Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เล่นเพื่อเรียนรู้ Play for Learning

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 14 มิ.ย. 60
12,642 Views

  Favorite

ปกติแล้วคำว่า “เรียน” กับคำว่า “เล่น” นั้นมักจะเป็นคำคู่ตรงข้ามที่มีความหมายไปคนละทาง แต่ตามธรรมชาติของเด็กนั้น คำว่า “เล่น” ย่อมมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของเด็กได้มากกว่า

 

ดังนั้นถ้าเราสามารถนำคำทั้ง 2 คำนี้มาอยู่ด้วยกัน และก่อให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความสุขและสนุกสนาน ก็จะสามารถกระตุ้นให้กระบวนการเรียนรู้ของเด็กทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ภาพ : Shutterstock

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีนั้น ต้องเริ่มจาการเรียนรู้ และการเรียนรู้ที่ดีก็คือ การเรียนรู้ด้วยการเล่น เพราะขึ้นชื่อว่าเด็กแล้วนั้น การเล่น ถือเป็นกิจกรรมหลักอย่างหนึ่งในชีวิต อีกทั้งยังเป็นกระบวนการเรียนรู้หนึ่งที่จะช่วยให้เกิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นบทบาทสมมุติ ที่เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องสถานะต่าง ๆ ในสังคม การเล่นเกมแก้ปัญหา ที่เหมือนเป็นการจำลองสถานการณ์ให้เด็กรู้จักการคิดแก้ปัญหา หรือแม้กระทั่งการเล่นเกมกลุ่มที่มีความสนุกสนาน เด็ก ๆ ก็จะได้เรียนรู้เรื่องกฎระเบียบ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมด้วย

 

การเล่นที่มีประสิทธิภาพ คือการเล่นที่ส่งเสริมให้เด็กได้ใช้จินตนาการและความคิดร่วมด้วย ไม่ใช่การเล่นตามรูปแบบที่ถูกกำหนดไว้ เพราะการที่เด็กได้ “สร้างสรรค์” และ “ออกแบบ” วิธีการเล่นด้วยตนเองนั้น ถือว่าเด็กกำลังฝึกการวางแผน และการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ผ่านการเล่นอยู่

 

วิธีการ

1. ตั้งคำถามถามลูก

ในการเล่นแต่ละครั้ง พ่อแม่ควรมีการตั้งคำถามเพื่อให้ลูกได้คิดก่อนว่า วันนี้เกมที่ลูกอยากจะเล่นนั้น ลูกจะเล่นแบบไหน ลูกจะมีการกำหนดกฎกติกาการเล่นอย่างไร การตั้งคำถามเหล่านี้ถือเป็นการฝึกให้ลูกได้คิดเป็นเหตุเป็นผล และที่สำคัญการฝึกเช่นนี้จะช่วยเสริมสร้างทักษะความกล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น ส่งเสริมให้เด็กเกิดความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นผู้นำในอนาคตอีกด้วย

2. เฝ้าดูและให้คำปรึกษา

ในการเล่นแต่ละครั้ง เมื่อเกิดปัญหา พ่อแม่ควรเป็นผู้เฝ้าดูและให้คำปรึกษามากกว่าเป็นผู้ที่ลงมือทำให้ลูกเพราะเมื่อลูกเกิดปัญหาแล้วพ่อแม่แก้ไขให้ จะทำให้ลูกติดนิสัยของการเป็นคนยอมแพ้ต่อปัญหา และต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นตลอดจนไม่มีความพยายาม ดังนั้นเมื่อลูกเกิดปัญหาในการเล่น เช่น ต่อจิ๊กซอว์ไม่ได้ พ่อแม่อาจจะแค่คอยชี้แนะให้ลูกดูให้ละเอียดมากขึ้น คอยให้กำลังใจว่าลูกทำได้ และเมื่อลูกทำได้ก็ให้ความชื่นชม วิธีนี้นอกจากจะให้ลูกเกิดการเรียนรู้แก้ไขปัญหาแล้ว ยังทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีความอดทนและพยายามมากขึ้นด้วย

 

เพราะ “การเล่น” คือกระบวนการ “เรียนรู้” หนึ่ง ที่จะช่วยพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของเด็กให้มากขึ้น และเราเชื่อว่า เด็กที่มีประสบการณ์การเล่นในวัยเด็กมากพอ จะสามารถเรียนรู้และจัดการกับปัญหาเมื่อเขาเติบโตขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ “การเล่น” ได้หล่อหลอมให้พวกเขาเรียนรู้และแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ยังเด็กนั่นเอง

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow