โดยมีนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือก 3 คน ได้แก่ “เจิ้น-ธีรเมธ กันต์พิทยา” ม. 5 รร.มหิดลวิทยานุสรณ์ “พอ-ชญานิษฐ์ โอภาสเสรีผดุง” ม. 5 รร.วัฒนาวิทยาลัย และ “นิว-นาวิน งามภูพันธ์” ม. 6 รร.วชิราวุธวิทยาลัย จะได้ไปศึกษาวิชาการสำรวจอวกาศเบื้องต้นในหลักสูตรเร่งรัดเป็นระยะเวลา 10 วัน ที่ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ในเมือง Huntsville รัฐ Alabama
การคัดเลือกของโครงการนี้แบ่งเป็นสองส่วนคือ ภาคทฤษฎีโดยมีการทำข้อสอบ SCAT (Space Camp Aptitude Test) จำนวน 100 ข้อ ภายในเวลา 180 นาที เป็นแบบทดสอบที่เป็นภาษาอังกฤษในด้าน STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) แบ่งเป็น physics, dynamics, logics และ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับความเป็นมาด้านการสำรวจอวกาศสากล หลังจากนั้นคัดเหลือ 21 คน สู่ภาคปฏิบัติเข้าค่ายคัดเลือกแข่งขันรอบสุดท้ายใน STEM Camp เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วัดความสามารถทั้งไอคิวและอีคิว เพื่อคัด 3 คน ตัวแทนประเทศไทย
ทั้งสามคนได้เล่าถึง 10 วันที่นาซ่าว่า “เราได้ฝึกจำลองการเป็นนักบินอวกาศกับเพื่อน ๆ ที่มาจากประเทศอื่น โดยแบ่งเป็นกลุ่ม 13 คน รวม ๆ แล้วมีประมาณ 200 คนจากทั่วโลก ได้อยู่ร่วมกันและทำภารกิจร่วมกันตลอด เช่น ช่วยกันผลิตของ ออกแบบวัสดุที่ใช้บนยานอวกาศ และได้เรียนรู้ว่ายานอวกาศควรจะเป็นแบบไหน ควรจะมีวัสดุสะท้อนแสงอย่างไร ได้ติดต่อสื่อสารกับคนที่อยู่บนยานอวกาศจริง ๆ ซึ่งแต่ละคนจะมีหน้าที่ เช่น คุมสถานียานอวกาศ บังคับยาน ฯลฯ และมีบางกลุ่มต้องอยู่ในห้องทดลองเพื่อทำภารกิจ ในส่วนนี้พี่ทีมงานจะเป็นคนกำหนดหน้าที่หรือภารกิจให้เรา"
"เมื่อได้ทำภารกิจร่วมกันก็จะรู้ว่าเพื่อนแต่ละคนมีความสามารถ มีทักษะด้านไหน เมื่อถึงกิจกรรมสุดท้ายพวกเราจะต้องเลือกเองว่าจะให้ใครทำหน้าที่อะไร ซึ่งในระหว่างที่ทำกิจกรรมจะมีผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ก่อนด้วย”
เจิ้นบอกถึงความยากของค่ายนี้ว่า “จะเป็นเรื่องของการใช้ภาษาอังกฤษ พอเวลาทำภารกิจ มีสถานการณ์จำลอง เราก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมดเลยก็ต้องพยายามฟังเขาให้รู้เรื่อง และการทำงานเป็นทีมกับเพื่อนต่างชาติทำให้เราเห็นต่างมุมมองมากขึ้นครับ”
พอและนิว พูดถึงสิ่งที่ได้หลังจากกลับมาไทยแล้วว่า “ทำให้เรามีความมุ่งมั่นเห็นแนวทางมากขึ้นที่จะเข้าคณะเกี่ยวกับการบินให้ได้ ได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตในอนาคต การสื่อสาร การควบคุม การทำงานเป็นทีมในสถานการณ์คับขัน ได้ประสบการณ์ที่สำคัญมาก ๆ ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ และก็ได้ฝึกภาษาอังกฤษให้คล่องมากขึ้น”
ถ้าเรามีความฝันอยากที่จะเป็นนักบินอวกาศ ก็ลงมือทำให้เต็มที่ ออกไปค้นคว้า ค้นหาให้เต็มที่ หากมีโอกาสดี ๆ ก็คว้าเอาไว้และทำให้ดีที่สุด เพราะบางทีความรู้เพียงในห้องเรียนไม่เพียงพอ เราต้องหากิจกรรมทำเพื่อการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เจิ้นทิ้งท้าย
เรื่อง : วรรณวิสา สุภีโส
ภาพปก : shutterstock.com