลซัลวาดอร์ ปลูกเพื่อเอาต้น เป็นไม้ใช้สอย ส่วนใบ ใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่นเดียวกับพันธุ์พื้นเมือง คุณค่าอาหารของกระถินยักษ์พันธุ์ไอวอรีโคสต์ คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๕ โปรตีน ๒๒.๙    ไขมัน ๘.๖ กาก ๗.๒ แป้ง ๔๐.๑ และแร่ธาตุ ๑๐.๕

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow