Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วางแผนมรดก ส่งมอบความมั่งคั่งให้ลูกหลานได้สานต่อ

Posted By SET | 05 มิ.ย. 60
2,608 Views

  Favorite

“ขยันทำงานเก็บเงินมาทั้งชีวิต
หวังว่าจะเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ
และที่เหลือก็ส่งต่อไปยังลูกหลาน”

 

เป็นเรื่องปกติที่เราทุกคนรู้วันเกิดของตัวเอง แต่ไม่มีใครรู้ว่า เราจะจากโลกนี้ไปวันไหน คนส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ได้เตรียมตัววางแผน และปล่อยให้เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ตัวเองเสียชีวิตลงและมรดกถูก แจกจ่ายไปยังทายาท ยิ่งมรดกมีมูลค่ามากก็จะยิ่งเกิดภาระทางภาษีแก่ ผู้รับมรดกมากขึ้นตามไปด้วย วันนี้คุณเตรียมแผนไว้ดีแค่ไหนแล้ว ในการรับมือกับภาษีมรดก
 

ภาพ : Pixabay

 

ลองทำตาม “4 ขั้นตอนวางแผนมรดก เพื่อลูกหลาน” ดังนี้

 

1. ทำบัญชีทรัพย์สินอยู่เสมอ

เพื่อให้ทราบถึงสถานะทางการเงินของตัวเราเองว่า มีทรัพย์สินอะไรบ้าง เป็นมูลค่า เท่าไหร่ พร้อมทั้งวางแผนจัดสรรว่า ส่วนใดที่จะนำไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิตและส่วนใด ที่จะต้องนำไปวางแผนมรดกเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลัง โดยทรัพย์สินที่จะต้องเสียภาษี มรดก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ยานพาหนะ หลักทรัพย์ตามกฎหมาย เงินฝาก และทรัพย์สินทางการเงิน

 

2. ศึกษากฎหมายภาษีมรดกและภาษีจากการให้

เพื่อวางแผนให้เกิดประโยชน์ในการให้มรดกอย่างสูงสุด โดยหลักเกณฑ์ในเบื้องต้น คือ 

ภาษีมรดก เกิดขึ้นเมื่อมีการเสียชีวิตของเจ้าของมรดกและส่งต่อทรัพย์สินไปตามพินัยกรรม ซึ่งทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก จะเสียเฉพาะส่วนเกิน 100 ล้านบาท ในอัตรา 10% เมื่อผู้รับมรดกเป็นบุคคลธรรมดา เช่น ผู้รับตามพินัยกรรม หรืออัตรา 5% เมื่อผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือทายาท โดยถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้คำนวณจากราคาประเมิน ส่วนหลักทรัพย์ให้คำนวณจากราคาปิดตลาด ณ วันโอน


ภาษีจากการให้ เกิดขึ้นเมื่อของเจ้าของมรดกได้มอบทรัพย์สินในขณะที่มีชีวิตอยู่ให้กับทายาท ซึ่งการให้ดังกล่าว แบ่งเป็นประเภทสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ โดยส่วนเกินของมูลค่าที่กฎหมายกำหนด จะต้องนำมาคำนวณภาษี

    
- สังหาริมทรัพย์ : ถ้ามอบให้บุคคลธรรมดา ส่วนเกินมูลค่าทรัพย์สิน 10 ล้านบาท จะเสียภาษี 5% แต่ถ้ามอบให้ทายาท ตามกฎหมาย ทายาทสนิท หรือให้ด้วยความเสน่หา ส่วนเกินมูลค่าทรัพย์สิน 20 ล้านบาท จะเสียภาษี 5%

- อสังหาริมทรัพย์ : เฉพาะการมอบให้บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่รวม ถึงบุตรบุญธรรม จะเสียภาษี 5% ของส่วนเกิน มูลค่าทรัพย์สิน 20 ล้านบาท

 

การรับมรดก
การรับทรัพย์สินจากผู้ตาย
กรณีไม่มีการโอนให้ก่อนเสียชีวิต
การรับให้
ผู้ตายโอนทรัพย์สินให้ผู้รับก่อนเสียชีวิต
ทายาท บุคคลธรรมดา ทายาท บุคคลธรรมดา
ส่วนเกินมูลค่า 100 ล้านบาท ส่วนเกินมูลค่า 20 ล้านนบาท ส่วนเกินมูลค่า 10 ล้านบาท
อัตราภาษี 5% อัตราภาษี 10% อัตราภาษี 5%

 

3. วางแผนการมอบมรดก

โดยการทยอยส่งมอบทรัพย์สินในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมและไม่ทำให้เสียภาษีมากจนเกินไป เช่น มีมรดก 40 ล้านบาทและทายาท 1 คน ก็สามารถทยอยมอบให้ปีละ 20 ล้านบาทจำนวน 2 ปี ก็จะไม่เสียภาษีจากส่วนเกินมูลค่าทรัพย์สินที่จะให้เป็นมรดก ทั้งนี้ ในการวางแผนมรดกควรพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ ไม่ควรให้มรดกชิ้นเดียวกัน กับทายาทหลาย ๆ คนเพราะอาจจะเกิดปัญหาระหว่างทายาทตามมาได้ รวมทั้งไม่ควรรีบ มอบมรดกเพราะกลัวการจ่ายภาษีจนเราเกิดความลำบากเมื่อทรัพย์สินถูกแจกจ่ายไปแล้ว


4. เลือกส่งต่อมรดกเป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

หากมีมรดกจำนวนมากและไม่สามารถทยอยมอบให้ในเร็ววันได้ ก็ควรเปลี่ยนทรัพย์สินที่เสียภาษีมรดกเป็นทรัพย์สินที่ได้รับ สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การทำประกันชีวิตเพื่อรับสินไหมมรณกรรม โดยระบุผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์เป็นทายาทที่เรา ต้องการมอบทรัพย์สินก้อนสุดท้ายไว้ให้
 

ภาพ : Pixabay

 

ตัวอย่างประโยชน์ของการวางแผนภาษีมรดก
ทรัพย์สิน 200 ล้านบาท ทายาท 1 คน

 

กรณีเสียชีวิตและส่งมอบมรดกทันที
ทายาทจะต้องเสียภาษี ส่วนเกิน 100 ล้านบาท จำนวน 5% รวม (200-100) x 5% = 5 ล้านบาท

 

กรณีวางแผนมรดกและด้วยการทยอยให้

รูปแบบที่ 1 : นำทรัพย์สินมอบให้กับทายาทไม่เกินขั้นต่ำของการเสียภาษีในแต่ละปีจนครบ
รูปแบบที่ 2 : นำทรัพย์สินมอบให้กับทายาทไม่เกินขั้นต่ำของการเสียภาษี และนำเงินส่วนที่เหลือไปซื้อทรัพย์สินที่ไม่ต้องเสียภาษี

 

วางแผนภาษี

ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี

(ให้มอบขั้นต่ำ)

ทรัพย์สินที่ไม่ต้องเสียภาษี ภาษีการให้ที่ต้องจ่าย
แบบที่ 1

จำนวน 20 ล้านบาทต่อปี

เป็นเวลา 10 ปี

- 0 บาท
แบบที่ 2

จำนวน 20 ล้านบาทต่อปี

เป็นเวลา 5 ปี

ซื้อประกันจำนวน 100 ล้านบาท

เพื่อให้ทายาท

0 บาท

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีและเรียกเก็บภาษีให้ครบถ้วน พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม หากเราไม่เสีย ภาษีตามกำหนด อธิบดีกรมสรรพากรก็จะมีอำนาจสั่งยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์มรดกโดยไม่ต้องขอศาล ดังนั้น จึงควรวางแผนภาษีมรดกอย่างถูกต้องตามกฎหมายและอย่าลืมว่า “หลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก ถือเป็นความผิดอาญา”

 

การวางแผนมรดกที่ดีควรเริ่มต้นจากการรู้สถานะทางการเงินของตัวเองด้วยการ ทำบัญชีทรัพย์สินที่มีอย่างละเอียด การศึกษาข้อกฎหมายและวางแผนให้ส่งต่อมรดก ไปยังทายาทโดยได้รับประโยชน์สูงสุดทางภาษี ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการทยอยให้ การเปลี่ยนทรัพย์สินที่เสียภาษีเป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ประกันชีวิต ที่สำคัญคือ ควรพิจารณาความเหมาะสมในการมอบทรัพย์สินมรดก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตัวเองและทายาทตามมา

 

 

ขอบคุณภาพปก : Pixabay

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • SET
  • 0 Followers
  • Follow