Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ตู้พระธรรม

Posted By Plookpedia | 08 มิ.ย. 60
17,704 Views

  Favorite

ตู้พระธรรม

      หนังสือเป็นแหล่งความรู้และสร้างปัญญาเราอยากรู้เรื่องอะไรเราเปิดอ่านได้จากหนังสือ  สารานุกรมเป็นแหล่งอ้างอิงอธิบายเรื่องต่าง ๆ ที่มีคุณค่า  ช่วยให้คำตอบเพิ่มพูนสติปัญญาของเรา
หนังสือและสารานุกรมจึงมีปกห่อหุ้มเพื่อรักษาเนื้อหาในเล่มไว้ให้คงทน  คนรักการอ่านนั้นมีหนังสือมากมายต้องเก็บรักษาไว้ในหีบ บนชั้น หรือทำตู้เก็บวางหนังสือให้เป็นระเบียบหยิบก็ง่ายหายก็รู้เมื่อ ๘๐๐  ปีมาแล้วเมืองไทยยังไม่มีการพิมพ์หนังสือไม่มีเครื่องเขียน เช่น กระดาษ ดินสอ ปากกา  การเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า นอกจากการแสดงพระธรรมเทศนาของพระสงฆ์แล้วยังมีการจารคัมภีร์เพื่อบันทึกพระธรรมคำสอนไว้บนแผ่นใบลาน  จาร คือ การใช้เหล็กปลายแหลมเรียวเล็กเขียนบนใบลานที่รีดเป็นแผ่นเรียบตัดเป็นสี่เหลี่ยมยาวเย็บเป็นเล่ม เล่มหนึ่ง ๆ เรียกว่า ผูก

ตู้พระธรรม

 

ตู้พระธรรม

 

     เมื่อมีคัมภีร์หลายผูก ช่างฝีมือจึงสร้างตู้พระธรรมไว้เก็บคัมภีร์เหล่านี้ ตู้พระธรรมมีรูปแบบเฉพาะและเขียนลวดลายลงรักปิดทองมีคุณค่าสูงส่งทางศิลปะไทย เมื่อมีตู้พระธรรมหลายตู้จึงต้องสร้างอาคารแบบไทยที่สวยงามและประณีตเพื่อวางตู้พระธรรม เรียกว่า หอไตร  วัดจึงมีหอไตรซึ่งมีตู้พระธรรมที่งดงามยิ่งเป็นเสมือนกับหอสมุดเก็บรักษาคัมภีร์ต่าง ๆ และพระไตรปิฎกไว้เพื่อพุทธศาสนิกชนจะได้ศึกษาเล่าเรียนต่อไป

 

ตู้พระธรรม

 

 

 

      ตู้พระธรรม เป็นตู้ไทยโบราณเขียนลวดลายลงรักปิดทองทั้งตู้โดยทั่วไปใช้เก็บคัมภีร์ใบลานเก็บหนังสือที่เกี่ยวกับพระธรรมคำสอนและศิลปวัตถุที่มีค่าในพระพุทธศาสนา  แต่เดิมยังไม่มีสมุดและดินสอการบันทึกพระธรรมคำสอนจึงใช้วิธีนำเหล็กแหลมขีดเขียนลงบนใบลานที่ตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมยาว ๆ วางเรียงซ้อนกัน ร้อยด้วยเชือกเล็ก ๆ เรียกว่า สายสนอง รวมกันเป็นผูก แต่ละเรื่องอาจมีหลายผูกรวมกันแล้วใช้แผ่นไม้ ๒ อัน ขนาดเท่ากับแผ่นใบลาน ประกบ (ภาษาโบราณใช้ว่า ประกับ) หน้าหลัง เสียบฉลากหรือป้ายบอกชื่อเรื่องในคัมภีร์แล้วสร้างตู้เก็บรักษา เรียกว่า ตู้พระธรรม บางครั้งพระสงฆ์อาจเก็บคัมภีร์ไว้ในหีบ เรียกว่า หีบพระธรรม เมื่อสร้างหีบแล้วอาจต่อขาลงมา ๔ ข้าง และทำบานปิดเปิดได้ทางด้านหน้า หีบพระธรรมจึงกลายเป็นตู้พระธรรมซึ่งชาวบ้านนิยมสร้างอุทิศถวายไว้ในวัดสืบต่อมาครั้นเจ้านายและชนชั้นสูงต้องการสร้างตู้พระธรรมถวายเป็นพุทธบูชาหรืออุทิศผลบุญแก่ผู้ล่วงลับ

      การสร้างตู้พระธรรมจึงมีช่างฝีมือที่สร้างตู้อย่างประณีตงดงามขึ้น มีการเขียนลายไทยเป็นลายรดน้ำบนพื้นรักสีดำที่บานประตูทั้ง ๒ บาน เช่น ลายกระหนก ลายก้านขด นอกจากนั้นยังมีการตกแต่งด้วยลายเครือเถาแบบต่าง ๆ สอดแทรกด้วยภาพสัตว์ เช่น นก กระรอก ลิง นาค ทำให้ดูสวยงามมีชีวิตชีวา  เมื่อมีผู้สร้างตู้พระธรรมอุทิศถวายไว้ในวัดมากขึ้นวัดจึงต้องมีการก่อสร้างสถานที่เก็บพระไตรปิฎกและตู้พระธรรม เรียกว่า หอพระไตรปิฎกหรือหอไตร เป็นที่เก็บรักษาพระธรรมคัมภีร์เสมือนหอสมุดของวัด หอไตรเป็นอาคารที่มีลักษณะพิเศษก่อสร้างอย่างประณีตงดงามสมกับเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์อันมีคุณค่าสูงยิ่ง

 

ลายไทยที่ใช้ตกแต่งตู้พระธรรม
ลายไทยที่เขียนขึ้น เพื่อใช้ตกแต่งตู้พระธรรม

 

ลายไทยที่ใช้ตกแต่งตู้พระธรรม
ลายไทยที่เขียนขึ้น เพื่อใช้ตกแต่งตู้พระธรรม

 

ลายไทยที่ใช้ตกแต่งตู้พระธรรม
ลายไทยที่เขียนขึ้น เพื่อใช้ตกแต่งตู้พระธรรม

 

      ตู้พระธรรมมีรูปลักษณะแบบไทยโดยเฉพาะ นอกจากเป็นการแสดงฝีมือช่างในการเขียนลายไทยและการลงรักปิดทองแล้ว ที่น่าสนใจคือรูปทรงของตู้และองค์ประกอบส่วนต่าง ๆ ของตู้พระธรรมโดยเฉพาะขาตู้ซึ่งกำหนดชื่อของตู้พระธรรมให้เรียกชื่อต่างกันด้วย ได้แก่ ตู้ขาหมู ตู้ขาหมูมีลิ้นชัก ตู้เท้าสิงห์ ตู้เท้าสิงห์มีลิ้นชัก ตู้ฐานสิงห์ และตู้เท้าคู้  ตู้พระธรรมไม่เพียงแต่มีความงดงามทางการเขียนลายของช่างฝีมือเลิศและเป็นคลังความรู้ทางพระพุทธศาสนาเท่านั้นบนบานตู้พระธรรมยังแสดงเรื่องราวภาพตัวละครในวรรณคดีและภาพพุทธประวัติไว้ด้วย เช่น ภาพเทพารักษ์ ภาพในเรื่องรามเกียรติ์ ภาพพุทธประวัติปางเสด็จออกผนวช ภาพทศชาติ และวรรณกรรมชาดก  ลายทองบนบานตู้พระธรรมเป็นสิ่งบ่งบอกยุคสมัยของการสร้างตู้นั้น ตู้พระธรรมที่สร้างในสมัยอยุธยามีลวดลายเถากระหนกสะบัดปลายพลิ้วดุจเปลวไฟต้องลมดูอ่อนช้อยได้สัดส่วนงดงามยิ่งแสดงฝีมือช่างอย่างยอดเยี่ยม

 

ลายไทยที่ใช้ตกแต่งตู้พระธรรม
ลายไทยที่เขียนขึ้น เพื่อใช้ตกแต่งตู้พระธรรม 

 

ลายไทยที่ใช้ตกแต่งตู้พระธรรม
ลายไทยที่เขียนขึ้น เพื่อใช้ตกแต่งตู้พระธรรม 

 

 

      ตู้พระธรรมที่สร้างในสมัยธนบุรีมีลวดลายปลายเส้นกระหนกที่ดูแข็งขึ้นช่างมีความประณีตน้อยกว่าสมัยอยุธยาอาจเป็นเพราะว่าอยู่ในสมัยที่บ้านเมืองสิ้นสุดสงครามและเริ่มต้นฟื้นฟูให้เข้าสู่ภาวะปกติ  ในสมัยรัตนโกสินทร์เริ่มมีแบบแผนในการสร้างตู้พระธรรมและมีแบบฉบับต้นร่างลายต่าง ๆ มากขึ้น ลายกระหนกบนบานตู้จึงมีลักษณะเหมือนกันทั้งตู้ไม่มีการเพิ่มเติมอารมณ์และจินตนาการของช่างเหมือนสมัยอยุธยา

าพตัวละครในวรรณคดี และวรรณกรรมชาดก
ภาพตัวละครในวรรณคดี และวรรณกรรมชาดก ที่เขียนบนบานตู้พระธรรม บ่งบอกถึงยุคสมัยของการสร้างตู้นั้น

 

ภาพตัวละครในวรรณคดี และวรรณกรรมชาดก
ภาพตัวละครในวรรณคดี และวรรณกรรมชาดก ที่เขียนบนบานตู้พระธรรม บ่งบอกถึงยุคสมัยของการสร้างตู้นั้น

 

      อย่างไรก็ตามตู้พระธรรมนับเป็นศิลปวัตถุที่ทรงคุณค่าทั้งทางด้านวิจิตรศิลป์และเป็นแหล่งความรู้ของคนไทยสืบต่อกันมา ปัจจุบันเราสามารถชมความงดงามของตู้พระธรรมโบราณได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล ถนนหน้าพระธาตุ และที่หอพระสมุดวชิรญาณในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกร ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow