อาการของโรคที่พบทั้งต้น
มีหลายลักษณะ เช่น
อาการเหี่ยว
เริ่มแรกมักเห็นใบเหี่ยวลู่ลงก่อนแล้วค่อยๆ เหี่ยวทั้งต้น และตายในที่สุด เมื่อพบอาการเหี่ยวควรพิจารณาถึงสาเหต ุเนื่องจากพืชขาดน้ำ แต่ถ้าพืชแสดงอาการเหี่ยว ในบริเวณที่มีน้ำสมบูรณ์ แสดงว่าการทำงานของระบบรากไม่ปกติ อาจเกิดรากเสีย เช่น รากปม รากเป็นแผล รากขาด เนื่องจากการทำลายของไส้เดือนฝอยหรือการเขตกรรม รากเน่า จากการทำลายของเชื้อรา บัคเตรี หรือมีน้ำขัง บางครั้งพบว่าระบบท่อน้ำภายในพืชถูกอุดตัน เนื่องจากสาเหตุบางประการ
อาการแตกพุ่ม
บริเวณจุดเจริญ เช่น ตาดอก ตาใบมีการเจริญเติบโต เป็นกิ่งก้าน และใบมากกว่าปกติ แต่ใบและก้านที่แตกนี้ไม่สมบูรณ์ มีขนาดเล็ก เป็นพุ่มกระจุกคล้ายไม้กวาด ในพืชบางชนิด กลีบดอกจะมีลักษณะคล้ายใบ และเกิดเป็นพุ่มสีเขียวแทนดอก ตัวอย่างที่พบ ได้แก่ การแตกพุ่มไม้กวาดของลำไย การแตกพุ่มไม้กวาดของถั่วฝักยาว การแตกพุ่มของตะบอกเพชร การเกิดดอกพุ่มสีเขียวพิทูเนีย และพังพวย สาเหตุเกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา
อาการเน่าเละ
เนื้อเยื้อพืชจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงดำ เกิดอาการเน่าเละ มีน้ำเมือก มักมีกลิ่นเหม็นรุนแรง เกิดได้กับส่วนต่างๆ ของพืชทั้งผล ราก หัว และใบ มักเกิดกับพวกผัก เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดเขียว ผักกาดหัว และผลิตทางการเกษตรในโรงเก็บ สาเหตุเกิดจากเชื้อบัคเตรี
อาการแคระแกร็น
พืชเจริญเติบโตไม่เต็มที่ มีการชะงักการเจริญเติบโต ต้น กิ่งก้าน ใบ และผล มีขนาดเล็ก บางครั้งพบลำต้น ข้อปล้อง กิ่งก้านสั้น และแข็งกระด้าง มักมีอาการใบเปลี่ยนสี และหงิกงอรวมอยู่ด้วย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส