การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนได้ทำมาตั้งแต่เกิดเป็นการออกกำลังกายโดยธรรมชาติเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ เช่น การกิน การหายใจ การถ่ายของเสียรวมทั้งการนั่ง การยืนและการเดิน เป็นต้น การออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษาจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงขึ้นมาใหม่ภายหลังการเจ็บป่วย เช่น ผู้ป่วยภายหลังใส่เฝือก ผู้ป่วยข้ออักเสบมีอาการเจ็บปวดมากไม่สามารถขยับเขยื้อนได้เป็นเวลานาน ๆ ผู้ป่วยอัมพาตแขนขาไม่มีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อก็จะลีบเล็กลงเพราะไม่ได้ใช้งานข้อจะเกิดการติดยึดทำให้งอและเหยียดไม่ได้เต็มที่ ดังนั้นการออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยประเภทนี้ผู้ป่วยจะต้องออกแรงเพื่อเป็นการออกกำลังกายด้วยตัวผู้ป่วยเองจึงจะทำให้กล้ามเนื้อนั้น ๆ แข็งแรงและโตกลับคืนมาใหม่เหมือนเดิม
ในการออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษาโดยผู้ป่วยออกแรงเองนั้น แบ่งออกเป็น 2 วิธี
วิธีที่ 1 คือ การเกร็งกล้ามเนื้อที่ต้องการให้ออกกำลังให้แข็งตัวขึ้นโดยที่ข้อต่าง ๆ ที่อยู่ในส่วนนั้นไม่มีการเคลื่อนไหวเลยการออกกำลังกายแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีแผลผ่าตัดที่ยังไม่หายดีไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อได้หรือเข้าเฝือกไว้ไม่สามารถเหยียดและงอข้อต่าง ๆ ในเฝือกได้การเกร็งกล้ามเนื้อควรทำทุกชั่วโมงที่ตื่นอย่างน้อยชั่วโมงละ 5 ครั้ง ๆ ละ 6 วินาที หรือใช้วิธีเกร็งกล้ามเนื้อแล้วนับหนึ่งถึงหกก็ได้จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นไม่ลีบเล็กลง
วิธีที่ 2 คือการออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษาด้วยตัวผู้ป่วยเองโดยผู้ป่วยจะต้องออกแรงให้มีการเคลื่อนไหวของข้อด้วยการให้มีการเหยียด การงอและการบิดของข้อ ครบตามหน้าที่ของแต่ละข้อขณะออกแรงให้มีแรงต้านทานต่อการเคลื่อนไหวของข้อนั้น ๆ อาจใช้น้ำหนักสปริงผู้ป่วยเองหรือผู้อื่นออกแรงต้านไว้โดยค่อย ๆ เพิ่มแรงต้านขึ้นทีละน้อยเมื่อกล้ามเนื้อมีกำลังมากขึ้นการทำแบบนี้จะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้นและข้อต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวดีขึ้น
ในผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต เช่น โรคโปลิโอการออกกำลังกายของส่วนที่เป็นอัมพาตที่เคลื่อนไหวไม่ได้เลยจะต้องอาศัยแรงจากภายนอกโดยการช่วยจับแขนหรือขาส่วนที่เป็นอัมพาตให้เหยียดและงอเพื่อป้องกันการติดของข้อถ้าเป็นการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อก็จะต้องใช้แรงจากภายนอกเสริมเพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อได้มากพอเมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นจึงลดการใช้แรงจากภายนอกและในที่สุดอาจเปลี่ยนมาใช้แรงต้านจากภายนอกเมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้นอีก