พี่นอต : ตอนเด็ก ๆ ก็เรียนสายสามัญตามปกติ และเรียนปริญญาตรีที่มหิดล เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เอกเคมีเพราะว่าชอบเรียนเคมีมาก รู้สึกว่า เฮ้ย เป็นวิชาที่โอเคที่สุดแล้ว และในปัจจุบันก็ได้เป็นติวเตอร์วิชาเคมี เปิดสถาบันของตัวเองครับ ชื่อ Ascente' Academy และมีโอกาสได้ไปติวในโครงการของ Admissions School Tour ครับ
พี่อ๋อง : ในส่วนของพี่อ๋องเป็นคนที่เรียนในสายการศึกษามาตลอดเลย ตั้งแต่คณะครุศาสตร์ เอกประถมศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต แล้วก็ปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาจิตวิทยาการศึกษาค่ะ เพราะพี่เชื่อมั่นว่าการศึกษาที่ดีสามารถพัฒนาชีวิตของคนได้ค่ะ ตอนนี้เป็นคนคัดเลือกติวเตอร์ คือดูทักษะการสอนของเขา การสร้างความสนุกเพราะว่าต้องมีความเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ในตัวด้วยค่ะ
พี่ต้น : ตอนมัธยมก็เป็นเด็กกิจกรรมทั่ว ๆ ไป เรียนได้ทั้งคณิตฯ และวิทย์ เลยนำมาสู่การเรียนสายวิทย์-คณิตฯ ครับ เราค้นพบตัวเองแล้วว่าตัวเองอยากเรียนสายนิเทศฯ แต่ว่าเวลาเราเลือกคณะพ่อแม่ก็มาช่วยเลือกด้วยไม่ได้เลือกคนเดียว ก็คือคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลครับ และตอนนี้ก็เปิดกวดวิชากับพี่นอตนี่แหละครับ ถ้าเป็นม.ต้น สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ดาราศาสตร์สอนหมดเลย แต่ถ้าเป็นม.ปลาย สอนวิชาที่ผมถนัดสองตัวก็คือชีวิทยากับฟิสิกส์ และสอนด้วยในโครงการ Admissions School Tour ครับ
พี่นอต : ส่วนตัวเป็นคนชอบสอนครับ ชอบพูด ชอบอธิบาย เลยมาเป็นติวเตอร์ ตอนเด็ก ๆ เพื่อนมาขอลอกการบ้าน ไม่ให้เพื่อนลอก แต่อธิบายให้เพื่อนฟัง พยายามจะอธิบายว่า เฮ้ย ข้อนี้ทำแบบนี้นะ จนเพื่อนไม่ยอมขอลอกอีกเลย
พี่นอต : ในส่วนตัวนะครับคิดว่า คอนเซ็ปต์และเวลา เพราะว่าติวเตอร์จะมีเวลาจำกัดนิดหนึ่ง ดังนั้นเราเลยต้องอธิบายสิ่งที่ยาก ๆ ให้เข้าใจในระยะเวลาที่สั้นที่สุดและเร็วที่สุดครับผม อีกสักสองข้อก็คือเรื่องของการเอนเตอร์เทนและการปลุกไฟให้กับเด็ก ๆ ครับ เพราะว่าถ้าเราจุดไฟ ทำให้เด็ก ๆ มีพลังและรักในวิชานั้นได้ เขาอยู่กับผมแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่เวลาที่เขาอยู่กับตัวเอง เขาจะศึกษาเพิ่ม จะเรียนรู้เพิ่ม ผมว่าอันนี้น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ติวเตอร์น่าจะมีครับ
พี่ต้น : เริ่มต้นเราไปในฐานะของผู้ให้ครับ คืออยากจะให้น้องได้มาก ๆ อยากจะให้น้องได้เยอะ ๆ มันก็เลยกลายเป็นเราอัดเนื้อหาทั้งหมดให้กับเด็กไป ในจำนวนนั้นทำให้น้อง ๆ หลายคนเกิดความอึดอัดหรือตามไม่ทันหรือเกิดความเครียดครับ แต่ในระหว่างทางของกิจกรรมยังมีการปรับแต่งรูปแบบตลอดเวลา ตอนนี้ระบบที่เราเปลี่ยนใหม่มาค่อนข้างจะสนุกมากครับ ในสองปีที่ผ่านมาก็คือแบ่งเป็นฟัง พูด อ่าน และเขียน ใช้เวลาไม่ยาวจนเกินไป ตอนแรกเราพูดให้เขาฟังก่อน อันที่สองให้น้องเริ่มอ่าน ให้น้องเริ่มพูดติดต่อกับเราและที่สำคัญเลยก็คือพี่อ๋องนี่แหละครับที่ช่วยหาของมาช่วยแจกและเล่นเกมให้กับเรา
พี่ต้น : เวลาที่ออกไปโรงเรียนต่าง ๆ กัน ผมเห็นบรรยากาศหลากหลายมาก บางโรงเรียนเด็กมีใจคือแอคทีฟมาก บางโรงเรียนเด็กขี้อาย บางโรงเรียนเด็กสิ้นหวัง คือผมเจอเด็กมาแล้วทุกเคสทุกกรณี และทุกครั้งที่ไปก็ได้พี่อ๋องที่คอยเก็บข้อมูลต่าง ๆ ว่าครูต้องการอะไร
พี่อ๋อง : เรามีการเข้าไปพูดคุยกับอาจารย์และเด็ก ๆ ด้วย เพื่อที่จะเอาข้อมูลเหล่านี้ มาพัฒนาในส่วนของสื่อต่างๆ ที่ทรูปลูกปัญญาจะมอบให้ ทำให้มันเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาการศึกษาค่ะ
พี่อ๋อง : แน่นอนค่ะในเรื่องของความคาดหวังในเวลาที่เราลงไปทำกิจกรรม เรามีความตั้งใจเต็มร้อยว่าสื่อต่าง ๆ ที่ทรูปลูกปัญญาทำขึ้นไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น ช่องทรูปลูกปัญญา ทุกรายการเราคาดหวังว่าเด็กจะได้รู้จักเรามากขึ้น หลังจากนั้นพอเขามีความสุขสนุกสนานกับสื่อของเรา กลับไปบ้านเขาก็จะศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตนเองหรืออาจจะกลับเข้ามาก็ถือว่าเป็นความสำเร็จ
พี่ต้น : คล้ายระบบเดิมมากเลยนะ ถ้าเอาง่าย ๆ ก็คือเราแค่ย้ายเวลาหรือเลื่อนเวลาสอบเท่านั้นเอง เมื่อก่อนจะมีเดือนพฤศจิกายนและมีนาคม แต่นี่ย้ายไปเดือนมีนาคมทีเดียวเลย และพวกสอบรับตรงต่าง ๆ ที่เคยมีถูกย้ายไปหลังการสอบกลางหมดเลยแค่นั้นเองครับ
พี่นอต : สิ่งสำคัญเลยนะครับ น้องต้องระลึกไว้ว่า เฮ้ยเรามีสอบแค่รอบเดียว ดังนั้นถ้าเกิดว่าพังแล้ว พังเลย เพราะฉะนั้นพี่อยากให้ทุกคนมีสติ อยากให้เตรียมตัวมากที่สุด มีพลังเท่าไรทุ่มใส่ให้หมดนะครับ แล้วก็จะได้ผลดีทีเดียวพี่เชื่ออย่างนั้น
พี่นอต : ข้อดีก็คือการที่น้อง ๆ จะประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะว่าถ้าเป็นระบบเก่าจะมีการสอบรับตรงออกมาเปิดรับก่อนที่รับกลางร่วมกัน เพราะฉะนั้นเด็ก ๆ ก็ต้องไปสอบที่นี่ไปสอบที่นั่นซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และก็มีปัญหาการเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย อันนี้คิดว่าเป็นปัจจัยหลักเลยที่เขาเปลี่ยนมาเป็นระบบนี้ อีกข้อที่บางคนมองว่าเป็นข้อเสียแต่ว่าบางคนก็อาจจะมองว่าเป็นข้อดีก็คือการสอบครั้งเดียว เพราะว่าน้องอาจจะไม่มีโอกาสแก้ตัวแล้ว อันนี้ก็อาจจะเป็นจุดอ่อนของระบบนี้แต่ว่าเขาก็มีการแก้ไขนะครับ โดยการให้ยื่นคะแนนทั้งหมดสองรอบ ดังนั้นถ้าน้องยื่นรอบแรกแล้วไม่ได้ ก็อาจจะยื่นอีกรอบหนึ่งนะครับ
พี่นอต : เอาง่าย ๆ ยื่นใหม่อีกรอบหนึ่งครับ และถ้าสมมติยื่นใหม่อีกรอบหนึ่งอีก 4 อันดับแล้ว ก็ยังไม่ติดอีก ก็จะมีสอบตรงสอบรอบพิเศษหลังแอดมิชชั่นให้อีกหลายรอบเลย แต่ถ้าน้อง ๆ ไม่ได้มหาวิทยาลัยรัฐบาลจริง ๆ อันนี้พี่นอตขอบอกว่าไม่ต้องเสียใจนะครับเพราะว่ามันไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต มันไม่ใช่คำตอบ มันอาจจะเป็นแค่ใบเบิกทาง ทำให้น้องเริ่มต้นง่ายกว่าคนอื่นนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าน้องจะจบง่ายกว่าคนอื่น ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับตัวน้อง ไม่ว่าน้องอยู่ไหน น้องก็สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ครับ
พี่อ๋อง : ต้องมีจุดยืนเป็นของตัวเอง หาตัวเองให้เจอค่ะ อะไรที่คิดว่าใช่หรือไม่ใช่ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ หลังจากนั้นมาดูว่าคณะที่น้องสนใจเขาจะใช้วิชาอะไรบ้างในการสอบ น้องต้องอ่านหนังสือเป็นบท ๆ ไปเลยเพื่อเก็บคะแนนทำให้ได้มากที่สุดอันนี้เป็นสูตรสำเร็จที่พี่อ๋องสัมภาษณ์น้อง ๆ มาเขาก็สามารถที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยได้ค่ะ
พี่ต้น : ถ้าคณะที่คาดหวังเป็นคณะที่มีการแข่งขันสูง ๆ ก็ต้องบอกก่อนเลยว่าการเตรียมตัวตั้งแต่ม. 4 มันก็จะสะสมไปเรื่อย ๆ เพราะวิชาบางวิชาอย่างเช่น ภาษาอังกฤษ มันเก่งในปีเดียวยาก มันต้องสะสมคำศัพท์เยอะมาก ๆ เลยครับกว่าจะได้ตรงนั้น
พี่ต้น : มันเป็นเรื่องที่นั่งคิดกันไม่ได้ ต้องออกไปลองทำดูครับ พอออกไปลองทำปุ๊บนั่งจำเลยว่าอะไรก็ตามที่เราบอกว่าชอบมันจะหาได้ค่อนข้างยาก ให้มองสิ่งที่เราไม่ชอบดีกว่า เช่น ถ้าให้ผมออกไปจัดแสตนด์ ทำกิจกรรม ผมทำได้ทั้งวัน แต่ถ้าสมมติให้ผมร้อยพวงมาลัยยังไม่ถึงครึ่งพวงผมก็ทิ้งเข็มเลยครับเพราะว่าไม่เหมาะกับงานละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะฉะนั้นเอาความไม่ชอบนี้ไปดูว่า คณะไหนที่มีความไม่ชอบแบบนี้ เช่น ผมไม่ชอบวาดรูป กับไม่ชอบร้อยพวงมาลัย งานยิบ ๆ ย่อย ๆ ทันตแพทย์นี่ผมก็เป็นไม่ได้ละ เพราะงานเขาเป็นงานละเอียดครับ อันที่สองสถาปัตย์ก็คือไม่ต้องคุยเลยเพราะผมวาดรูปไม่สวยมันก็จะเป็นไปไม่ได้ เราก็จะตัดทิ้งจากสิ่งที่เราไม่ชอบ สุดท้ายมันจะเหลือคณะให้เราเลือกที่เป็นตัวเราจริง ๆ ไม่มาก และลองเช็คดูว่ามีอะไรที่คุณครูเรียกใช้แล้วเราทำโดดเด่นกว่าคนอื่น อันนั้นแหละครับคือจุดดี
พี่นอต : ถ้าขนาดถึงทางตันหรือเปล่าอันนี้ก็บอกเลยว่าน่าจะยังไม่ถึงทางตันแต่ว่าอาจจะต้องเกิดการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ เพราะว่ากระแสโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ก็มีให้สืบค้นมีให้เรียนรู้ได้ตลอดเวลาอยู่แล้วและที่สำคัญก็คือกลุ่มอาชีพครับ เพราะว่าในปัจจุบันมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก เขาประเมินกันว่าในแต่ละปีจะมีอาชีพเยอะขึ้นประมาณ 5,000 อาชีพเลย แล้วการศึกษาระบบเก่าของเรายังออกแบบหรือดีไซน์เด็กให้ออกมามีความรู้ มีสกิลคล้าย ๆ กันแล้วก็ซัพพอร์ตอยู่ไม่กี่กลุ่มอาชีพ ดังนั้นมองว่าถ้าเกิดว่าการศึกษาเราได้รับการปรับตัวอย่างครั้งใหญ่ ในเรื่องของหลักสูตรที่อาจจะต้องตัดทอนให้เล็กลงกระชับขึ้น และเรื่องของการวัดผลปลายทางคิดว่าไม่ถึงทางตันแน่นอนครับ
พี่ต้น : ส่วนตัวเลยนะครับ มันขึ้นอยู่กับเวลาที่เด็กมีหรือเวลาที่เด็กใช้ จริง ๆ ติวเตอร์คล้ายกับครูมากเลยนะครับคือเป็นการสรุปย่อยข้อมูลความรู้ต่าง ๆ แล้วยิงเข้าเป้าในเวลาจำกัด เพราะบางทีเด็กเขาเรียนมาแล้วไม่รู้จะไปโฟกัสตรงไหน ถามว่ามีความจำเป็นไหม สรุปขึ้นอยู่กับเด็กมากกว่าครับ ถ้าระบบตรงกลางมันดีปุ๊บเนี่ย ผมเชื่อว่าครูกับติวเตอร์ก็มีหน้าที่เดียวกัน
พี่อ๋อง : เตรียมพบกับ อ.ต้น และ อ.นอต ใน Facebook Live เพจ Plook Admissions ที่จะมาแนะนำน้อง ๆ สด ๆ ตั้งแต่เทคนิคการเตรียมตัว ติววันละแนว และการตอบคำถามช่วงระบายปัญหาแอดด้วยคอนเซ็ปต์พื้นที่เรียนไม่มีคำว่า "เครียด" Live สด ทุกวันจันทร์ เวลา 19.30 น. เริ่ม 22 พ.ค. นี้ แต่ละช่วงจะมีของรางวัลแจกเพียบค่ะ
พี่ต้น : อีกช่องทางหนึ่งก็คือการติวสดของเรากับ Admissions School Tour นะครับ น้อง ๆ 50 โรงเรียนเตรียมตัวเจอกันแน่นอน เพราะว่า ติวดี ติวฟรี มีของแจกก็ต้องเป็นทีมเรานี่แหละครับ
เรื่องและภาพ : กัลยาณี แนวเล็ก
ภาพประกอบ : อารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ