Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กล้วยไม้

Posted By Plookpedia | 07 มิ.ย. 60
26,405 Views

  Favorite

 

กล้วยไม้อยู่ในแดนดง แต่ก็คงยังมีกลิ่นหอม
เมื่อขาดคนถนอม ถึงจะมีกลิ่นหอมก็คงเป็นดอกไม้ไพร
กล้วยไม้ในป่าน่าแปลก กิ่งก้านแตกช่อดอกอยู่ไสว
โชยกลิ่นมาแสนไกล แต่ก็ไม่มีใครจะได้ดูหรือได้ชม
พักพิงอยู่ตามกิ่งไม้ อาศัยน้ำค้างและสายลม
เลี้ยงตัวไว้รอคนชม เมื่อโชคอุ้มสมก็คงจะได้ดี
วาสนาบุญพามาส่ง ได้ออกพ้นจากดงทั้งกลิ่นและสี
คอยมานานหลายปี หากบุญของเจ้ามีคงได้ดีเป็นสุขสบาย

 

 

นานมาแล้ว เพลงข้างบนนี้เป็นที่รู้จัก และร้องกันอย่างแพร่หลาย ผู้แต่งเป็นใครไม่ปรากฏ แต่ได้ทราบจากคุณสง่า อารัมภีร์ ผู้ส่งเนื้อเพลงนี้ชื่อ "กล้วยไม้ไพร" เมื่ออ่านเนื้อเพลงโดยตลอดแล้วจะเห็นว่า ผู้แต่งได้พยายามประมวลเนื้อเรื่อง ที่มีความหมาย ให้ผู้ที่ได้รับฟังนี้ นึกถึงดอกไม้ชนิดหนึ่ง สวย หอม และค่อนข้างจะหายากในสมัยก่อน เพราะอยู่ไกลถึงในป่า ผู้ที่ไปป่าเท่านั้นจึงจะมีโอกาสได้พบเห็น ซึ่งได้แก่ ดอกกล้วยไม้ นั่นเอง แต่ปัจจุบันนี้ กล้วยไม้ไม่ใช่ของหายาก ที่หลบซ่อนอยู่บนคาคบไม้สูงๆ ในป่าเขา หรือดงดอยอย่างแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว เดี๋ยวนี้กล้วยไม้กลายเป็นไม้ดอกที่หาง่าย ทั้งยังเป็นที่รู้จักนิยมอย่างแพร่หลายอีกด้วย กล้วยไม้มีหลายลักษณะ และหลายสี ล้วนแต่สวยงามทั้งนั้น บางชนิดก็มีกลิ่นหอม ยิ่งกว่านั้นกล้วยไม้ยังมีคุณสมบัติพิเศษ ซึ่งทำให้เป็นที่หน้าพึงพอใจยิ่งขึ้นนั่นก็คือ มีความคงทนของดอก เมื่อบานครั้งหนึ่ง ก็จะอยู่ได้นานหลายวัน นานกว่าดอกไม้อื่นๆ

 

 

 

 

เรามาดูกันซิว่า กล้วยไม้ที่เรากล่าวถึงนี้ คือ พืชประเภทไหน และเหตุใดจึงมีคุณสมบัติพิเศษในตัวต่างไปจากดอกไม้อื่นๆ จากตำรานักพฤกษศาสตร์ หรือผู้มีความรู้เกี่ยวกับพืชต่างๆ เราได้ความรู้ว่า กล้วยไม้เป็นพืชประเภทใบเลี้ยงเดี่ยว เช่นเดียวกับหญ้าต่างๆ อ้อย สับปะรด ขิง และข่า ในปัจจุบันได้มีผู้ค้นคว้าเกี่ยวกับพืชชนิดนี้กันมาก ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และในกลุ่มผู้สนใจ และพบว่า พืชในวงศ์กล้วยไม้นี้ เฉพาะที่พบตามธรรมชาติมีมากกว่าหมื่นชนิด และจะพบได้ทั่วไป ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก หากจะแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ โดยรวมหลายๆ ชนิดที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเข้าเป็นสกุลเดียวกันก็มีจำนวนกว่า ๖๐๐ สกุล และบางสกุลก็ยังแยกเป็นสกุลย่อยๆ ออกไปอีกได้

          แถบที่จะพบกล้วยไม้มากในแต่ละภูมิภาคของโลกคือ แถบที่มีอากาศร้อนถึงอบอุ่นในเขตหนาวก็มีบ้าง เช่น ในทวีปยุโรปตอนเหนือ สำหรับในประเทศไทยนั้นนับได้ว่า เป็นเขตที่มีสภาพแวดล้อมอันเหมาะสม กับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มาก มีกล้วยไม้ป่าชนิดต่างๆ ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ชนิด ทั้งชนิดที่เป็นช่อรวมกันหลายๆ ดอก และชนิดดอกเดี่ยว แต่ละชนิดก็มีชื่อเรียกต่างๆ กัน มากมาย เช่น แวนด้า หวายต่างๆ เอื้องต่างๆ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีผู้ผสมพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ กล้วยไม้ในบ้านเมืองเราจึงเป็นพืชไม้ดอกที่นิยมซื้อ เพื่อให้กันและกันในวาระต่างๆ อย่างแพร่หลายในประเทศ และยังเป็นสินค้าส่งออกไปขายต่างประเทศ ที่ไม่น้อยหน้าใครอีกด้วย

       

 

 

 

 

 

 

 

 

กล้วยไม้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "orchid" น่าแปลกที่ทั้งในภาษาไทย และอังกฤษต่างก็มีความหมายใกล้เคียงกัน เราเรียกพืชชนิดนี้ว่า กล้วยไม้ เพราะมีลักษณะคล้ายกล้วย ได้แก่ เอื้องต่างๆ เช่น เอื้องผึ้ง หรือเอื้องคำ ซึ่งมีมากในแถบภาคเหนือ ของประเทศ ส่วนของกล้วยไม้บางตอน มีลักษณะคล้ายผลกล้วยเราเรียกว่า ลำลูกกล้วย  คำ "orchid" นั้น มาจากภาษากรีก หมายความถึงลักษณะโป่งเป็นกระเปาะคล้ายต่อม ชื่อนี้ก็คงจะได้มาจากการพิจารณา จากลำลูกกล้วย ที่เป็นส่วนของกล้วยบางชนิดเช่นเดียวกัน แต่ลักษณะพื้นฐานทางพฤกษศาสตร์ที่บรรยายลักษณะพืชในวงศ์กล้วยไม้ ได้ยึดถือรายละเอียดต่างๆ ของดอกเป็นหลักสำคัญ พันธุ์ไม้ที่ไม่มีลำลูกกล้วยอีกหลายชนิด จึงถูกจัดรวมเข้ามาอยู่ในขอบข่ายของพืชในวงศ์กล้วยไม้ด้วย

 

 

 

 

กล้วยไม้ดิน เพกไทลิส สาคริกิไอ (Pecteilis sagarikii)เป็นพันธุ์กล้วยไม้ป่าที่ค้นพบในประเทศไทย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๖โดยศาสตราจารย์ระพี สาคริก และตั้งชื่อโดย ศาสตราจารย์กันนาไซเด็นฟาเด็น นักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก

กล้วยไม้มีสภาวะความเป็นอยู่ตามธรรมชาติแตกต่างกัน บางชนิดอยู่บนพื้นดิน บางชนิดอยู่บนต้นไม้ และบางชนิดขึ้นอยู่บนหิน ที่มีหินผุ และใบไม้ผุตกทับถมกันอยู่ ทั้งนี้สุดแล้วแต่ลักษณะ และอุปนิสัยของกล้วยไม้แต่ละชนิด ซึ่งจะปรับตัวตามความเหมาะสม กับสภาวะ และการเปลี่ยนแปลงตามสภาพต่างๆ ของธรรมชาติที่แวดล้อม กล้วยไม้แต่ละชนิดต่างก็มีลักษณะ และระบบของราก ที่เข้ากับสิ่งที่ไปอาศัยพักพิงอยู่อย่างเหมาะสมที่สุด

 

กล้วยไม้เข็มแสด

 

กล้วยไม้ชนิดที่ขึ้นอยู่บนดิน รากจะมีลักษณะเป็นหัวและอวบอิ่มไปด้วยน้ำ จึงมีศัพท์เฉพาะที่บรรยายลักษณะของรากเช่นนี้ว่า "อวบน้ำ" กล้วยไม้ประเภทนี้ มีอยู่หลายสกุล เช่น สกุลฮาเบนาเรีย (Habenaria) เพ็คไทลิส (Pecteilis) และ แบรคคีคอไรทิส (Brachycorythis) เราเรียกกล้วย ไม้ชนิดนี้ว่า กล้วยไม้ดิน ในบ้านเราที่พอจะจัดเข้าประเภทนี้ได้ก็คือ นางอั้ว นางกรวย และท้าวคูลู ซึ่งจะผลิดอกในระหว่างกลางถึงปลายฤดูฝนของแต่ละปี เราอาจจะพบกล้วยไม้ประเภทนี้อีกหลายชนิด ขึ้นอยุ่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก อย่างกว้างขวาง แม้แต่เขตหนาวเหนือของทวีปยุโรป เช่น ตามหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลบอลติก ซึ่งในฤดูหนาว มีหิมะตกทับถมบนพื้นดินหนามาก และเป็นเวลานานหลายเดือนด้วย แต่กล้วยไม้เหล่านี้ก็คงทนอยู่ได้ เนื่องจาก มีความสามารถพิเศษในการปรับลักษณะของตัวเอง ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของฤดูกาล ที่ปรากฏเป็นประจำในรอบปีได้ กล่าวคือ เมื่อถึงฤดูที่อากาศหนาวจัด หรือแห้งจัด ต้นและใบที่อยู่เหนือพื้นดินจะแห้งไป คงเหลือแต่หัวฝังตัวอยู่ภายใต้ผิวดิน ครั้นพอถึงฤดูที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม ก็จะเจริญขึ้นมาเป็นต้นและใบ เมื่อเจริญเต็มที่ ก็จะผลิดอก และสร้างหัวใหม่ เพื่อเก็บสะสมอาหารไว้ใต้ผิวดินอีก เมื่อหัวใหม่เจริญเต็มที่ส่วนต้น ใบ และดอกเหนือผิวดิน ก็จะถึงเวลาแห้งเหี่ยวพอดี ส่วนหัวจะพักรอเวลาที่อากาศเหมาะสม ก็จะเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ดังนี้เรื่อยไป

นอกจากกล้วยไม้ดิน ซึ่งมีหัวเป็นที่สะสมอาหารใต้ดินแล้ว ยังมีกล้วยไม้ประเภทไม่มีหัว และชอบขึ้นอยู่บนหินภูเขาที่มีเศษหินผุ และเศษใบไม้ผุทับถมกันอยู่หนาพอสมควร เป็นกล้วยไม้ในสกุลพาฟิโอเพดิลัม (Paphiopedilum) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า กล้วยไม้รองเท้านารี และยังมีบางประเภทซึ่งเกาะอยู่บนคาคบไม้ ซึ่งจะพบได้ในเขตร้อน เช่น กล้วยไม้ในสกุล แวนดา (Vanda) แคทรียา (Cattleya) และสกุล เดนโดรเบียม (Dendrobium) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า สกุลหวาย กล้วยไม้ประเภทนี้ จะมีลักษณะแปลกออกไปคือ มีรากใหญ่ ยาว และแตกแขนงรากอย่างโปร่งๆ เป็นรากอากาศ แม้จะเกาะกับต้นไม้ก็จะมีส่วนที่ยาว และห้อยลงมาในอากาศด้วย แต่รากกล้วยไม้สกุลแคทรียา และเดนโดรเบียม มีลักษณะค่อนข้างเล็ก ละเอียด และหนาแน่น ไม่โปร่งอย่างแวนด้า บางตำราจึงแยกกล้วยไม้สกุลแคทรียาและเดนโดรเบียม ไปไว้ในประเภทกึ่งอากาศ

กล้วยไม้ที่เกาะอยู่ตามต้นไม้ มิใช่กาฝาก เป็นเพียงอาศัยเกาะ และอาศัยร่มเงาจากกิ่งและใบของต้นไม้เท่านั้น มิได้แย่งอาหารใดๆ จากต้นไม้ ที่อาศัยเกาะนั้นเลย รากของกล้วยไม้ได้อาศัยความชื้นจากอากาศ หรือจากเปลือกของต้นไม้ และอาศัยธาตุอาหารต่างๆ จากการผุและสลายตัว ของใบไม้ที่ผุเปื่อยแล้ว กล้วยไม้เป็นต้นไม้ที่มีสีเขียว เช่นเดียวกับต้นไม้ทั่วไป จึงมีความต้องการแสงสว่าง น้ำหรือความชื้น ธาตุอาหาร และอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อการดำรงชีวิต การเจริญเติบโต และผลิดอกออกช่อตามเวลาอันสมควร ไม่แตกต่างไปจากต้นไม้อื่นๆ เลย

 

หวายฟาแลนอปซิส (Dendrobium phalaenopsis)

 

ดอกกล้วยไม้มีกลีบดอกอยู่ ๒ ชุดๆ ละ ๓ กลีบ ซ้อนแบบ สลับกันอยู่ ๒ ชั้น ขณะที่ดอกยังตูมอยู่ ชุดหนึ่งจะหุ้มอยู่ภายนอก เมื่อดอกบาน กลีบดอกชุดนี้จะรองรับอยู่ด้านหลังของดอก ในวงการกล้วยไม้นิยมเรียกว่า กลีบนอก (sepals) ส่วนอีกชุดหนึ่งซึ่งมี ๓ กลีบ เช่นเดียวกัน แต่ในขณะที่ดอกยังตูมอยู่ จะถูกกลีบนอกห่อหุ้มไว้ภายใน เมื่อดอกบานจะอยู่ด้านหน้า เรียกว่า กลีบใน (petals)

 

 

 

 

คัทลียา (Cattleya, ๑/๒ ของขนาดจริง)

 

 

 

หวาย (Dendrobium, ๑ ของขนาดจริง)

 

ในขณะที่ดอกบานเต็มที่ กลีบนอกกลีบหนึ่งจะชี้หรือตั้ง ขึ้นด้านบน เรานิยมเรียกกันว่า กลีบนอกบน (dorsal sepal ก.๑) ส่วนกลีบนอกอีก ๒ กลีบนั้น ชี้ออกทางด้านข้างหรือเฉียงลงข้าง ล่าง มีลักษณะและสีเหมือนกันทั้งคู่ เราจึงเรียกว่า กลีบนอกคู่ ล่าง (lateral sepals ก.๒, ก.๓) นอกจากดอกกล้วยไม้ในสกุล รองเท้านารี ซึ่งมีกลีบนอกคู่ล่างแฝดติดกัน และชี้ลงด้านใต้ของ ดอก ในทางวิชาการพฤกษศาสตร์ เราเรียกกลีบนอกคู่ล่างที่แฝด ติดกันนี้ว่า synsepalum (ก.๒-๓) เราสามารถสรุปได้ว่า กลีบนอกของกล้วยไม้ทั้ง ๓ กลีบนี้ อาจมีลักษณะและสีสันเหมือน กันทั้งหมดก็ได้ หรือกลีบนอกบนกลีบเดียวที่มีลักษณะและสีสัน แตกต่างออกไปแล้วแต่ชนิดของกล้วยไม้ ส่วนกลีบนอกคู่ล่างทั้ง คู่จะต้องมีสีสันและลักษณะเหมือนกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไม้ ชนิดใดก็ตาม เราจึงเรียกว่า กลีบนอกคู่ล่าง

 

 

 

เข็ม (Ascocentrum, ๒ ของขนาดจริง)

 

 

ในบรรดากลีบในทั้ง ๓ กลีบนั้น เนื่องจากเป็นชุดของกลีบ ซึ่งอยู่สลับกับกลีบนอก ดังนั้นจะมีกลีบในคู่หนึ่ง (ข.๒,ข.๓) ชี้ออกทางด้านข้างของดอก หรือเฉียงขึ้นข้างบนข้างละกลีบ กลีบในคู่นี้มีลักษณะและสีสันเหมือนกัน ถ้ามองดูจากด้านหน้า ของดอกกล้วยไม้ จะรู้สึกว่า กลีบในแต่ละข้างอยู่ระหว่างกลีบนอกบน กับกลีบนอกที่อยู่ด้านข้าง อาจมีกล้วยไม้บางชนิด ซึ่งมีกลีบในทั้งคู่ชี้ออกมาทางด้านหน้าของดอกด้วย ส่วนกลีบในอีกกลีบหนึ่ง หรือกลีบที่ ๓ (ข.๑) นั้นชี้ลงด้านล่าง หรือยื่น ออกมาทางด้านหน้าของดอกด้วย กลีบในกลีบนี้มีลักษณะสีสัน และรายละเอียดต่างๆ แตกต่างออกไปจากกลีบในคู่ที่กล่าวมาแล้ว โดยสิ้นเชิง ดังนั้นในด้านวิชาการจึงมีชื่อเรียกเฉพาะไว้ว่า labellum ส่วนคำสามัญนั้น นิยมเรียกกันว่า lip ภาษาไทย เรียกว่า "ปาก" หรือ "กระเป๋า" ปากเป็นคำที่นิยมใช้กันมากกว่า ดังนั้น เมื่อมีการเรียกส่วนของดอกกล้วยไม้ว่า "ปาก" ในหลักการ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า คือ กลีบในกลีบที่ ๓ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากกลีบอื่นๆ นั่นเอง 

ก. ๑ กลีบนอกบน 
ก. ๒ และ ก. ๓ กลีบนอกคู่ล่าง 
ข. ๑ กลีบในล่าง ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ปากหรือกระเป๋า 
ข. ๒ และ ข. ๓ กลีบใน มี ๑ คู่ 

 

 

 

 

ดอกกล้วยไม้เป็นดอกไม้สมบูรณ์เพศ มีอวัยวะเพศตัวผู้ และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน และอยู่บนชิ้นส่วนที่เป็นหลักชิ้นเดียวกันด้วย ตรงศูนย์กลางด้านหน้าของดอกจะมีชิ้นส่วนนี้ยื่นออกมา ซึ่งเราเรียกว่า "เส้าเกสร" (column) ตรงปลายเส้าเกสรนี้ มีลักษณะเป็นโพรง และมีฝาครอบ หากเปิดฝาครอบออกก็จะได้พบเกสรตัวผู้ (pollinia) อยู่ภายใน เม็ดเกสรตัวผู้มีจำนวนเป็นคู่ แล้วแต่ชนิดของกล้วยไม้ แต่ละเม็ดประกอบขึ้นจากเกสรตัวผู้จำนวนมากมาย ประสานเป็นเนื้อเดียวกัน เม็ดเกสรตัวผู้ของกล้วยไม้บางชนิด มีก้านซึ่งมีลักษณะเหนียวและยืดหยุ่นได้ บริเวณด้านใต้ของปลายเส้าเกสรนั้น มีลักษณะเป็นแอ่ง และมีน้ำ ซึ่งข้นคล้ายแป้งเปียกอยู่ในแอ่งนี้ เราเรียกว่า "ปลายเกสรตัวเมีย" (stigma) ระหว่างโพรงที่อยู่ของเกสรตัวผู้ กับปลายเกสรตัวเมีย ที่มีเยื่อบางๆ กั้นไว้

 

 

 

ฝักกล้วยไม้

 

โคนของเส้าเกสรซึ่งเป็นศูนย์รวม ของกลีบทุกกลีบของดอกกล้วยไม้นั้น เชื่อมโยงเป็นชิ้นเดียวกันกับก้านดอก (pedicel) ซึ่งอยู่ด้านหลัง และส่วนของก้านดอก ที่อยู่ถัดจากกลีบดอกออกไปทางด้านหลังนี้เองคือ รังไข่ของตัวเมีย (ovary) ภายในเป็นโพรง และมีไข่อยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าหากปลายเกสรตัวเมียได้รับการผสม โดยเม็ดเกสรตัวผู้ และถ้าการผสมเริ่มบังเกิดผล กลีบดอกจะเริ่มเหี่ยว และก้านดอกส่วนที่อยู่ใกล้กลีบดอก และมีลักษณะเป็นร่องยาวของก้านดอก ซึ่งก็คือ ส่วนที่เป็นรังไข่ของตัวเมีย ก็จะขยายตัวเจริญขึ้นเป็นฝักของกล้วยไม้ ถ้าการผสมระหว่างเชื้อตัวผู้ และไข่ของตัวเมียภายในรังไข่สมบูรณ์เป็นปกติ ภายในฝัก ก็จะมีเมล็ดกล้วยไม้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากมายหลาย แสนเมล็ด เมื่อเมล็ดแก่จัด จะหลุดจากผนังของฝักรวมๆ กันอยู่ มีลักษณะเป็นผงละเอียดมาก หากผนังฝักมีรอยร้าว หรือแตกเมื่อใด เมล็ดเหล่านี้ก็จะปลิวไปตามกระแสลมได้
ฝักกล้วยไม้นับตั้งแต่ผสมเกสรจนถึงฝักสุก ใช้ระยะเวลา ตั้งแต่ประมาณ ๑ เดือนไปจนถึงประมาณ ๒ ปี สุดแล้วแต่ ชนิดของกล้วยไม้ อาทิเช่น กล้วยไม้ในสกุลสแพโทกลอตทิส ซึ่งพบขึ้นอยู่ตามโขดหินในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย และในเขตดินแดนมาเลเซียนั้น มีอายุฝักประมาณ ๓๐ วัน กล้วยไม้ฟ้ามุ่ย (Vanda coerulaea) ซึ่งพบอยู่ตามธรรมชาติ ในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย และ ประเทศใกล้เคียง มีอายุฝักตั้งแต่เริ่มผสมเกสรจนถึงฝักสุก ประมาณ ๑๕-๑๘ เดือน กล้วยไม้สกุลหวายเดนโดรเบียม และสกุลคัทลียา รวมทั้งแวนดาลูกผสมต่างๆ ที่นิยมผสม และเลี้ยงกันอยู่ในประเทศไทยนั้น มีอายุฝักตั้งแต่ผสมจนถึง ฝักสุกผิดเพี้ยนกันไประหว่าง ๓-๘ เดือน โดยทั่วๆ ไปแล้ว ในกล้วยไม้สกุลเดียวกัน ฝักของกล้วยไม้ลูกผสมจะมีอายุสั้นกว่ากล้วยไม้ป่าหรือกล้วยไม้พันธุ์แท้ ความผิดเพี้ยนของ สภาพแวดล้อมที่กล้วยไม้ขึ้นอยู่ ก็มีส่วนทำให้อายุของฝักกล้วยไม้แปรเปลี่ยนไปได้พอสมควรเช่นกัน

 

 

 

การเพาะเมล็ดกล้วยไม้ในขวดแก้วปลอดเชื้อ

 

แม้ว่ากล้วยไม้จะเป็นพันธุ์ไม้ประเภทเดียวกันกับพืช จำพวกข้าวและหญ้าก็ตาม แต่เมล็ดกล้วยไม้ก็มีองค์ประกอบหลัก ที่ไม่เหมือนกับพืชเหล่านั้น เมล็ดพืชทั่วๆไปจะมีองค์ประกอบหลักอยู่ ๓ ส่วนด้วยกันคือ เปลือกเมล็ด เชื้อที่จะงอก และเจริญขึ้นมาเป็นต้นอ่อน และอาหารสำหรับเลี้ยงเชื้อ ในขณะที่กำลังงอกและยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ แต่เมล็ดกล้วยไม้ มีเพียง ๒ ส่วนเท่านั้น คือ เปลือกเมล็ดกับเชื้อที่จะงอกขึ้นมา เป็นต้นอ่อน ดังนั้น เมล็ดกล้วยไม้จึงไม่สามารถจะงอกได้ ด้วยตัวเอง แม้ว่า จะมีสภาพแวดล้อมต่างๆเหมาะสมก็ตาม จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยเชื้อราจำพวกหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกรวมๆ ว่า "ไมคอไรซา" (Mycorhiza) ช่วยให้อาหารแก่เชื้อ และเมื่อต้นกล้วยไม้เจริญเลี้ยงตัวเองได้แล้ว เชื้อราประเภทนี้ จะอาศัยดำรงชีวิตอยู่ภายในผิวของรากกล้วยไม้ต่อไป ดังนั้น เราจึงพบว่า เมล็ดกล้วยไม้ที่งอกในป่าตามธรรมชาติ จะกระจายอยู่ไม่ไกลจากต้นเดิมมากนัก บางครั้งก็พบงอกอยู่ใกล้ๆผิว ของรากกล้วยไม้ใหญ่ เชื้อราประเภทนี้มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน บางชนิดก็มีความเหมาะสมกับกล้วยไม้บางกลุ่มบางพวกเท่านั้น ดังนั้น ในการเล่นกล้วยไม้สมัยก่อนๆ ขณะที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญมากนัก ผู้สนใจกล้วยไม้ในสมัยนั้นได้ใช้วิธีการเพาะเมล็ด กล้วยไม้โดยเลียนแบบธรรมชาติ คือ นำเมล็ดกล้วยไม้ที่แก่แล้ว ซึ่งมีลักษณะเป็นผงละเอียดไปหว่านลงบริเวณใกล้โคนต้นแม่พันธุ์ และเนื่องจาก เมล็ดกล้วยไม้ที่ได้จากฝักหนึ่งๆ มีเป็นจำนวนแสนเมล็ด แม้จะได้รับอันตรายไปมากพอสมควร ก็ยังมีบางส่วนที่งอกเป็นต้นขึ้นมาได้ ชีวิตที่พึ่งพาอาศัยธรรมชาติซึ่งกันและกันในธรรมชาติ เช่น กล้วยไม้กับเชื้อรานี้ ภาษาวิชาการเรียกว่า "ซิมไบโอซิส" (symbiosis)

 

 

ลูกกล้วยไม้ที่แยกจากกระถางหมู่ลงปลูกในกระถางเดี่ยว

 

เมื่อการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ได้เจริญขึ้น มนุษย์จึงได้ เรียนรู้วิธีการเพาะเมล็ดกล้วยไม้โดยมิต้องอาศัยเชื้อราอีกต่อไป ได้มีนักพฤษศาสตร์ชาวยุโรปและอเมริกัน ประกาศความสำเร็จ ในการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ในขวดแก้ว โดยใช้วุ้นเป็นพื้น และผสมธาตุอาหารต่างๆ ที่เมล็ดกล้วยไม้ต้องการ เพื่อการงอกและเจริญ เติบโตในระยะหนึ่ง พร้อมทั้งปรับสภาวะความเป็นกรดของวุ้นอาหาร ให้เหมาะสมกับการที่เมล็ดและต้นอ่อนของกล้วยไม้นั้น จะสามารถใช้อาหารให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

การเตรียมวุ้นอาหารจำเป็นต้องอยู่ในสภาวะปลอดจากเชื้อ อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อจุลินทรีย์ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งปะปนอยู่ในบรรยากาศ และสิ่งต่างๆทั่วๆไป มิฉะนั้นแล้ว เชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้จะเจริญงอกงามอย่างรวดเร็วในวุ้นอาหาร ของกล้วยไม้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการงอกของเมล็ดอย่างร้ายแรง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Content

1
การเลี้ยงกล้วยไม้ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย
การเลี้ยงกล้วยไม้ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ประเทศไทยเป็นประเทศร้อน ที่มีพันธุ์กล้วยไม้ป่านานาชนิดอยู่ตามธรรมชาติ สามารถจะนำมาศึกษาเพาะเลี้ยง เพื่อการอนุรักษ์ ขยายพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ให้เกิดประโยชน์ในด้าน สังคม เศรษฐกิจ และอนุรักษ์ธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
7K Views
2
เรือนเลี้ยงกล้วยไม้
เรือนเลี้ยงกล้วยไม้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมธรรมชาติของประเทศไทย เหมาะสมแก่การเลี้ยงกล้วยไม้ การสร้างเรือนเลี้ยงกล้วยไม้จึงไม่ต้องลงทุน อย่างในประเทศหนาว นอกจากนั้นอาจมีกล้วยไม้ บางชนิดซึ่งสามารถปลูกกลางแจ้งได้ โดยไม่จำเป็นต้องสร้างเรือนกล้วยไม้ เพื่อบังร่มเ
7K Views
3
ประวัติการเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทย
ประวัติการเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทย ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกล้วยไม้ป่าอยู่ตามธรรมชาติ เป็นจำนวนมาก สภาพแวดล้อมธรรมชาติมีความเหมาะสม กับการเลี้ยงกล้วยไม้อย่างกว้างขวาง ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นต้นมา ได้มีการเริ่มสนใจเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกขึ้นในประเทศไทย
8K Views
4
พันธุ์กล้วยไม้
พันธุ์กล้วยไม้ ได้มีการส่งเสริมให้นำเอาพันธุ์ไม้ ซึ่งชนรุ่นก่อนๆ ได้นำเข้ามาจากต่างประเทศ มาพิจารณาเน้นความสำคัญในด้านการผลิต เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ร่วมกันไปกับการชักจูงให้ประชาชนได้สนใจพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมือง ที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อนำมาคัดพันธุ์ ผ
8K Views
5
การปลูกกล้วยไม้
การปลูกกล้วยไม้ เนื่องจากในรอบปีแต่ละปีนั้น มีการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นช่วงแสงสว่างของแต่ละวัน อุณหภูมิ และความชุ่มชื้นก็ตาม อัตราการเจริญของกล้วยไม้ต่างๆ ในแต่ละฤดูกาล ก็มีความสอดคล้องกับบทบาทการเปลี่ยนแปลง ของฤดูกาล เช่นเดียวกันกับพั
9K Views
6
ประโยชน์ของกล้วยไม้
ประโยชน์ของกล้วยไม้ กล้วยไม้ได้เข้ามามีบทบาทอยู่ในสังคมของมนุษย์เป็นเวลาช้านานแล้ว ดังจะเห็นได้ว่า ในประวัติศาสตร์ของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีศิลปวัฒนธรรมซึ่งน่าสนใจ และแผ่กระจายออกไปทั่วโลก ก็ยังมีหลักฐานปรากฏบทบาท ของกล้วยไม้อยู่ด้วย เช่น
8K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow