จากนโยบายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นการรวมพลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
กระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษาของประเทศ จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินโครงการโรงเรียนประชารัฐ พร้อมทั้งจัดทำบันทึกข้อตกลงสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ โดยได้รับความร่วมมือของภาครัฐระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคเอกชนอีก 22 หน่วยงาน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมขับเคลื่อนและยกระดับการศึกษาของประเทศ และแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา ขณะเดียวกันปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขให้ครอบคลุม คือ หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ การผลิตและพัฒนาครู การผลิตและพัฒนากำลังคนและงานวิจัย การบริหารจัดการ การประเมินและพัฒนามาตรฐานการศึกษา และ ICT เพื่อการศึกษา
อีกทั้ง บันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีความเห็นและข้อกำหนดร่วมกันในด้านการพัฒนาและยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะความเป็นผู้นำในการบริหารสถานศึกษา ทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรม และสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา ซึ่งสามารถเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศของสถานศึกษาตามหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบ ICT เพื่อการศึกษาและการบริหารจัดการสื่อ พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน (Active Learning, Critical Thinking) จัดทำคู่มือการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่เน้นพัฒนาจิตสาธารณะการบริการชุมชนและสังคม รวมถึงการยกระดับความสามารถด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาสู่ระดับนานาชาติ โดยมีระยะเวลาดำเนินงานตามโครงการแรก ๓ ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๙ สิ้นสุดเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ ซึ่งมีจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐตำบลละ 1 โรงเรียน จากทั่วประเทศ 7,424 โรงเรียน ขณะที่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมได้ร่วมกันคัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้ารับการพัฒนาในระยะแรก จำนวน 3,322 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 3,093 โรงเรียน โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา 184 โรงเรียน โรงเรียนในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 31 โรงเรียน และโรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 14 โรงเรียน และจะดำเนินการพัฒนาโรงเรียนอื่นๆ จนครบทั้งหมด 7,424 โรงเรียน เพื่อให้การดำเนินงานยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานภายใต้การทำงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สัมฤทธิ์ผลอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป