Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระยะดักแด้

Posted By Plookpedia | 07 มิ.ย. 60
6,417 Views

  Favorite

ระยะดักแด้ 

เมื่อหนอนลอกคราบจนครบ และเติบโตเต็มที่แล้ว จะหยุด กินอาหาร หาที่หลบซ่อนตัวพักอยู่อย่างนั้นสัก ๑๒ ชั่วโมง หรืออาจนานกว่า ระหว่างนี้จะสร้างแผ่นไหมเล็กๆที่ปลายลำตัว เพื่อใช้ขอเล็กๆ เกี่ยวเอาไว้ให้มั่นคง ก่อนลอกคราบครั้งสุดท้าย เป็นดักแด้

 

หนอนที่จะลอกคราบ จะสูบเอาอากาศเข้าสู่ภายในตัว เกิดรอยปริแตกขึ้นทางด้านหลังของส่วนอก แล้วรอยปริจะแตกเรื่อยไปสู่ปลายลำตัว เมื่อคราบลอกออกไปแล้ว ผิวหนังที่อยู่ภายในอีกชั้นหนึ่ง จะห่อหุ้มให้มีรูปร่างเป็นตัวดักแด้ แต่ยังนุ่มและมีสีจาง ต้องใช้เวลาอีกหลายชั่วโมง จึงจะแข็งตัว และสีจะเข้มขึ้น
ลักษณะของดักแด้ผีเสื้อพอจะแยกออกได้เป็น ๓ แบบ คือ พวกห้อยหัวลง พวกนี้ใช้ขอเล็กๆ ที่ปลายลำตัวเกี่ยวไว้กับ แผ่นไหมเล็กๆ แล้วห้อยหัวลง พบในดักแด้ของผีเสื้อหนอนรัก และผีเสื้อขาหน้าพู่ พวกที่สอง นอกจากมีขอเกี่ยวที่ปลายลำตัว แล้วยังมีสายใยเล็กรัดรอบตัวช่วยพยุงดักแด้เอาไว้กับที่เกาะ ได้แก่ ดักแด้ของผีเสื้อหางติ่ง และผีเสื้อหนอนกะหล่ำ พวกสุดท้ายเป็นดักแด้ที่ไม่มีอะไรยึดกับวัตถุที่เกาะ แต่จะวางราบบนพื้นดิน หรืออยู่ในม้วนใบไม้ที่ยึดติดกันเป็นหลอด หรืออยู่ในรังไหม เช่น ดักแด้ของผีเสื้อสีตาลบางชนิด ดักแด้ของผีเสื้อบินเร็ว และดักแด้ของผีเสื้อกลางคืนส่วนมาก

เนื่องจากดักแด้เป็นระยะที่อยู่นิ่ง เกิดอันตรายจากศัตรูได้ง่าย ดักแด้จึงมีสี และรูปร่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม บางชนิดมีรูปร่างคล้ายกิ่งไม้หัก บางชนิดมีลักษณะใบไม้แห้ง การที่หนอนซึ่งดูน่าเกลียดมีหนามและขนปกคลุมตัว กลายสภาพมาเป็นดักแด้ที่อยู่นิ่งเฉย ไม่กินอะไรเลย จึงเป็นเรื่องประหลาดทางธรรมชาติมาก

 

 

 

 

ดักแด้ของผีเสื้อ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow