พระราชวัง คือ บ้านและที่ทำงานของพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวังแห่งแรกของกรุงเทพมหานครฯ เรียกว่า พระบรมมหาราชวัง หรือวังหลวง | |
ในหลวง รัชกาลที่ ๑ ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งครอบครัว และผู้รับใช้ของท่าน และได้เสด็จสวรรคต ที่พระราชวังแห่งนี้ เป็นความเชื่อถือแต่โบราณว่า พระเจ้าแผ่นดินต้องประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ดังนั้น เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคตแล้ว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ จะต้องเสด็จเข้ามาประทับต่อไป สำหรับครอบครัวของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเสด็จสวรรคตไปแล้ว คงอยู่ในพระราชวังได้ต่อไป
กาลเวลาผ่านไปประมาณ ๑๐๐ ปี ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาล ที่ ๕ อาคารที่อยู่อาศัย และที่ทำงานเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่จำนวนผู้ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวังเพิ่มขึ้นมาก เกินกว่าที่จะอยู่อย่างสุขสบายเช่นเดิม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังใหม่อีกแห่งหนึ่ง เพื่อขยายที่อยู่ให้พอกับจำนวนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทรงเลือกที่นอกกำแพงเมืองออกไปทางทิศเหนือ ซึ่งปัจจุบันนี้คือ ตำบลสามเสน การสร้างพระราชวังใหม่ นอกจากจะเป็นการเพิ่มที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ และที่อยู่ของข้าราชบริพารแล้ว ยังเป็นการขยายเขตเมืองให้กว้างออกไป ทั้งนี้เมื่อมีพระราชวัง พร้อมทั้งคนจำนวนมากออกไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ ความเจริญเช่นถนนและการค้าขาย ก็จะเกิดขึ้นในที่นั้น ราษฎรจะสมัครใจติดตามออกไปตั้งบ้านเรือนจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ ในภายหลัง
พระราชวังแห่งใหม่นี้ต่างไปจากพระบรมมหาราชวัง เพราะมิได้คำนึงถึงเพียงอาคารที่อยู่อย่างเดียว แต่ได้เน้นไปในทางให้ผู้อยู่ได้อยู่ใกล้ธรรมชาติมากที่สุด กล่าวคือ สร้างพระที่นั่ง และพระตำหนัก ให้อยู่ท่ามกลางสวนดอกไม้ สวนผลไม้ แปลงไม้ประดับ แวดล้อมด้วยสระน้ำ คูน้ำ และคลองน้อยใหญ่ ทำให้เกิดความร่มรื่น และมีอากาศเย็นสดชื่นตลอดเวลา พระราชวังแห่งใหม่นี้ พระราชทานนามว่า พระราชวังสวนดุสิต
พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างสวนส่วนพระองค์ ชื่อ สวนจิตรลดา ใกล้กับพระราชวังสวนดุสิต ทรงสร้างพระตำหนักเพียงหลังเดียว ชื่อ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สำหรับเสด็จมาทรงพักผ่อน ทรงพระราชนิพนธ์ และทรงหนังสือราชการ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้รวมสวนจิตรลดาเข้าในพระราชวังสวนดุสิต และได้ตัดคำ"สวน" ออก เหลือแต่ "พระราชวังดุสิต"