ปัจจุบันวรรณคดีท้องถิ่นมีบทบาทลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีลายลักษณ์คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีในท้องถิ่นของตนประกอบกับระบบการศึกษาในอดีตที่ผ่านมากำหนดให้การศึกษาภาษาไทยและวรรณคดีไทยในโรงเรียนเน้นเฉพาะภาษาไทยกลางและวรรณคดีของภาคกลางเท่านั้นทำให้เยาวชนจำนวนมากเลิกพูดภาษาถิ่นของตนไม่สนใจเพลงพื้นบ้านและอ่านวรรณคดีท้องถิ่นไม่เข้าใจ ทั้งยังมีโอกาสน้อยที่จะฟังพระเทศน์หรืออ่านวรรณคดีด้วยสำเนียงและทำนองท้องถิ่นซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งเพราะวรรณคดีท้องถิ่นนับเป็นมรดกภูมิปัญญาที่สำคัญของท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดให้แต่ละท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาของตนได้และให้ความสำคัญต่อการเรียนการสอนภาษาถิ่นและวรรณคดีท้องถิ่นโรงเรียนหลายแห่งในท้องถิ่นได้เปิดสอนวิชาท้องถิ่นของเราและวรรณคดีท้องถิ่นขึ้น อันจะทำให้การศึกษาวรรณคดีท้องถิ่นและการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นไปอย่างกว้างขวางขึ้น
สำหรับเยาวชนในปัจจุบันหากได้มีโอกาสศึกษาวรรณคดีท้องถิ่นก็จะมีความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตในสังคมไทยมากขึ้น มีความรู้เรื่องภาษาถิ่นและขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นซึ่งมีความหลากหลายในสังคมไทย ตลอดจนเข้าใจและซาบซึ้งในมรดกที่เป็นภูมิปัญญาด้านภาษาและวรรณคดีของไทยดียิ่งขึ้นจะได้ช่วยกันหาแนวทางในการอนุรักษ์สืบทอดและพัฒนาให้มีความเหมาะสมกับสังคมไทยในปัจจุบันและในอนาคตต่อไป