การปลูกกล้วยไม้
เนื่องจากในรอบปีแต่ละปีนั้น มีการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นช่วงแสงสว่างของแต่ละวัน อุณหภูมิ และความชุ่มชื้นก็ตาม อัตราการเจริญของกล้วยไม้ต่างๆ ในแต่ละฤดูกาล ก็มีความสอดคล้องกับบทบาทการเปลี่ยนแปลง ของฤดูกาล เช่นเดียวกันกับพันธุ์ไม้อื่นๆ ประเทศไทยตั้งอยู่ค่อนมาทางเหนือของเส้นศูนย์สูตร (equator) ของโลก ซึ่งมีผลกำหนดลักษณะฤดูกาลไว้อย่างแน่ชัด การปลูก และการขยายพันธุ์ไม้ควรยึดหลักปฏิบัติในระยะต้นๆข องฤดูเจริญเติบโต เพื่อให้กล้วยไม้ได้มีโอกาสตั้งตัว และเจริญแข็งแรงดี ก่อนถึงฤดูกาลที่กล้วยไม้จะต้องมีการเจริญช้าลง หรือบางชนิดก็พักตัว ฤดูเจริญเติบโตของกล้วยไม้เริ่มต้นระหว่างปลายฤดูแล้งต่อต้นฤดูฝน หรือประมาณเดือนมีนาคม-มิถุนายน
กล้วยไม้ที่อยู่ในสภาพซึ่งควรจะได้พิจารณาปลูกใหม่ ได้แก่ กล้วยไม้ที่มีอายุมากอยู่ในสภาพทรุดโทรม สมควรที่จะตัดแยก และปลูกใหม่ กล้วยไม้ที่แตกกอขนาดใหญ่มากเกินไป หรืออยู่ใน สภาพที่ระบบรากหมดอายุ การตัดแยกปลูกใหม่ จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงสมบูรณ์ให้แก่กล้วยไม้ได้ นอกจากนั้นการหาพันธุ์กล้วยไม้มาจากธรรมชาติ เพื่อนำมาปลูก ก็ควรกระทำในฤดูนี้ด้วย ภาชนะปลูกอาจใช้กระถางดินเผา หรือกระเช้าไม้ แล้วแต่ความเหมาะสม หากเป็นกล้วยไม้ที่มีระบบรากอากาศ คือ มีรากใหญ่และโปร่ง เช่น กล้วยไม้หลายชนิดที่ขึ้นอยู่ตามต้นไม้ในธรรมชาติ อาทิเช่น กล้วยไม้สกุลแวนดา เป็นต้น ควรใช้ภาชนะปลูกที่มีลักษณะโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ส่วนเครื่องปลูกก็ควรยึดหลักการเช่นเดียวกันคือ ใช้เครื่องปลูกที่โปร่ง เช่น ถ่านไม้ เป็นต้น ในสมัยก่อน ได้เคยมีผู้นิยมใช้รากเฟิร์นบางชนิด มีลักษณะเป็นเส้นสีดำเรียกกันว่า ออสมันดา (osmunda) เป็นเครื่องปลูกกล้วยไม้กันอย่างแพร่หลาย ต่อมาออสมันดาหายาก และมีราคาแพงยิ่งขึ้น จึงได้มีการสนใจใช้กาบมะพร้าวแห้ง เป็นเครื่องปลูกกล้วยไม้บางชนิด ต่อมาในภายหลังได้พิจารณาเห็นว่า การใช้ถ่านไม้นับเป็นวิธีการที่สะดวกกว่า จึงได้มีผู้นิยมมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็มีผู้ซึ่งพยายามงดเว้นการใช้เครื่องปลูกใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับกล้วยไม้ประเภทที่มีรากอากาศ โดยให้รากเกาะอยู่ในภาชนะปลูกเท่านั้น ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่พอใจ ทั้งจำเป็นต้องมีการปรับวิธีการเลี้ยงดู ให้สอดคล้องกับสภาพดังกล่าว เช่น มีการให้น้ำ และให้ปุ๋ยมากขึ้น
กล้วยไม้เหมือนพันธุ์ไม้ที่พบทั่วๆไปทั้งหลาย ซึ่งมีความ ต้องการน้ำ ปุ๋ย และการเลี้ยงดูตามสมควร กล้วยไม้ประเภท ที่มีรากอากาศนั้น มีผิวรากหนา และมีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้มาก จึงสามารถอยู่ในอากาศได้ดี และยังดูดความชื้นจากอากาศบาง ส่วนได้ด้วย โดยปกติในสภาพฝนฟ้าอากาศโปร่งและแจ่มใส การรดน้ำให้กล้วยไม้วันละครั้งในเวลาเช้าอย่างทั่วถึง นับว่า เป็นการเพียงพอ ส่วนปุ๋ยนั้นโดยทั่วๆไป ควรมีการให้ปุ๋ย ละลายน้ำรดกล้วยไม้ประมาณสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง และใช้ปุ๋ย ที่มีธาตุอาหารหลัก ไนโตรเจน ฟอสเฟต และโพแทสเซียม ในอัตราส่วนประมาณเท่าๆ กัน ปุ๋ยผสมนี้ควรเป็นปุ๋ยที่ละลายน้ำได้ดี และใช้ในอัตราประมาณร้อยละ ๐.๑-๐.๕ ของปริมาณน้ำ ก็นับว่าเป็นการเพียงพอ
การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชใน การเลี้ยงกล้วยไม้ เป็นสิ่งพึงระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะสารเคมีเหล่านี้ เมื่อมีพิษมีภัยต่อศัตรูกล้วยไม้ได้ฉันใด ก็ย่อมมีพิษมีภัยต่อชีวิตคนได้ฉันนั้น การเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกทั่วๆไป ย่อมมีเรือนหรือสวนกล้วยไม้ อยู่ในบริเวณบ้าน การใช้ยาอันตรายทั้งหลาย จึงเป็นการเสี่ยงต่อชีวิตคนในครอบครัว และสัตว์เลี้ยง เป็นอย่างยิ่ง จึงขอแนะนำว่า คนเลี้ยงต้นไม้ที่ฉลาดและมีเหตุผลนั้น จะให้ความสนใจเลี้ยง และทะนุบำรุงต้นไม้ ให้เจริญแข็งแรงและสมบูรณ์ มีความต้านทานศัตรูได้ดีอยู่เสมอ ดีกว่าการใช้ยาป้องกันกำจัดศัตรู การใช้ยาจึงควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และพิจารณาปฏิบัติ เมื่อมีความจำเป็นจริงๆ