พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทาง การดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชารัฐ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทาง การดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชารัฐ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการพัฒนาผู้นำให้สัมฤทธิ์ผล ซึ่งถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเริ่มจากโรงเรียนต้นแบบในทุกตำบล รวมทั้งสิ้น ๗,๔๒๔ โรงเรียน โดยทางภาครัฐและภาคเอกชน ได้ดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนที่เข้าหลักเกณฑ์ เพื่อนำร่องเป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนประชารัฐ จำนวน ๓,๓๔๔ โรงเรียน ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่การศึกษา ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนประชารัฐ เป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำได้วางไว้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จึงได้ร่วมกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการโรงเรียนประชารัฐ ระหว่างวันที่ 2-4 พฤษภาคม 2559 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี รมช.ศธ. กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชารัฐให้กับผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐ ในระยะที่ 1 จำนวน 3,342 คน และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนประชารัฐ ในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 225 คน ให้มีความรู้ความเข้าใจถึงการบริหารมีแนวทางในการวางแผนการปฏิบัติงานสู่การปฏิบัติในโรงเรียน รวมถึงสามารถบริหารงานโครงการโรงเรียนประชารัฐแบบมีส่วนร่วมได้ ซึ่งมีกิจกรรมการนำเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนโครงการประชารัฐ โดยคณะทำงานกลุ่มย่อยทั้ง 5 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับคุณภาพทางการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถานศึกษาและการเปิดเผยข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาล
กลุ่มที่ 2 การพัฒนาหลักสูตรต้นแบบกระบวนการเรียนรู้ การประเมินผลกิจกรรมส่งเสริมด้านคุณธรรม จิตสาธารณะ และด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ
กลุ่มที่ 3 การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ครู และการมีส่วนร่วมของชุมชน
กลุ่มที่ 4 การพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ การสร้างแรงจูงใจให้กับบุคคลธรรมดา/นิติบุคคล สนับสนุนการพัฒนาการศึกษาของชาติ
กลุ่มที่ 5 การพัฒนาความเป็นเลิศในด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคตและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภาค
โครงการโรงเรียนประชารัฐจึงเป็นโครงการที่ทั้ง 3 ภาคส่วนได้มาร่วมมือกันขับเคลื่อนซึ่งกำหนดเป้าหมายให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการศึกษาที่ใช้กลไกลจากประชารัฐร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มคุณภาพคน และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมโยง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทำให้แต่ละฝ่ายเข้าใจความต้องการซึ่งกันและกันมากขึ้น นับว่าเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ อันจะส่งผลให้การดำเนินโครงการโรงเรียนประชารัฐ บรรลุผลตามวัตถุประสงค์นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป