ผลสำเร็จในการใช้บัตรเจาะรูของแจ็คการ์ดในอุตสาหกรรมทอผ้าหลายปีมาแล้ว ไม่ได้ดลใจใครเลยนอกจาก แบบเบจ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๒๓ ดร. เฮอร์แมน ฮอลเลอริท (Dr. Herman Hollerith) นักสถิติทำงานอยู่กับสำนักงานสำมะโนประชากร ของสหรัฐอเมริกา พบว่าวิธีการสำรวจ สำมะโนประชากรในสมัยนั้นใช้วิธีการเขียนข้อมูลลงบนบัตร และใช้มือเรียงบัตร ซึ่งเสียเวลามาก ผลรายงานการสำรวจ สำมะโนประชากรใน พ.ศ. ๒๔๒๓ ทำไม่เสร็จ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๓๐ จึงได้มีการคาดคะเนกันว่า การสำรวจสำมะโนประชากร ครั้งต่อไปใน พ.ศ. ๒๔๓๓ จะทำไม่เสร็จใน ๑๐ ปี การทำเสร็จช้านี้ มีอุปสรรคในการกำหนดจำนวนที่นั่งในสภาคองเกรส ที่ต้องทำทุกๆ ๑๐ ปี ตามที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริการะบุไว้
ดังนั้น ฮอลเลอริทจึงคิดหาวิธีให้เร็วขึ้น โดยเริ่ม ทดลองเจาะรูบนม้วนกระดาษแทนข้อมูล วิธีเดียวกันกับ เจาะรูลงบนตั๋ว เนื่องจากกระดาษใช้งานได้ผลไม่เป็นที่น่า พอใจ เขาจึงเปลี่ยนเป็นบัตรขนาด ๓ x ๕ นิ้ว ซึ่งแบ่ง ออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ ขนาดประมาณ ๑/๔ นิ้ว ใช้บันทึกข้อมูลของข่าวสาร เช่น เพศ อายุ อาชีพ ซึ่ง เป็นพื้นฐานในการบันทึกข้อมูล สำหรับการสำรวจประชากร ใน พ.ศ. ๒๔๓๓ การบันทึกข้อมูลใช้วิธีเจาะรูบนบัตรด้วยมือ แล้วนำบัตรทีละแผ่น เข้าวางบนกรอบ ที่วางอยู่เหนืออ่างปรอท ซึ่งมีเข็มเล็กยาวจำนวนมากเรียงแถวกันอยู่เหนือบัตร เข็มใด ตรงกับรูที่เจาะก็จะรอดรูลงไปในอ่างปรอท ทำให้กระแส ไฟฟ้าสามารถไหลผ่านครบวงจร ทำให้มีเข็มชี้หมุนไปตำแหน่ง หนึ่งบนหน้าปัด และทำให้ฝาหีบบรรจุบัตรเปิดออก การ เรียงบัตรใช้มือเรียงตามตัวอักษรบนบัตร วิธีการนี้สามารถ ทำรายงานผลจากบัตรได้ด้วยอัตราเร็ว ๕๐-๗๕ บัตรต่อนาที จึงสามารถทำรายงานผลสำมะโนประชากร พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้ เสร็จภายในเวลา ๑/๓ ของการทำรายงานผล สำมะโนประชากร พ.ศ. ๒๔๒๓ ซึ่งวิธีการนี้ได้ทำด้วยมือ ทั้งสิ้น ดังนั้น เครื่องเจาะบัตร เครื่องอ่านบัตรที่ป้อน บัตรด้วยมือ เครื่องแสดงผลลัพธ์ของการสำรวจสำมะโนประชากรบนหน้าปัด และหีบเรียงบัตร เป็นชิ้นส่วนพวกแรก ที่ใช้ในการติดตั้งเครื่องเจาะบัตร