หากต้องการก่อหนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ต้องแยกแยะให้ได้ว่าอะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น หากแยกแยะไม่ได้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้จ่ายเกินตัว ทำให้กู้ยืมมากกว่าความจำเป็นพื้นฐานมากเกินไป
อย่าเพิ่งเริ่มต้นก่อหนี้จนกว่าจะมั่นใจ เช่น กรณีซื้อทรัพย์สินราคาสูง เช่น บ้าน รถยนต์ ต้องพยายามสร้างเงินออมให้มีมูลค่าประมาณ 30 – 40% ของราคาซื้อขาย และเมื่อคำนวณการผ่อนชำระคืนทั้งหมดแล้วไม่ควรเกิน 40% ของรายได้สุทธิต่อเดือน แต่หากจะปรับอัตราส่วนให้มากขึ้นก็ไม่ผิดกติกา ขึ้นอยู่กับศักยภาพและความมีวินัยของแต่ละคน
ต้องพยายามสร้างเครดิตให้เป็นที่ยอมรับจากเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินตั้งแต่วันที่ยังไม่ได้คิดวางแผนก่อหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินอย่างสม่ำเสมอทั้งการออมเงินหรือการลงทุน การทำบัญชีรายรับรายจ่าย เป็นต้น หากก่อหนี้ไม่ผ่าน อย่าโทษเครดิตบูโรหรือบุคคลอื่น ลองสำรวจตัวเองก่อนว่าสร้างเครดิตที่ดีมากพอหรือยัง
ต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงและเหมาะกับระยะเวลาการชำระหนี้ และควรเลือกก่อหนี้ที่สร้างรายได้หรือหนี้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น หนี้ที่อยู่อาศัย หนี้เพื่อการศึกษา หนี้ค่ารักษาพยาบาล หนี้เพื่อธุรกิจ เป็นต้น โดยเฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจไม่ควรใช้หนี้สินระยะสั้นไปลงทุนในระยะยาว เพราะหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจะทำให้กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ทันที
หนี้ที่ก่อขึ้นจะต้องสามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ด้วยรายได้ที่แท้จริง ณ ปัจจุบัน ไม่ควรคาดหวังกับรายได้ในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงมากจนเกินไป เพราะหากผิดแผนจะเป็นการสร้างภาระหนี้เกินตัวทันที
เป็นการต่อยอดช่วยสร้างเครดิตของท่านต่อสถาบันการเงิน ซึ่งจะมีผลดีต่อเนื่องหากต้องก่อหนี้เพิ่มอีกในอนาคตข้างหน้า
หากเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยกะทันหันจะได้มีเงินสำรองพอที่จะชำระหนี้ได้ตามแผนในระหว่างที่อยู่ในช่วงปรับตัว
อรรถพร พรมแก้วงาม CFP®
นักวางแผนการเงิน
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย