ถ้ามีใครมาทายปัญหาว่า อะไรเอ่ย มองไปเห็นเป็นสีเขียวมากที่สุด ไปที่ไหนก็เจอ อยู่รอบ ๆ ตัวเรานี้เอง...
เอ่ยแค่นี้เด็ก ๆ บางคนอาจจะเดาได้แล้ว แต่บางคนอาจจะยังไม่ค่อยแน่ใจ ลองอ่านต่อไปอีกนิดซิ จะเดาได้ใกล้เคียง หรือถูกต้องไหม... มีประโยชน์มากมาย ให้ร่มเงาก็ได้ ให้ความชุ่มชื้นด้วย ทำให้โลกสวยงาม ทำให้อากาศบริสุทธิ์ ทำให้น้ำไม่ท่วม เป็นที่พักอาศัยของสัตว์ คนก็เอามาสร้างเป็นที่พักอาศัยบ้าง เป็นสิ่งประดิษฐ์สวยงามต่าง ๆ มากมาย
อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนก็ตอบได้เลยว่า คือ ต้นไม้ นั่นเอง
เด็ก ๆ ทราบไหมว่า ต้นไม้ก็เป็นประเภทหนึ่งของพืช ซึ่งแบ่งเรียกชื่อไปต่าง ๆ ตามรูปร่างลักษณะ เช่น ประเภทที่เป็นลำต้นสูงใหญ่ เรียกว่า ต้นไม้ ประเภทที่เป็นต้นเล็ก ๆ ปกคลุมพื้นดิน และเราไม่ต้องการ เรียกว่า วัชพืช ประเภทที่เป็นดอกเป็นใบสวย ๆ เรียกว่า ไม้ดอกไม้ประดับ และถ้าแบ่งตามประโยชน์ใช้สอย ได้แก่ ต้นไม้ประเภทที่ใช้เป็นยา เรียกว่า สมุนไพร ประเภทที่เป็นอาหารของคนเรียกว่า พืชผักสวนครัว และผลไม้ ประเภทที่เป็นอาหารของสัตว์เรียกว่า พืชอาหารสัตว์ เด็กๆ ลองคิดซิว่า ถ้าโลกเราไม่มีพืชเลยสักประเภทเดียว โลกจะแห้งแล้ง กันดาร และอดอยากกันสักเพียงไหน โดยเฉพาะสัตว์ที่อาศัยพืชเป็นอาหาร คงจะล้มตายกันไปหมด เพราะขาดอาหาร
สัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารได้แก่ โค กระบือ แพะ แกะ ช้าง ม้า ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ สัตว์เล็กๆ ก็มีกระต่าย หนูนา ตั๊กแตน หนอน ผีเสื้อ และแมลงต่าง ๆ เป็นต้น
พืชที่เป็นอาหารสัตว์ก็มีทั้งส่วนที่เป็นใบ และลำต้น อาจเป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น หญ้าเพ็ก หญ้าปากควาย และถั่วลิสงนา หรือพืชที่ปลูกในทุ่งสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น หญ้าขน หญ้ากินนี หญ้าเนเปียร์ ถั่วลาย และถั่วฮามาตา หรือไม้ยืนต้น เช่น กระถิน แค และทองหลาง เป็นต้น
พืชอาหารสัตว์เป็นอาหารหลักของสัตว์ประเภทกินหญ้า
พืชอาหารสัตว์มีความสำคัญต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของคนอย่างมาก กล่าวคือ
๑. เป็นอาหารหลักของโค กระบือ และสัตว์ประเภทกินหญ้าอื่นๆ มีการค้นคว้าวิจัยคัดเลือกพืชอาหารสัตว์เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดีที่สุด สำหรับเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งจะทำให้โคกระบือ ได้รับอาหารที่สมบูรณ์ด้วยคุณค่าอาหาร เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ และผลิตเนื้อ ผลิตนมได้มากขึ้น ผลที่เกิดตามมาก็คือ เกษตรกรมีอาชีพ และมีรายได้เพิ่มขึ้น คนทั่วไปได้กินอาหารเนื้อที่มีคุณภาพสูง
๒. ช่วยเพิ่มปุ๋ยไนโตรเจนในดิน เพิ่มความเจริญให้แก่พืช ซึ่งเป็นอาหารของคน พืชอาหารสัตว์โดยเฉพาะในกลุ่มถั่ว มีความสามารถพิเศษในการดึงไนโตรเจนจากอากาศ ให้กลายมาเป็นปุ๋ยในดินได้ โดยอาศัยจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง ในกลุ่มไรโซเลียม จึงทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เมื่อปลูกพืชลงไป พืชก็เจริญงอกงาม เพราะได้ธาตุอาหารที่ช่วยการเจริญเติบโต
๓. ช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดิน หญ้าและถั่ว พืชอาหารสัตว์เจริญเติบโต โดยวิธีแผ่เถาคลุมดินหนาแน่น ช่วยป้องกันมิให้หน้าดินถูกน้ำชะล้างให้ละลายไหลไปหมด การเพาะปลูกก็จะได้ผลิตผลอย่างเต็มที่ พื้นที่ใด ที่ไม่มีพืชปกคลุมผิวดิน จะถูกน้ำ ฝน ลม พัดพา ชะล้างและทำลาย ขาดแร่ธาตุที่เป็นปุ๋ยของพืช ไม่อาจเพาะปลูกได้ หรือทำให้ไม่ได้ผลิตผลเท่าที่ควร
พืชอาหารสัตว์แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ ๆ คือ
๑. พืชในวงศ์หญ้า มีทั้งพันธุ์หญ้าฤดูเดียว เช่น หญ้าปากควาย ต้นข้าวโพด ข้าวฟ่าง หญ้านกสีชมพู หญ้าต้นติด หญ้าไข่มุก หญ้าข้าวผี หรือพันธุ์หญ้าอายุหลายปี เช่น หญ้าขน หญ้ากินนี เนเปียร์ รูซี ชันกาด หญ้าปล้อง หญ้าซิกแนล และหญ้าโรค เป็นต้น พืชอายุหลายปีเหล่านี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้มากกว่า ๓ ปี
๒. พืชในวงศ์ถั่ว มีทั้งถั่วอายุปีเดียว เช่น ถั่วลิสงนา ถั่วแปบ ถั่วมะแฮะ หรือพันธุ์ถั่วอายุหลายปี เช่น ถั่วสไตโล ถั่วฮามาตา ถั่วลาย ถั่วคนทิดิน และถั่วเซอราโตร เป็นต้น พืชอาหารสัตว์ในวงศ์ถั่วเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของสัตว์
๓. พืชในกลุ่มไม้ยืนต้น เป็นพันธุ์ไม้พุ่ม หรือต้นไม้ใหญ่ ที่ใช้ใบเป็นอาหารสัตว์ได้ เช่น ต้นแค กระถิน ทองหลาง ประดู่ และแคฝรั่ง เป็นต้น ใบของพืชในกลุ่มนี้มีคุณค่าอาหารสูง เช่น โปรตีน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๔ ใช้เป็นอาหารเสริมโปรตีน ในช่วงฤดูแล้งได้ดี