จุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้ามาสมัครโครงการนี้เกิดเป็นทีม คุณหมออ้อย เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาเทคนิควิจัยที่ชวนมาสมัคร ทางทีมจึงได้มีการเข้าไปดูรายละเอียดว่าเป็นโครงการแบบไหน และรวมทีมเพื่อนสี่คนที่สนใจเข้าแข่งขัน
จากโจทย์นวัตกรรมทางความคิดต่อยอดพืชเศรษฐกิจ ทางทีมได้มีการระดมความคิดกัน ซึ่งทุกคนก็เห็นตรงกันว่า “อ้อย” เป็นพืชเศรษฐกิจในการทำน้ำตาล จึงเลือกอ้อยมาทำเป็นนวัตกรรมในการประกวด โดยนำหัวข้อที่คิดกันไว้คร่าว ๆ มาศึกษาค้นคว้าจากงานวิจัยของต่างประเทศว่าสามารถนำไปทำอะไรได้อีกบ้าง ซึ่งงานวิจัยที่เป็นแรงบันดาลใจของงานชิ้นนี้ก็คือ การนำน้ำมะพร้าวมาผลิตเป็นแผ่นวุ้น ทำให้ทางทีมเกิดแนวคิดใช้น้ำอ้อยแทนน้ำมะพร้าวในด้านการแพทย์ เกิดเป็นไอเดียพลาสเตอร์ปิดแผลจากเซลลูโลสอ้อยนั่นเอง
ชื่อทีมคุณหมออ้อย กายเล่าว่า "ตอนแรกเรานั่งคิดชื่อ คิดยังไงก็คิดไม่ออก ทีแรกคิดชื่ออลังการมากแบบเกี่ยวกับศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ แต่พอมานั่งคิดดูดี ๆ เพื่อนก็พูดเล่นขึ้นมาว่า คุณหมออ้อยไหม เราก็เฮ้ยจะดีเหรอ ในที่สุดก็ตกลงเออชื่อนี้แหละได้ เพราะว่าตัวผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการแพทย์ แล้วตัววัตถุดิบก็ใช้อ้อยมาผลิต เลยใช้ชื่อทีมว่า คุณหมออ้อย"
กายตัวแทนทีมเล่าถึงเหตุผลและไอเดียว่า “คอนเซ็ปต์หลักคือต้องการช่วยเพิ่มมูลค่าพืชทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งอ้อยก็เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ และปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศเยอะ ถ้าเราสามารถผลิตเองได้ และมีคุณภาพใช้งานได้จริงก็จะสามารถลดการนำเข้า เพิ่มมูลค่าสินค้าและเศรษฐกิจของไทยได้ด้วย
ส่วนไอเดียแผ่นพลาสเตอร์ปิดแผลจากอ้อยมาจากการศึกษาผลงานวิจัยของต่างประเทศ และเห็นว่าในอ้อยจะมีส่วนที่เป็นน้ำอ้อยและชานอ้อย ตัวน้ำอ้อยสามารถนำมาผลิตเป็นวุ้นโครงสร้างหลักในการปิดแผล ส่วนชานอ้อยนำมาผลิตเป็นสารฆ่าเชื้อให้กับตัวแผ่นปิดแผลได้ เมื่อรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันทำให้เป็นการผลิตที่ไม่มีของเสีย (Zero Waste) เพราะปัจจุบันการลดของเสียจากการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรให้ความสำคัญ เช่น โรงงานน้ำตาลผลิตน้ำตาลจากอ้อย ของเสียจากการผลิตน้ำตาลคือชานอ้อย แต่เราสามารถนำชานอ้อยไปผลิตอย่างอื่นต่อได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและลดของเสียไปในตัว”
การตัดสินรอบแรกจะเป็นการเสนอไอเดียผลงาน 5 นาที เสนอรายละเอียดของผลงาน รวมทั้งบอกข้อดีของผลงาน ส่วนรอบสองทำสไลด์นำเสนอผลงาน โดยรอบนี้จะคัดเหลือ 12 ทีม เพื่อนำเสนออีกครั้ง คัดเหลือ 1 ใน 3 ซึ่งในที่สุดทีมคุณหมออ้อยก็ได้รับรางวัล "Mitr Phol Bio Innovator Awards 2016" เป็นรางวัลสำหรับคนที่คิดค้น Innovator ที่สามารถขายได้จริง เข้าใจเทคนิควิธีทางการตลาด การขาย
เมื่อได้ไอเดียแล้วก็ถึงขั้นตอนการทำงาน กายเล่าให้ฟังว่า “ในระยะเวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์ของการทำงาน โชคดีที่คนในทีมเคยทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยร่วมกันมาตั้งแต่ปีสามแล้ว พอได้มาทำงานร่วมกันแบบนี้งานที่ทำจึงเสร็จเร็ว โดยมีการแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจน กายเป็นคนเสนอแนวคิดเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ ไอซ์คอยวางแผนการตลาดการจัดการ เพชรมีความรู้เรื่องตัวยา ชนิดเคมีต่าง ๆ ก็จะเป็นรับผิดชอบในเรื่องนี้ และพีมีหน้าที่บรรยาย อธิบาย คิดคำสื่อสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้คนทั่วไปเข้าใจเวลาที่นำเสนอผลงาน"
"บรรยากาศตอนรับรางวัล วันนั้นทุกคนในทีมงงมาก ตอนขึ้นไปรับรางวัลหน้าตกใจเพราะคิดว่าทีมเราจะได้ที่ 3 พอประกาศที่ 3 แล้วไม่ใช่ทีมพวกเรา ก็คิดว่าพวกเรากลับบ้านกันเถอะ ตอนประกาศที่ 1 พิธีกรเขาใบ้ว่า เป็นทีมที่มีชื่อภาษาไทย เอ้ ก็มีอยู่หลายทีมนะ สักพักหนึ่งเขาก็บอกว่ามีอ.อ่าง ซึ่งจะมีอีกทีมหนึ่งชื่อว่า อรุณเบิกฟ้า ก็คิดว่าคงไม่ใช่ทีมเราแน่ แล้วพิธีกรก็ประกาศชื่อทีมผม ทุกคนแบบ ห๊ะ ! ทีมเรา ๆ รู้สึกตื่นเต้นสุด ๆ ตอนเดินขึ้นไปรับรางวัลเราก็ทำหน้างงใส่กัน พิธีกรเลยบอกว่า หนู ๆ ได้ที่ 1 นะลูก ดีใจหน่อย (หัวเราะ)" กายเล่าบรรยากาศในวันประกาศผล
เรื่อง : วรรณวิสา สุภีโส