Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สิ่งปลูกสร้างในเขตสังฆาวาส

Posted By Plookpedia | 08 มิ.ย. 60
2,083 Views

  Favorite

สิ่งปลูกสร้างในเขตสังฆาวาส

ในเขตสังฆาวาสมีสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 

๑. กุฏิ 

      คือ เรือนหรือตึก สำหรับเป็นที่อยู่ของพระภิกษุ และสามเณร กุฏิทั่วไปมีลักษณะคล้ายกับเรือนทรงไทย ปลูกเป็นหลังยาว ๆ แล้วกั้นฝาประจันแบ่งเป็นห้อง ๆ เพื่อให้พระภิกษุ หรือสามเณร อยู่ห้องละองค์ ตามวินัยบัญญัติ กุฏิแต่ละหลัง มักปลูกขึ้นเป็นหมู่ โดยหันด้านหน้าเข้าหากัน มีชานนอกเป็นพื้นโล่ง เชื่อมถึงหน้ากุฏิทุกหลัง พื้นที่ตรงกลางชานนอกมักสร้างเรือนโถงขึ้น หลังหนึ่งเรียกว่า “หอฉัน” สำหรับพระภิกษุ และสามเณร ปฏิบัติภัตกิจแต่ละวัน กุฏิที่ปลูกสร้างเป็นลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า “คณะหมู่” นิยมสร้างขึ้นให้เป็นที่อยู่ สำหรับคณะสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ คือ คณะสงฆ์ที่เล่าเรียนพระคัมภีร์ หรือการศึกษาพระปริยัติธรรม กับกุฏิอีกลักษณะหนึ่ง ปลูกสร้างขึ้นแบบเรือนทรงไทย เป็นหลังโดดๆ และมีขนาดเล็ก มีพื้นที่ภายในกว้างพอ สำหรับพระภิกษุรูปเดียวพำนักอยู่ได้ กุฏิลักษณะนี้อาจสร้างขึ้นได้หลาย ๆ หลัง แต่จัดให้อยู่ห่าง ๆ กันในบริเวณเดียวกัน หมู่กุฏิลักษณะนี้เรียกว่า “คณะกุฎิ์” นิยมสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นที่อยู่สำหรับคณะสงฆ์ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือ คณะสงฆ์ที่ศึกษาด้านการเจริญวิปัสสนา หรือกิจการพระศาสนา ในด้านการบำเพ็ญกรรมฐาน วัดแห่งหนึ่ง อาจมีทั้งคณะหมู่ และคณะกุฎิ แต่บางวัด อาจมีเพียงคณะเดียวเท่านั้น 

 

กุฏิ

 

๒. ศาลาการเปรียญ 

    คือ สิ่งปลูกสร้างลักษณะคล้ายเรือนหลังใหญ่ ยกพื้นสูงเสมอ ศีรษะคนยืน มีเฉลียงโดยรอบ กั้นฝาแต่ละด้านเป็นฝาโปร่ง ๆ ภายในศาลาตอนที่อยู่ชิดฝา ด้านหนึ่งทำยกพื้นเป็น “อาสน์สงฆ์” สำหรับพระสงฆ์ขึ้นนั่งเจริญพระพุทธมนต์ ตรงหัวอาสน์สงฆ์ด้านหนึ่ง เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปและเครื่องบูชา  ศาลาการเปรียญได้รับการสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาพระพุทธศาสนา สำหรับพระสงฆ์ในวันธรรมดา กับบรรดาพุทธศาสนิกชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในการบำเพ็ญกุศลในวันธรรมสวนะ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา 

 

ศาลาการเปรียบ

 

๓. หอกลอง - หอระฆัง 

        คือ สิ่งปลูกสร้าง ที่มีลักษณะเป็นหอสูง ประกอบด้วยเสา ๔ ต้น ตั้งขึ้นไปรับพื้นหอ มีหลังคาคลุม ตัวหอเปิดโล่งทั้ง ๔ ด้าน ทำพื้นเป็นชั้น และทำบันไดขึ้นไปจนสุดชั้นบน ที่เพดานชั้น บนแขวนระฆังไว้ ๑ ลูก ส่วนชั้นล่างลงมาแขวนกลองขนาดย่อมไว้ ๑ ลูก บางวัดอาจสร้างหอขึ้น สำหรับไว้กลองโดยเฉพาะ 
        หอกลอง - หอระฆังนี้ สร้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นสถานที่สำหรับตีระฆัง และตีกลอง เพื่อแจ้งเวลาแก่พระสงฆ์ให้ทราบ สำหรับทำ “วัตรปฏิบัติ” ประจำวัน ตามปกติ ในเวลากลางวันจะตีกลอง ส่วนกลางคืนจะตีระฆัง สาเหตุที่ต้องทำเป็นหอสูง ๆ ก็เพื่อให้เสียงดังไปไกล ๆ บรรดาชาวบ้าน ในละแวกวัด จะได้ทราบเวลาระหว่างวันและคืนด้วย 

 

หอระฆัง หอกลอง

 

๔. ศาลาบาตร 

       คือ สิ่งปลูกสร้างขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นแคร่ หรือฐานก่ออิฐยกพื้น มีความสูงเสมอเอว และกว้างพอตั้งบาตรได้ ความยาวไม่จำกัด แต่ต้องมีหลังคาคลุมตลอด ศาลาบาตรนี้มักสร้างไว้ใกล้กับศาลาการเปรียญ สำหรับเป็นที่ตั้งบาตรเรียงรายเป็นแถว เพื่อรอรับบรรดาพุทธศาสนิกชน มาตักบาตรในวันธรรมสวนะ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา 

๕. เว็จกุฎี 

        คือ สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับพระสงฆ์ และสามเณรถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ แต่เดิมสร้างขึ้นลักษณะคล้ายเรือนทรงไทย โดยทำเป็นหลังยาว ๆ ขนาดเล็ก ยกพื้นสูง หน้าเรือนมีระเบียงแคบทอดไปตามยาว ภายในเรือนกั้นฝาแบ่งเป็นห้องเล็ก ๆ พอนั่งถ่ายทุกข์ได้เฉพาะตัว ด้านหน้าเปิดเป็นช่องประตูแต่ไม่มีบานปิด มีแต่แผงไม้ขนาดสูงเสมอหัวเข่ากั้นขวางไว้ เพื่อกันไม่ให้คนภายนอกมองเห็นคนที่อยู่ภายในได้ พื้นตรงกลางห้องเจาะทำช่องกลม ๆ ไว้ สำหรับถ่ายอุจจาระ และมีแผ่นไม้เซาะเป็นราง รองรับปัสสาวะให้ไหลไปตามราง ซึ่งยาวลอดรูฝาด้านหลัง ไปตกข้างนอกห้อง ใต้ถุนเว็จกุฎีก่ออิฐเป็นฝาล้อมไว้กันอุจาด เว็จกุฎีลักษณะที่อธิบายมานี้ ปัจจุบันไม่ค่อย มีให้เห็น เนื่องจากเปลี่ยนมาใช้ส้วมแบบสมัยใหม่กันเป็นส่วนมาก

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow