Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สีและลวดลายบนปีกของผีเสื้อ

Posted By Plookpedia | 07 มิ.ย. 60
9,102 Views

  Favorite

สีและลวดลายบนปีกของผีเสื้อ 

ดังกล่าวมาแล้วว่า ลวดลายและสีบนปีกผีเสื้อประกอบ ขึ้นด้วยเกล็ดสีเล็กๆ เรียงกันคล้ายกระเบื้องบนหลังคา สีของแต่ละเกล็ดจะเกิดจากเม็ดสีภายในเกล็ด หรือเกล็ดที่ไม่มีเม็ดสีภายใน แต่มีรูปร่างเป็นสันนูนสะท้อนแสงสีรุ้งออกมาได้

 

 

 

การเรียงเกล็ดสีบนผีเสื้อ ดักแด้ของผีเสื้อ

 

 

เม็ดสีอาจสร้างได้จากสารเคมีในตัวแมลงเอง หรือจากสารเคมีที่แปลงรูปมาจากพืชอาหารของมัน สีเหลืองเรียกว่า เทอรีน (pterines) มาจากพวกกรดยูริก ซึ่งเป็นสิ่งขับถ่าย พบในผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อหนอนกะหล่ำ สีแดง และสีส้มพบในพวกผีเสื้อขาหน้าพู่ สีแดงนี้จะค่อยๆ ซีดลง เมื่อถูกกับออกซิเจนในอากาศ ผีเสื้อพวกนี้เมื่อออกมาใหม่ๆ จึงมีสีสดกว่าพวกที่ออกมานานแล้ว แต่ถ้านำไปรมไอคลอรีน สีจะกลับคืนมา บางทีจะมีสีสดใสกว่าเดิม ส่วนสารฟลาโวน (flavone) ได้มาจากพืช สารนี้อยู่ในดอกไม้ ทำให้มีสีขาวจนถึงสีเหลือง พบในผีเสื้อสีตาล และผีเสื้อบินเร็วบางพวก สารนี้จะเปลี่ยนสีจากสีขาวเป็นสีเหลืองเข้ม เมื่อถูกกับแอมโมเนีย สารพวกเมลานิน (melanin) เป็นสารสีดำ พบในคนและสัตว์สีดำทั่วไป สีเขียวและสีม่วงฟ้า เป็นสีที่เกิดจากการสะท้อนแสงของเกล็ดสีบนปีก โดยแสงจะส่องผ่านเยื่อบางๆ หลายชั้น ที่ประกอบกันเป็นเกล็ด หรือสะท้อนจากเกล็ดที่เป็นสันยาวเหมือนสีรุ้ง ที่สะท้อนให้เห็นบนฟองสบู่
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตลมมรสุม จึงมีลักษณะของ อากาศในฤดูฝนกับฤดูร้อนแตกต่างกันมาก สภาพนี้มีผลต่อผีเสื้อหลายพวก ทำให้มีลักษณะและสีเป็นรูปร่างเฉพาะของแต่ละฤดู เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพป่าในฤดูนั้นๆ เช่น ในฤดูฝนจะมีสีสดใส และมีจุดดวงตากลม (ocellus) ข้างใต้ปีก และขอบปีกจะมนกลม ในหน้าแล้ง ลายและสีใต้ปีกจะไม่พบเป็นรูปดวงตากลม แต่มีลายกระเลอะๆ อย่างใบไม้แห้งแทน และปีกจะหักเป็นมุมยื่นแหลมออกมา ผีเสื้อเหล่านี้ เช่น ผีเสื้อตาล พุ่ม (Mycalesisspp.) และผีเสื้อแพนซี มยุรา (Precis almana)

สิ่งแปลกที่พบในพวกผีเสื้อ ก็คล้ายกับที่พบในพวกนกบางชนิด คือ มีสีสันของปีกในเพศหนึ่งแตกต่างจากอีกเพศหนึ่ง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ในสมัยก่อนจัดเอาไว้เป็นคนละชนิด หรือคนละสกุล เช่น ผีเสื้อหนอนส้ม (Papilio polytes) ผีเสื้อปีกไข่เมียเลียน (Hypolimnas misippus) นอกจากนี้ ผีเสื้อบางชนิดยังมีลักษณะของเพศใดเพศหนึ่ง แตกต่างกันออกไปอีกหลายแบบ แต่ละแบบอาจมีสีสันแตกต่างกันออกไป จนคนทั่วไปไม่อาจเชื่อได้ว่า เป็นชนิดเดียวกัน พวกที่เพศเมียมีรูปร่างหลายแบบ เช่น ผีเสื้อหางติ่ง ผีเสื้อนางละเวง (Papilio memnon) ผีเสื้อหนอนมะพร้าว (Elymnias hypermnestra) ส่วนชนิดที่เพศผู้มีรูปร่าง หลายแบบได้แก่ ผีเสื้อบารอนฮอสพีลด์ (Euthalia monina)

 

 

 

 

ผีเสื้อที่มีความผิดเพี้ยนจากแบบปกติบนสุด เป็นแบบจีแนนโดรมอร์ฟ แถวซ้ายเป็นแบบปกติ แถวขวาเป็นแบบผิดเพี้ยน


โดยปกติผีเสื้อทุกตัวมีความแตกต่างกันบ้างไม่มากก็น้อย แม้ว่าจะเป็นผีเสื้อชนิดเดียวกัน บางตัวอาจมีลักษณะ หรือสีที่แตกต่างจากตัวอื่นๆ เรียกว่า ความผิดเพี้ยน (aberration) ซึ่ง อาจเกิดจากสภาพอากาศ หรือเหตุอื่นๆ ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อดักแด้ ในระยะที่มีการสร้างเม็ดสีภายในตัว หรืออาจเกิดจากการผ่าเหล่าทางพันธุกรรม จึงมีสีจาง หรือเข้มกว่าปกติ บางทีมีลวดลายบนตัวแตกต่างไปจากลายปกติแบบที่หาได้ยากมาก เรียกว่า จีแนนโดรมอร์ฟ (gynandromorph) มีลำตัวแบ่งออกเป็น ๒ ซีก ซีกซ้ายเป็นตัวผู้ และซีกขวาเป็นตัวเมีย แต่ละซีกจะแสดงสีสัน และขนาดของเพศนั้นๆ ดูแปลกมาก ผู้เขียนพบผีเสื้อที่มีลักษณะแบบ นี้ในบริเวณจังหวัดชุมพร เป็นผีเสื้อหนอนใบกุ่มเส้นดำ (Appias libythea) นับเป็นครั้งแรกที่พบในประเทศไทย 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow