สิ่งปลูกสร้างประเภทปูชนียสถาน คือ สถานที่ประดิษฐานสิ่งสำคัญ อันควรแก่การนับถือ และการบูชา ในพระพุทธศาสนา คือ พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งนิยมสร้างขึ้นเป็น ๒ ประเภท คือ พระสถูปเจดีย์ และพระมหาธาตุเจดีย์ ปูชนียสถานทั้ง ๒ ประเภทนี้ สร้างขึ้น เพื่อถวายไว้เป็น “พุทธานุสรณ์” คือ ที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า โดยปูชนียสถานทั้ง ๒ ประเภท มีลักษณะรูปแบบแตกต่างกัน ดังนี้
มีลักษณะของรูปแบบโดยรวมแตกต่างกัน ๒ แบบ คือ
ปูชนียสถานประเภทนี้ ในปัจจุบันมักรู้จักในนามว่า “พระปรางค์” ส่วนคำว่า “มหาธาตุ” เป็นคำที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย หมายถึง พระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า และคำว่า “พระมหาธาตุเจดีย์” หมายถึง พระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า ตัวอย่างได้แก่ พระปรางค์วัดราชบูรณะ และพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร
พระมหาธาตุเจดีย์มีรูปทรงสัณฐานที่เลียนแบบมาจาก “ปราสาท” คือ เรือนที่สร้างซ้อนกันขึ้นไปหลาย ๆ ชั้น เดิมทำด้วยไม้ เป็นที่ประทับสำหรับเจ้านาย หรือที่อยู่ของคหบดี ภายหลังสร้างด้วยหินบ้างอิฐบ้าง สำหรับประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนา จึงสร้างแต่พอใช้ประโยชน์เฉพาะชั้นล่างเพียงชั้นเดียว ส่วนชั้นที่อยู่เหนือขึ้นไป ก็ทำเป็นส่วนย่อจำลอง เพื่อให้ทราบว่า เดิมเป็นเรือนหลายชั้น แล้วก่อรวบตอนบนเป็นแท่งทึบ ซึ่งอยู่ในรูปทรงคล้าย “ฝักข้าวโพด” ปูชนียสถานประเภทมหาธาตุเจดีย์ในชั้นต้น ๆ ก็มีรูปทรงดัง “ฝักข้าวโพด” นี้ โดยมีองค์ประกอบต่าง ๆ ประกอบร่วมกัน คือ ฐานชั้นต่ำสุดเป็นฐานแบบ “ฐานบัตร” รูปสี่เหลี่ยม จัตุรัสซ้อนกันขึ้นไป ๑ หรือ ๒ ชั้น จึงก่อทำเป็น “ฐานเชิงบาตร” ตั้งซ้อนกัน ๓ ชั้นเป็นเถา หลังฐานชั้นบนสุดก่อทำเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มีช่องประตูประจำด้านละช่อง พร้อมกับซุ้มคูหาประกอบช่องประตูแต่ละช่อง ประตูด้านหลัง และด้านข้างทั้งสองด้าน มักก่อผนังปิดไว้ แล้วจัดให้มีพระพุทธรูปมีอาการทรงยืนแสดงปางต่าง ๆ ประดิษฐานไว้ ช่องละองค์ ส่วนประตูทางด้านหน้าเปิดว่างไว้ สำหรับเป็นทางเข้าออก ตอนที่เป็นเรือนดังกล่าวนี้เรียกว่า “เรือนธาตุ” หรือ “ครรภธาตุ” ตอนหลังเรือนธาตุขึ้นไปคือ ส่วนยอดของพระมหาธาตุ ก่อทำเป็นแท่งทึบ รูปทรง ๔ เหลี่ยม ตอนปลายสุดรวบเข้าหากันคล้ายรูปกรวยแหลมเตี้ย ๆ ส่วนยอดที่เป็นรูปแท่ง ๔ เหลี่ยมตั้งสูงขึ้นไปนี้ แบ่งเป็นช่วง ๆ คั่นด้วย “รัดประคด” ลักษณะเป็นแถบยาว ๆ คาดขวางวงอยู่โดยรอบ ช่วงห่างระหว่างรัดประคดที่คาดคั่นอยู่แต่ละด้าน ประดับด้วย “บันแถลง” ทั้ง ๔ ด้าน ส่วนที่เป็นมุมทั้ง ๔ มุม ประดับด้วยกาบอย่าง “บัวกาบขนุน” ปลายบนสุดของมหาธาตุเจดีย์ ก่อเป็นกลีบคล้ายกลีบบัวรวบเข้าด้วยกัน เรียกว่า “จอมโมฬี” เหนือส่วนนี้ตั้ง “นภศูล” โดยปักตรงขึ้นไว้เป็นส่วนปลายบนสุดของมหาธาตุเจดีย์ อนึ่ง ด้านหน้ามหาธาตุเจดีย์มีบันไดก่อเป็นทางขึ้นไปยังประตูทางด้านหน้า ที่เปิดเป็นช่องว่างไว้ มหาธาตุเจดีย์ลักษณะดังอธิบายนี้มักเรียกว่า “พระปรางค์โดด” หรือ “ปรางค์โดด” ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะเป็นมหาธาตุเจดีย์องค์เดียวเดี่ยว ๆ ตัวอย่างของมหาธาตุเจดีย์ในสมัยต้น ๆ นี้ ได้แก่ พระปรางค์วัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา