การจำแนกประเภทอาหารสัตว์แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ
อาหารหยาบ
เป็นอาหารสำคัญของสัตว์ประเภทกินหญ้าเป็นหลัก เช่น โค กระบือ แพะ แกะ มีสารอาหาร เช่น โปรตีน และพลังงานน้อย แต่มีสารย่อยยากหรือกากมาก เช่น ต้นหญ้าต่าง ๆ ต้นข้าวโพด ฟางข้าว ยอดอ้อย เถาถั่ว และใบพืชอื่น ๆ ที่สัตว์กินได้ เช่น กระถิน ทองหลาง แค และใบมันสำปะหลัง เป็นต้น
อาหารข้น
เป็นกลุ่มอาหารสัตว์ที่มีสารอาหารเป็นองค์ประกอบอยู่มาก ย่อยง่าย มีกากหรือเยื่อใยน้อย ตัวอย่างเช่น เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ เมล็ดข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หัวมัน กากถั่วต่าง ๆ กากเมล็ดปาล์มน้ำมัน รำข้าว และปลาป่น อาหารข้นใช้เลี้ยงสัตว์ทุกชนิดได้
อาหารข้นยังถูกแบ่งย่อยออกเป็นกลุ่มอาหารเสริมต่าง ๆ เช่น อาหารเสริมโปรตีน ซึ่งเป็นอาหารที่มีโปรตีนปนอยู่มาก ใช้เติมในอาหารสัตว์ให้มีปริมาณโปรตีนเพียงพอ อาจได้จากกากถั่วต่าง ๆ หรือปลาป่น เศษเนื้อป่น อาหารเสริมแร่ธาตุเป็นกลุ่มอาหารสัตว์ที่มีแร่ธาตุต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบอย่างเข้มข้น เช่นกระดูกป่น เกลือจุนสี และธาตุเหล็ก เป็นต้น อาหารเสริมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ อาหารเสริมวิตามิน เช่น น้ำมันตับปลา และวิตามินสังเคราะห์ นอกจากนั้น มีสารตัวเร่งการเจริญบางอย่าง เช่น ยาปฏิชีวนะ ใช้เติมในอาหารสัตว์เพียงเล็กน้อย ช่วยให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี สารตัวเร่งนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวังมีกฎหมายควบคุมการใช้ เพราะถ้าใช้มากเกินไป อาจเป็นอันตรายกับผู้บริโภคเนื้อสัตว์ เช่น ในกรณีการเลี้ยงสุกร อาหารเสริมที่สำคัญ ได้แก่ อาหารเสริมกรดอะมิโนไลซีน กรดอะมิโนไลซีนมีในอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ จึงมีการสังเคราะห์และใช้เสริมเพิ่มเติมในอาหาร ลดค่าใช้จ่ายของอาหารโปรตีนลงได้ กรดอะมิโนเป็นส่วนประกอบของโปรตีน มีหลายชนิด แต่ที่จำเป็น และขาดไม่ได้มี ๑๐ ชนิด คือ เมไทโอนีน (methionine) อาร์จินีน (arginine) ทริปโทเฟน (tryptophane) ไทรโอนีน (trionine) ฮิสทิดีน (histidine) ไอโซลูซีน (isoleucine) ลูซีน (leucine) ไลซีน (lysine) วาลีน (valine) และเฟนิลอะลานีน (phenylalanine)