Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วัสดุการแพทย์

Posted By Plookpedia | 28 เม.ย. 60
28,026 Views

  Favorite

วัสดุการแพทย์

      เมื่อเราไม่สบายเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยคนที่เรามักนึกถึงเป็นอันดับแรกคือ หมอ เราไปพบหมอเพื่อที่จะให้ตรวจร่างกายเพื่อค้นหาถึงสาเหตุหรือสิ่งที่ทำให้เราเกิดการเจ็บป่วยและเมื่อพบสาเหตุนั้นแล้วก็ทำการรักษาเพื่อให้เราสามารถกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงดังเดิม  ในการตรวจรักษานั้นเรามักจะคิดว่ายารักษาโรคเป็นสิ่งเดียวที่หมอใช้ในการรักษาแต่หากเราคิดให้ดีเราจะรู้ว่าหมอยังต้องมีเครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วยในการทำงาน เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างสะดวกปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
      หากเราเกิดอุบัติเหตุจนทำให้กระดูกหักขึ้นมาแทนที่หมอจะให้เรารับประทานยารักษากระดูกหัก หมอก็จะทำการจัดกระดูกที่หักให้อยู่ในตำแหน่งและลักษณะที่ถูกต้องจากนั้นก็จะใช้เฝือกซึ่งทำจากปูนปลาสเตอร์หุ้มรอบบริเวณนั้นเพื่อให้กระดูกที่หักนั้นไม่ขยับหรือเคลื่อนที่ไปมาเป็นวิธีการที่ช่วยให้กระดูกสามารถเชื่อมติดกันเองได้

 

วัสดุการแพทย์

 

      เมื่อเราไม่ยอมแปรงฟันหรือไม่ยอมรักษาความสะอาดของฟันทำให้เศษอาหารต่าง ๆ ที่รับประทานเข้าไปติดสะสมอยู่ตามซอกฟันต่าง ๆ จนทำให้ฟันผุ หมอก็ไม่ได้ให้ยามารับประทานเพื่อรักษา แต่จะรักษาโดยการกรอเอาส่วนที่ผุบนฟันเหล่านั้นออกแล้วอุดด้วยวัสดุอุดฟัน เพื่อทดแทนส่วนของฟันที่ถูกทำลายไปทำให้เรากลับมารับประทานอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อยเหมือนเดิม

 

วัสดุการแพทย์

 

ผ้าก๊อต

 

การเข้าเฝือก

      ถ้าเราสายตาสั้นไม่สามารถมองสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนโดยทั่วไปหมอมักจะแนะนำให้ใส่แว่นสายตาเพื่อแก้ไขความผิดปกติทางสายตาดังกล่าว แต่บางคนอาจจะยังกังวลเรื่องความสวยงาม และต้องการความสะดวกสบายก็อาจจะเลือกใช้เลนส์สัมผัสหรือที่เรียกกันว่า คอนแทกเลนส์ แทนแว่นสายตาโดยใส่ลงไปบนนัยน์ตาเพื่อช่วยแก้ไขความผิดปกติของสายตาเราได้ซึ่งถ้าไม่สังเกตให้ดีก็อาจไม่ทราบว่าเป็นคนสายตาสั้น

เด็กอ่านหนังสือ

 

      ทั้งเฝือก วัสดุอุดฟัน และเลนส์สัมผัส ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของวัสดุการแพทย์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันที่แสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้งานวัสดุต่าง ๆ สำหรับการรักษาโรคและแก้ไขความบกพร่องของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีวัสดุและอุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย นอกเหนือจากยารักษาโรคที่หมอใช้ช่วยในการตรวจและรักษา ไม่ว่าจะเป็นดั้งจมูกเทียม นิ้วเทียม ขาเทียม หากเราลองสังเกตเราจะพบว่ามีการนำวัสดุประเภทต่าง ๆ มากมาย มาใช้งานทางการแพทย์ได้อย่างน่าสนใจและน่าอัศจรรย์  

 

 

 

      มนุษย์รู้จักการนำวัสดุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุตามธรรมชาติหรือวัสดุที่สังเคราะห์ขึ้นมาช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตประจำวันของเรา โดยจะเห็นได้ว่าอารยธรรมของมนุษย์ตั้งแต่ยุคสมัยโบราณเป็นต้นมามีการนำวัสดุต่าง ๆ มาใช้งานและได้พัฒนามาเป็นลำดับในแต่ละยุคชื่อของยุคสมัยต่าง ๆ ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ก็มีการนำเอาประเภทของวัสดุที่มีประโยชน์ใช้สอยอย่างกว้างขวางในสมัยนั้นมาตั้งเป็นชื่อยุคไม่ว่าจะเป็นยุคหิน (Stone Age) ยุคสำริด (Bronze Age) และยุคเหล็ก (Iron Age) ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคของซิลิคอน (Silicon Age) ซึ่งเป็นวัสดุ ที่นำมาใช้กับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศกันอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้  นอกจากความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตแล้วสิ่งที่มนุษย์เราแสวงหาและต้องการอีกอย่างหนึ่งคือการปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ในกรณีนี้ได้มีการประยุกต์ใช้ประโยชน์ของวัสดุประเภทต่า งๆ ในการช่วยตรวจและรักษาความเจ็บป่วยของคนเราอีกด้วยโดยอาจเป็นการใช้งานเพื่อช่วยในการรักษาเสริมสร้าง หรือทดแทนเนื้อเยื่อ อวัยวะ หรือระบบการทำงานของร่างกายที่เสียหาย ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือเสื่อมสภาพไปตามวัย จากการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าในอดีต ชาวโรมัน ชาวอียิปต์ ชาวอินคา และชาวจีน มีการใช้วัสดุประเภทต่าง ๆ ที่สามารถหาได้ในสมัยนั้น เช่น ทองคำ แก้ว ไม้ มาประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนอวัยวะเทียมเพื่อประโยชน์ในการรักษา ทางการแพทย์ เช่น ฟันปลอม ลูกนัยน์ตาปลอม ขาเทียม

 

นิ้วเท้าเทียม
นิ้วเท้าเทียมที่ทำจากไม้ ซึ่งพบในซากศพมนุษย์ในยุคโบราณ

 

เครื่องกระตุ้นหัวใจ ๑ ห้อง
เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบ ๑ ห้อง ซึ่งสามารถควบคุมได้ครั้งละ ๑ ห้องหัวใจ

 

เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบ ๒ ห้อง
เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบ ๒ ห้อง ซึ่งสามารถควบคุมได้ครั้งละ ๒ ห้องหัวใจ

 

      วัสดุทางการแพทย์ต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นวัสดุสังเคราะห์กึ่งสังเคราะห์หรือวัสดุธรรมชาติ เช่น คอมโพสิต พอลิเมอร์ เซรามิก และโลหะหรือวัสดุที่มีชีวิต เช่น เซลล์ สามารถที่จะนำมาใช้งานทางการแพทย์ได้ แต่วัสดุเหล่านั้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อหรือเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ทำให้เกิดการระคายเคือง อาการแพ้ การติดเชื้อ ความเป็นพิษ ก่อให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง นอกจากนี้ตัววัสดุเองก็จะต้องไม่เสื่อมสภาพหรือกัดกร่อนเนื่องจากการใช้งานและสามารถทำการฆ่าเชื้อได้  ดังนั้นก่อนที่จะนำวัสดุประเภทใดประเภทหนึ่งมาใช้งานทางการแพทย์ได้จะต้องผ่านขั้นตอนการทดลองและทดสอบต่าง ๆ และมักใช้ระยะเวลายาวนาน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเมื่อนำมาใช้งานแล้วจะมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

      ในการนำวัสดุการแพทย์มาใช้งานนั้นอาจใช้ตัววัสดุเองในการทำหน้าที่ต่าง ๆ หรืออาจใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่จะนำไปใช้งานทางการแพทย์อีกต่อหนึ่งก็ได้ซึ่งถ้าหากเรามองไปรอบตัวแล้วก็จะพบเห็นการใช้งานของวัสดุการแพทย์ต่าง ๆ มากมาย โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน ได้แก่

  • ใช้ในการทดแทนส่วนของร่างกายที่เสียหาย เช่น ข้อเทียม หมอนรองกระดูกสันหลังเทียม เครื่องล้างไตเทียม
  • ช่วยในการรักษาการบาดเจ็บของร่างกาย เช่น ไหมเย็บแผลสำหรับยึดติดเนื้อเยื่อที่ฉีกขาด เฝือก แผ่นดามกระดูก และสกรูดามกระดูกสำหรับยึดในบริเวณที่เกิดการแตกหักของกระดูก
  • ปรับปรุงแก้ไขการทำงานของร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจสำหรับควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นไปตามปกติ เลนส์สัมผัสที่ใช้แก้ไขความผิดปกติของสายตา
  • เพื่อเพิ่มความสวยงาม เช่น เต้านมเทียม คางเทียม หรือดั้งจมูกเทียม
  • ช่วยในการวิเคราะห์โรคและการรักษา เช่น สายสวน สายล้าง และท่อยางต่าง ๆ
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow