Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นิทานอธิบายสาเหตุ

Posted By Plookpedia | 06 มิ.ย. 60
5,134 Views

  Favorite

นิทานอธิบายสาเหตุ

      นิทานอธิบายสาเหตุของไทยมีเล่ากันในทุกถิ่นส่วนมากเป็นนิทานขนาดสั้นอธิบายที่มาของสิ่งต่าง ๆ  โดยเฉพาะที่มาของรูปลักษณะของคนสัตว์และพืช นิทานประเภทนี้เป็นนิทานที่เล่าถึงสาเหตุที่คน สัตว์ และพืชมีรูปร่างลักษณะ สีสัน หรือส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มาของชื่อสัตว์บางชนิดตลอดจนสาเหตุที่สัตว์บางชนิดเป็นศัตรูกัน นิทานประเภทนี้หลายเรื่องเกี่ยวโยงไปถึงความเชื่อว่าพระอินทร์หรือพระพุทธเจ้าเป็นผู้สร้างหรือบันดาลให้เกิดสิ่งต่าง ๆ และเป็นผู้ตั้งชื่อให้สัตว์ต่าง ๆ ด้วย
      ในนิทานจากบ้านในชลบุรีมีนิทานอธิบายสาเหตุที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวโยงไปถึงพระอินทร์อยู่หลายเรื่อง เช่น นิทานที่พยายามอธิบายถึงสาเหตุที่ไก่อูไก่แจ้ขันและเป็ดมีเสียงร้องเช่นทุกวันนี้ เหตุที่ควายไม่มีฟันบน เหตุที่มดตะนอยมีเอวคอดกิ่ว เหตุที่คนตบยุง และเหตุที่งูเหลือมไม่มีพิษ

      เหตุที่ควายไม่มีฟันบนนี้ตามเรื่องเล่าว่า  เป็นเพราะควายชอบโต้เถียงคนเวลาถูกคนใช้งานนอกจากจะไม่ยอมทำตามคำสั่งแล้วยังด่าคนอีกด้วย  พระอินทร์เห็นว่าถ้าปล่อยไว้เช่นนี้จะทำความลำบากให้แก่คนจึงตบให้ฟันบนของควายหลุดไป  ตั้งแต่นั้นมาควายจึงไม่มีฟันบนและพูดไม่ได้
      เหตุที่งูเหลือมไม่มีพิษเป็นเพราะพระอินทร์เห็นว่าถ้าให้งูเหลือมมีพิษมากจะไม่ดี  ต่อมาแมงป่องและงูจงอางไปขอแบ่งพิษจากงูเหลือมบ้างงูเหลือมก็ยกให้ไปจนหมด  ตั้งแต่นั้นมางูเหลือมจึงไม่มีพิษกัดคนไม่ตาย ฝ่ายมดตะนอยก็ไปขอแบ่งพิษจากงูเหลือมบ้างโดยไปยืนเท้าสะเอวจึงทำให้เอวคอดกิ่วไป
       ส่วนสาเหตุที่คนตบยุงนั้นเรื่องเล่าว่าเดิมพระอินทร์มอบสิ่วให้ยุงเอาไว้ใช้เจาะกินเลือดคน  ยุงจึงมีสิ่วอยู่ที่หัวเวลาจะกินเลือดยุงต้องออกแรงใช้หัวกดผิวหนังคนจึงจะเจาะกินเลือดได้  ทำให้ยุงไม่พอใจบินไปขอค้อนมาไว้ตอกสิ่ว  พระอินทร์โมโหจึงบอกว่าค้อนอยู่ที่คนแล้วเอาหัวเจาะเข้าไปเถอะแล้วคนจะใช้ค้อนตอกให้เองตั้งแต่นั้นมาพอยุงกัดคนก็จะตบทันที

 

กระบื้อ


      นิทานจากตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เล่าถึงสาเหตุที่เต่ามีกระดองเป็นลวดลายเช่นนี้ว่าเดิมทีเต่าและกระรอกเป็นเพื่อนกัน  วันหนึ่งเมียของกระรอกปวดท้องจะออกลูก กระรอกได้ไปขอให้เต่ามาช่วยดูแล  เต่าขึ้นต้นไม้ไม่ได้ต้องใช้ปากกัดหางกระรอกไว้แล้วให้กระรอกปีนขึ้นไป  เมื่อกระรอกปีนขึ้นต้นไม้เกือบจะถึงรังเมียของกระรอกเห็นเต่าก็ร้องทัก เต่าได้ยินก็อ้าปากจะพูดตอบจึงตกลงไปยังพื้นดินตัวแตกเป็นชิ้น ๆ กลายเป็นสิ่งต่าง ๆ เช่น เนื้อส่วนหนึ่งก็ไปติดอยู่กับท้ายทอยของคนเรียกกันว่าก้นเต่าหรือหางเต่า  อีกส่วนหนึ่งตกลงไปในน้ำกลายเป็นผักตับเต่า พระอินทร์รู้สึกสงสารเต่าจึงช่วยหยิบเต่าตัวที่แตกแล้วมาต่อกันใหม่ตั้งแต่นั้นมากระดองเต่าจึงมีลวดลายดังเช่นทุกวันนี้  

 

เต่า

 

      เหตุที่อีกามีสีดำก็มีนิทานเล่าว่า เดิมอีกากับนกยูงเป็นเพื่อนกันทั้งสองผลัดกันเขียนลายให้แก่กันกาเขียนลวดลายอย่างสวยงามให้นกยูงเสร็จแล้วนกยูงลงรักให้กา  แต่ยังไม่ได้เขียนลวดลายให้ เพราะการีบบินไปกินหมาเน่าตั้งแต่นั้นมากาจึงมีสีดำ

 

นกยูง


      นิทานที่อธิบายความเป็นศัตรูกันของสัตว์บางชนิดก็มีหลายเรื่อง เช่น เรื่องของตุ๊กแกกับงูเขียว แมวกับหนู แมวกับเสือ ฯลฯ นิทานอีสานเล่าถึงสาเหตุที่ตุ๊กแกกับงูเขียวเป็นศัตรูกันว่า มีที่มาจากเรื่องราวของแม่ผัวกับลูกสะใภ้ทะเลาะวิวาทกันและตบตีกันจนบาดเจ็บ  จึงอาฆาตพยาบาทกันถึงกับตั้งสัจอธิษฐานว่าจะขอตามไปล้างผลาญกันในชาติต่อไป  เมื่อแม่ผัวตายก็ไปเกิดเป็นตุ๊กแก ลูกสะใภ้ตายไปเกิดเป็นงูเขียว พองูเขียวออกไข่ตุ๊กแกก็ไปแอบกินไข่งูเขียวจนหมด พอตุ๊กแกร้องงูเขียวก็เข้าไปล้วงกินตับตุ๊กแก  สัตว์ทั้ง ๒ ชนิดนี้จึงเป็นศัตรูกันจนถึงทุกวันนี้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow