เรามักพบผีเสื้อสีสดสวย กางปีก ๒ คู่ที่มีลวดลาย สีสันงดงาม รูปร่างปีกก็แปลกๆ ตาน่าชม บินว่อนร่อนลมอยู่ทั่วไป รอบๆ บริเวณบ้าน ตามสุมทุมพุ่มไม้ ตามป่าหญ้า ป่าเขา ริมลำธาร ใกล้หนองน้ำ เหนือพื้นดินพื้นทรายที่ชุ่มชื้น จะมีผีเสื้อกลางวันให้เราดูเล่น ชมเล่นเสมอๆ เรารู้ว่า ผีเสื้อแสนสวยเหล่านี้มีมากมายหลายชนิดเหลือเกิน
น่าสังเกตว่า ผีเสื้อก็ชอบดอกไม้บาน เช่นเดียวกับแมลงจำพวกผึ้ง หรือแมลงภู่ ที่ไหนมีดอกไม้สวยๆ ออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่น และสี ล่อใจแมลงอยู่ ที่นั่นเราก็จะพบผีเสื้อและแมลงเหล่านี้ บินวนเวียนอยู่ใกล้ๆ เพราะผึ้งก็ดี แมลงภู่ก็ดี รวมทั้งผีเสื้อด้วย ต่างก็กินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้เป็นอาหารเช่นกัน | |
เราจะรู้สึกสดชื่นรื่นรมย์ใจ เมื่อได้ชมธรรมชาติเช่นนี้ เพราะยามใดที่เราได้เห็น ลวดลาย สีสันอันงดงามของเหล่าผีเสื้อ ตลอดจนท่าทีที่มันบินว่อนร่อนชมดอกไม้ ยามนั้นเราจะพลอยรู้สึกถึงความหอม ความหวานของดอกไม้ จะพลอยรู้สึกถึงคุณค่า และความงามของธรรมชาติรอบตัวเราไปด้วย |
มีใครเคยเห็นผีเสื้อสวยงามเหล่านี้ บินว่อนไปมากลางอากาศ ในเวลากลางคืนบ้างไหม
ผีเสื้อกลางคืนก็มีเหมือนกัน คือ ที่เราพบบินตอมอยู่รอบๆ ดวงไฟตามบ้านเรือน หรือเกาะพักนิ่งอยู่กับฝาเรือน เพดานห้อง บางครั้งเราก็พบผีเสื้อกลางคืน ซึ่งมีสีคล้ำๆ มัวๆ กระพือปีกอยู่ในที่มืด หรือมีแสงขมุกขมัว เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ผีเสื้อกลางคืนมีรูปร่างลักษณะบางอย่างแตกต่างจากผีเสื้อกลางวันเช่น มีลำตัวอ้วนกว่า สั้นกว่า ผีเสื้อกลางวันมีลวดลาย และสีสันสดใส สะดุดตา และงดงามกว่า เวลาเกาะนิ่ง ผีเสื้อกลางวันจะชูปีกตั้งตรงขึ้นบนหลังลำตัว แต่ผีเสื้อกลางคืนจะเกาะนิ่ง โดยหุบปีกตกลงข้างๆ ลำตัว คล้ายกระโจมผ้าใบที่กางไว้
ผีเสื้อกลางวันจึงน่าดู น่าชม และทำให้ธรรมชาติสวยงามมีชีวิตชีวามากกว่าผีเสื้อกลางคืน
ผีเสื้อเป็นแมลงจำพวกหนึ่ง เราจัดแมลง (Insects) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชั้นสูง อยู่ในไฟลัมอาร์โทรโปดา (Arthropoda) ซึ่งเป็นไฟลัมที่มีจำนวนชนิดของสัตว์มากที่สุด สำหรับผีเสื้อเองนั้น เมื่อรวมทั้งผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืนแล้ว มีจำนวนชนิดมากถึง ๑๔๐,๐๐๐ ชนิด จัดเป็นแมลงจำพวกที่มีความแตกต่างกันในเรื่องขนาดมากที่สุด บางชนิดเล็กมาก เมื่อกางปีกเต็มที่จะโตไม่เกิน ๑/๔ นิ้ว บางชนิดใหญ่มาก เช่น ผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งในอเมริกาใต้ เมื่อกางปีกเต็มที่จะโตถึง ๑ ฟุต
รูปร่างของผีเสื้อประกอบด้วยลำตัว ซึ่งไม่มีโครงกระดูกอยู่ภายใน มีขาหกขา เช่นเดียวกับแมลงชนิดอื่นๆ ลำตัวเป็นวงแหวนหลายวงเชื่อมต่อกันด้วยเยื่อบางๆ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ลำตัวเคลื่อนไหวได้สะดวก ผีเสื้อมีปีก ๒ คู่ ปีกคู่หลังจะมีขนาดเล็กกว่าปีกคู่หน้า ขณะบินปีกทั้งสองคู่จะแผ่กางออก และยึดติดเป็นแผ่นเดียวกันในแต่ละข้าง ด้วยวิธีซ้อนปีกอัดติดกันแน่น หรือใช้ข้อเล็กๆ ที่โคนปีกเกี่ยวกันไว้ พวกปีกเล็กเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว จะกระพือปีกเร็ว พวกปีกใหญ่เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวจะกระพือปีกช้า เวลาบิน จึงมีลักษณะเหมือนร่อนไปตามลม | |
ผีเสื้อมีตารวมใหญ่คู่หนึ่งอยู่ด้านข้างของส่วนหัว สามารถรับรู้ภาพของวัตถุที่เคลื่อนที่ได้เร็ว จึงบินได้ว่องไว ตามจับได้ยาก มีหนวดคู่หนึ่งอยู่ระหว่างตารวมสำหรับรับรู้กลิ่น ข้างใต้ส่วนหัวมีงวงซึ่งใช้ดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ หรืออาหารเหลวอื่นๆ เวลาที่ไม่ใช้งาน งวงนี้จะม้วนขดไว้เป็นวง |
สัตว์พวกแมลงมีการเจริญเติบโตแตกต่างกัน บางชนิดเช่น พวกตั๊กแตน เมื่อฟักตัวออกจากไข่ ตัวอ่อนจะมีรูปร่างลักษณะเป็นตัว เหมือนตัวตั๊กแตนเต็มวัยเลยทีเดียว เพียงแต่สัดส่วน หรือขนาดอวัยวะบางส่วนแตกต่างไป เช่น เมื่อฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ ลูกตั๊กแตนจะหัวโต ตัวสั้น ขนาดตัวเล็ก ต่อมาก็มีการลอกคราบอีกหลายครั้งกว่าจะโตเต็มวัย ในแต่ละครั้งที่ลอกคราบ ลูกตั๊กแตนก็จะตัวโตขึ้น และเปลี่ยนแปลงลักษณะใกล้เคียงตัวเต็มวัยยิ่งขึ้น ผีเสื้อมีการเจริญเติบโตแตกต่างไปจากตั๊กแตน กล่าวคือ มีการเจริญเติบโตแบบครบสี่ขั้น ซึ่งใแต่ละขั้นนั้น ตัวอ่อนจะมีรูปร่างลักษณะ และความเป็นอยู่ แตกต่างกันอย่างน่าสังเกต
ขั้นแรกเป็นระยะที่ผีเสื้อเกิดเป็นไข่ ขั้นที่สองผีเสื้อที่ได้ฟักตัวออกมาจากไข่ แล้วดำรงชีวิตเป็นหนอนผีเสื้อ ซึ่งมีรูปร่างลักษณะขนาดแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของผีเสื้อ หนอนผีเสื้อกลางวันส่วนมากไม่มีขนปกคลุม ในระยะตัวหนอน มันจะกัดกินใบพืชเป็นอาหาร ตัวหนอนมีปากแข็งแรงมาก เติบโตด้วยวิธีลอกคราบหลายครั้ง เมื่อเติบโตเต็มที่ก็จะลอกคราบครั้ง สุดท้ายออกมา แล้วดำรงตัวอยู่เป็นดักแด้ นับว่าเริ่มวงจรชีวิตขั้นที่ ๓ ระยะดักแด้นี้นับว่า เป็นระยะที่แปลกมาก ดักแด้จะพักนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ไม่กินอาหาร ถ้าเป็นผีเสื้อกลางคืนตัวหนอนผีเสื้อจะชักใยไหมให้เป็นปลอกห่อหุ้มตัวดักแด้นี้ไว้ แต่ดักแด้ของผีเสื้อกลางวันไม่สร้างรังไหมห่อหุ้มตัวเช่นนั้น ดักแด้ของผีเสื้อมักมีรูปร่าง และสีกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันอันตรายจากศัตรู เพราะเป็นระยะที่มันอยู่นิ่ง จัดว่า อ่อนแอ ไม่อาจต่อสู้ หรือหลบหลีกศัตรูได้
ในระยะดักแด้ โครงสร้างต่างๆ ของตัวหนอนจะสลายตัวลง และแปรเปลี่ยนประกอบกันขึ้นเป็นตัวผีเสื้อ เมื่อผีเสื้อโตเต็มที่อยู่ภายในผนังลำตัว เราอาจมองเห็นสีของปีกได้ และผีเสื้อก็จะดันเปลือกดักแด้ให้แตกออก เข้าสู่ขั้นที่สี่ของวงจรชีวิต คือ กลายเป็นผีเสื้อในระยะตัวเต็มวัย หลังจากขยายปีกออกโตเต็มที่ ผึ่งปีกให้แห้งแข็งดีแล้ว ผีเสื้อก็จะบินออกหากินต่อไปได้ | |
เราอาจกล่าวได้ว่า ผีเสื้อมีความสวยงามยิ่งกว่าสัตว์ใดๆ ในประเทศไทยเราก็มีผีเสื้อกลางวันหลายชนิด ชีวิต และความเป็นอยู่ของมันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ น่าติดตามศึกษาทีเดียว |
จากการชมธรรมชาติที่สวยงามรอบบริเวณบ้าน หรือในชนบท ตามป่าเขาต่างๆ เราจะรู้สึกประทับใจในความสวยงาม ของผีเสื้อหลากสีที่บินวนเวียนกินน้ำหวานดอกไม้ หรือเกาะตามพื้นที่ชื้นแฉะอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ คนทั่วไปจึงรู้จักผีเสื้อต่างๆ มากชนิด ทั้งยังอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของมันอีกด้วยว่า มันมีความเป็นอยู่อย่างไร ในประเทศไทยเรามีผีเสื้อมากน้อยเท่าใด และมีความแตกต่างจากผีเสื้อในประเทศอื่นมากน้อยเพียงไร
ในแง่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนและชนิด ของผีเสื้อในป่าหนึ่งๆ ย่อมแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติและสภาพ ที่แท้จริงของป่านั้นๆ ว่า มีความเป็นป่าสมบูรณ์เพียงใด เช่น ป่า ที่ถูกเผาถางทำลายลงไปมากขึ้น จำนวนชนิดของผีเสื้อที่พบ จะลดน้อยลงไปด้วย หรือถ้าพบ แต่ผีเสื้อ ที่ตัวหนอนกินพืชจำพวกหญ้าหรือพืชตระกูลถั่วเท่านั้น ก็จะทราบได้ทันทีว่า สภาพป่าได้ถูกทำลายลงเป็นทุ่งหญ้าทั้งหมดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับผีเสื้อ จึงค่อนข้างแน่นแฟ้น ผีเสื้อจะหมดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อป่าถูกทำลาย ความชื้นที่ผีเสื้อส่วนมากชอบก็จะหมดไป ต้นไม้ที่เป็นอาหารของตัวหนอน ก็จะขาดแคลนด้วย | |
ผีเสื้อเป็นกลุ่มของแมลงที่นักสัตววิทยาจัดไว้ในอันดับเลพิดอบเทอรา (Order Lepidoptera) มาจากคำว่า lepis แปลว่า เกล็ด และ pteron แปลว่า ปีก แมลงในอันดับนี้จึงมีแผ่นปีกปกคลุมด้วยเกล็ดสีเล็กๆ เรียงซ้อนกันแบบกระเบื้องมุมหลังคา เกล็ดสีเล็กๆ เหล่านี้ เมื่อดูด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นผงสีต่างๆ ซึ่งจะหลุดติดมือออกมา เมื่อเราจับปีกของผีเสื้อ ผีเสื้อในอันดับนี้ยังแยกออกเป็น ๒ พวก คือ อันดับย่อยผีเสื้อกลางวัน (Butterflier) พวกนี้มีหนวดตอนปลายพองออกเป็นรูปกระบอง และอันดับย่อยผีเสื้อกลางคืน (Moths) ซึ่งมีหนวดรูปร่างต่างๆ กันหลายแบบ |
ชื่อผีเสื้อนั้น ตามความคิดของผู้เขียน อาจมาจากการที่ผีเสื้อต่างๆ มีสีสัน และลวดลายสวยงาม เหมือนกับสีเสื้อผ้าที่เราสวมใส่กัน แต่ผีเสื้อบินร่อนไปมาได้เอง คนโบราณจึงคิดกันว่า มีผีเข้าไปสิงอยู่ในตัว แม้แต่ในปัจจุบันนี้ ในชนบทบางแห่ง ยังเรียกผีเสื้อว่า "แมลงผี" ส่วนชื่อภาษาอังกฤษว่า "butterfly" นั้น มีผู้สันนิษฐานไปได้ ๒ ทางคือ ทางหนึ่งแปลว่า เนยบิน เพราะผีเสื้อที่พบชุกชุมในแถบอบอุ่น ปีกมีสีเหลืองอ่อน ถึงสีเหลืองเข้มคล้ายสีของเนย (butter) เมื่อบินไปมา จึงดูเหมือนเศษเนยลอยร่อนอยู่ ส่วนอีกทางหนึ่งเชื่อว่า เพี้ยนมาจากคำว่า beauty flies ซึ่งหมายถึง ความสวยงามที่บินไปมาได้
ผีเสื้อ ๒ พวกดังกล่าวมีความแตกต่างกันหลายประการ พอที่คนทั่วไปจะสังเกตได้ คือ
๑. ผีเสื้อกลางวันมีปลายหนวดพองโตออกหนาคล้ายรูป กระบอง บางพวกมีหนวดตอนปลายโค้งงอเป็นรูปขอ ส่วนผีเสื้อกลางคืนมีหนวดรูปร่างต่างๆ กันหลายแบบ เช่น รูปเรียว คล้ายเส้นด้าย รูปฟันหวี มีบางพวกที่มีหนวดพองออก คล้ายผีเสื้อกลางวัน
๒. ลำตัวของผีเสื้อกลางวันค่อนข้างยาวเรียว เมื่อเปรียบเทียบกับความกว้างของปีก และไม่ค่อยมีขนปกคลุม เหมือนกับผีเสื้อกลางคืน ที่มีลำตัวอ้วนสั้น | |
๓. ผีเสื้อกลางวันส่วนใหญ่จะออกบินเวลากลางวัน มี เพียงบางพวกที่ออกหากินในตอนเช้ามืด และตอนใกล้ค่ำ ผีเสื้อกลางคืนออกบินในตอนค่ำ ดังที่เรามักพบบินมาตอม แสงไฟตามบ้านเรือน ผีเสื้อกลางคืนที่ออกหากินกลางวันมักมีสีฉูดฉาด คล้ายผีเสื้อกลางวัน |
๔. การเชื่อมยึดปีกทั้งสองให้โบกไปพร้อมกันของผีเสื้อ กลางวันต่างจากผีเสื้อกลางคืน โดยจะมีแผ่นปีกขยายกว้างออกซ้อนทาบกัน แต่ในผีเสื้อกลางคืนมีขนแข็งจากโคนปีกคู่หลัง สอดเข้าไปเกี่ยวกับขอเล็กๆ ตอนโคนปีกด้านใต้ของปีกคู่หน้า (ยกเว้นผีเสื้อกลางวันชนิดหนึ่งในทวีปออสเตรเลีย)
๕. การเกาะพักของผีเสื้อกลางวัน มักจะยกปีกตั้งตรง ขึ้นบนลำตัว เห็นด้านใต้ของปีก ส่วนผีเสื้อกลางคืนจะวางปีก ราบลงกับพื้นที่เกาะ โดยขอบปีกด้านหน้าตกลงข้างตัวต่ำกว่า ระดับของหลัง ดูคล้ายรูปหน้าจั่วหลังคา และคลุมปีกคู่หลัง จนมิดหมด | |
ลักษณะแตกต่างดังกล่าวมานี้ ไม่อาจใช้จำแนกผีเสื้อ ทุกชนิดได้โดยเด็ดขาด เนื่องจากลักษณะและนิสัยต่างๆ มัก ปะปนกัน ทำให้มีข้อยกเว้นต่างๆมาก แต่ก็เป็นข้อแตกต่างอย่าง กว้างๆ ที่จะช่วยให้คนทั่วไปแยกแมลง ๒ กลุ่มนี้ออกจากกันได้ พอสมควร |