แต่ด้วยความหมายของ “โบนัส” แปลเป็นภาษาไทยที่น่ารักว่า “สินน้ำใจ” เลยทำให้ใครหลายคนเผลอใช้สินน้ำใจก้อนนี้อย่างเพลิดเพลินเจริญใจ บ้างไปท่องเที่ยว ซื้อของ สังสรรค์เฮฮา ตื่นมาอีกวันก็หมดเกลี้ยงกระเป๋า ที่ตั้งใจเอาไว้ตอนแรกว่าจะแบ่งไปเก็บออมสักก้อนสองก้อน ก็สายไปซะแล้ว
บทความแรกรับปีใหม่ทั้งที เลยถือโอกาสนำเทคนิคการบริหาร “โบนัส” จากนิตยสาร Forbes มาฝากมิตรรักการเงิน บอกได้เลยว่าถ้าลองทำตาม รับรองยิ้มแก้มปริไปตลอดทั้งปี
ก่อนจะ “รวย” ด้วยการเก็บออมหรือลงทุน ต้องเก็บ “เงินฉุกเฉิน” เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายยามเกิดเหตุจำเป็นในชีวิตซะก่อน เช่น ตกงานกะทันหัน เจ็บไข้ได้ป่วยจนเข้าโรงพยาบาล หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ที่คาดไม่ถึง
เงินฉุกเฉินส่วนนี้ควรมีประมาณ 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น สมมติว่าหากคำนวณแล้วว่าเรามีใช้จ่ายจำเป็น (ค่าผ่อนบ้าน ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ หนี้สิน) เดือนละ 20,000 บาท แสดงว่าเราต้องมีเงินฉุกเฉิน 60,000 - 120,000 บาท
ถ้าเป็นแบบนี้ เงินก้อนแรกจากโบนัสควรกันเอาไว้เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน และควรเก็บไว้ในช่องทางที่เอามาใช้ได้ทันที เช่น ฝากออมทรัพย์หรือเงินฝากประเภทที่มีสภาพคล่อง
ปี 2559 ดอกเบี้ยบัตรเครดิตบ้านเราอยู่ที่ประมาณ 20% ต่อปี เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีดอกเบี้ยตั้งแต่ 12 - 24% ดังนั้น หากเรายังมีหนี้เหล่านี้ติดตัวข้ามปีมา จงนำเงิน “โบนัส” ที่ได้รับไปจ่ายหนี้เหล่านี้ให้หมดให้สิ้น ถ้าทำได้จะทำให้ประหยัดเงินค่าดอกเบี้ยลงได้อีกเยอะทีเดียว ผลที่ตามมาหนีไม่พ้นความเป็นไทและก้าวเข้าสู่เส้นทางอิสรภาพทางการเงินในเร็ววัน
ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ก็ควรเก็บเงินให้ได้อย่างน้อยๆ 15% ของรายได้ก่อนหักภาษี เพื่อเอาไว้ใช้หลังวัยเกษียณ หรือหากอยากทบทวนดูว่าวันนี้เราพร้อมเกษียณแล้วหรือยัง ลองคำนวนตามตารางข้างล่างนี้
อายุ |
จำนวนเงินที่ควรมี |
30 ปี |
½ x เงินเดือน |
35 ปี |
1 x เงินเดือน |
40 ปี |
2 x เงินเดือน |
45 ปี |
4 x เงินเดือน |
50 ปี |
6 x เงินเดือน |
55 ปี |
8 x เงินเดือน |
60 ปี |
10 x เงินเดือน |
65 ปี |
12 x เงินเดือน |
ตัวอย่างข้างบน คือ ประมาณการเงินเพื่อการเกษียณที่ต้องมี ณ ช่วงวัยต่างๆ เช่น วันนี้อายุ 30 ปี รายได้ปีละ 5 แสนบาท ควรมีเงินเพื่อการเกษียณแล้วอย่างน้อย 250,000 บาท (= ½ x 500,000)
สมมติว่า อายุ 30 ปี แต่เงินเก็บเพื่อวัยเกษียณยังไม่ถึง 250,000 บาท ก็แบ่งเงินจากโบนัสนี่แหละไปเก็บเอาไว้ ซึ่งเทคนิคง่ายๆ และทำให้รู้สึกว่าการออมเงินเป็นเรื่องสนุก ก็คือ ออมเงินด้วยการลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุกๆ เดือน อาจจะลองเริ่มต้นด้วยจำนวนน้อยๆ ก่อนก็ได้ เช่น เดือนละ 1,000 บาท และปีถัดไปเมื่อมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นก็เพิ่มเงินออมต่อเดือนเพิ่มตามไปด้วย หากทำเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ จะมีเงินเก็บเพียงพอตอนวัยเกษียณแน่นอน
นอกจากนี้ อย่าลืมว่า “โบนัส” ที่ได้รับจะต้องจ่ายภาษีเต็มจำนวน ดังนั้น การนำเงินโบนัสไปลงทุนในทางเลือกอื่นๆ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ เช่น ลงทุนใน LTF หรืออาจเติมเงินเพิ่มในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่ออนาคตทางการเงินในระยะยาว
เมื่อบริหารเงินโบนัสได้อย่างลงตัวแล้ว ก็ควรให้รางวัลกับตัวเองบ้างด้วยการแบ่งไปสังสรรค์เฮฮาบ้างตามความเหมาะสม ถ้าทำได้แบบนี้แล้วเชื่อได้เลยว่าเราจะเป็นคนที่รู้จักค่าของเงินและมี “วินัย” ทางด้านการเงินอย่างแน่นอน
ศิรัถยา อิศรภักดี (เฟิร์น)
นักจัดรายการ นักเขียน นักพูด
ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการลงทุน